บุญย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ มือการตลาดแห่ง “บาร์บีคิวพลาซ่า”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องบอกว่า “บาร์บีคิวพลาซ่า” ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง จากร้านอาหารปิ้งย่างที่เป็นธุรกิจครอบครัว สู่การบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 2 “ชาตยา สุพรรณพงศ์” ที่ทำการพลิกฟื้นให้แบรนด์มีสีสันขึ้นมาอย่างชัดเจน

ล่าสุดได้มีการรีแบรนด์จากบริษัท บาร์บีคิวพลาซ่า สู่บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจที่จะขยายแบรนด์ร้านอาหารไปยังเซ็กเมนต์อื่น

ทั้งนี้ได้มือดีทางการตลาดมาช่วยในการปลุกปั้นแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่าอีกครั้ง โดย “บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์” ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

เรามาทำความรู้จักกับบุณย์ญานุช หรือ บุ๋ม กันให้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารคนนอกครอบครัวคนแรกที่เข้ามาอยู่ในบาร์บีคิวพลาซ่า

เด็กโฆษณาที่เริ่มต้นจากการทำงานเอเจนซี่

“เราจบจากนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เอกโฆษณา จบปริญญาตรี ไม่ได้เรียนต่อปริญญาโท ตอนนั้นก็ไม่ใช่เด็กเรียน แต่เป็นเด็กกิจกรรม เป็นเด็กซ่าส์นิดนึง ไม่ใช่เด็กเรียบร้อย สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก ม.กรุงเทพ คือ ทำให้เราเข้าใจชีวิตจริง ต้องดูแลตัวเอง ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง ด้วยความที่อยู่กับเพื่อนที่หลากหลายทำให้เราเข้าใจคนหลากหลายแบบด้วย

ตอนนั้นพอเรียนจบก็เริ่มทำงานที่เอเจนซี่ จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือตอนเรียนจะมีวิชาสัมมนา โจทย์ก็คือให้ไปเชิญคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาเป็นแขกรับเชิญ เป็นจุดเปลี่ยนของเราในการทำคอนเทนต์ตรงนี้ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีความสามารถตรงนี้ ตอนนั้นเราไปรู้จักพี่คนหนึ่งชื่อ “พี่โต้ง รังสรรค์ รัตนนิตย์” เขาเป็นเฮด PR ของลีโอ เบอร์เนทท์ เราก็เชิญเขามาเป็นแขกรับเชิญ เขาก็ถามว่าทำไมเขาต้องไป เราก็ตอบไปว่า ถ้าพี่ไม่มาพี่จะทำให้เด็กอีก 15 คนเรียนไม่จบ เขาก็มองว่าเด็กคนนี้กล้าพูดดีเนอะ พอสัมมนาจบเขาก็บอกว่าถ้าเรียนจบโทรหาพี่เลยนะ…”

เรียนรู้จากกระดาษรีไซเคิล!

“พอจบมาแล้วก็มาทำงานในลีโอ เบอร์เนทท์จริงๆ ตอนนั้นดูพวกอีเวนต์ เป็นเด็กประสานงาน หัวหน้าจะชอบสั่งให้ไปถ่ายเอกสาร เขาชอบใช้กระดาษรีไซเคิลกัน เราก็หยิบกระดาษรีไซเคิลมาอ่าน ก็จะมีพวกกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะนำไปพรีเซนต์ของพวกพี่ๆ เขา เราก็เก็บกลับบ้านเอาไปอ่านว่าเขาทำอะไรกัน แล้วจดใส่รวมๆ แล้วก็จะมีสตอรี่บอร์ดของครีเอทีฟ ก็ศึกษาว่าเขาทำอะไรกัน ถามพี่ที่รู้จัก มันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราสะสมความรู้ มันอยู่ที่กระดาษรีไซเคิล

จากลีโอ เบอร์เนทท์ก็ไปทำที่แมคแคน เริ่มไปทำ AE แต่พอทำได้ 9 เดือนแล้วไปเจอแอคเคาท์ โกลบอล เรารู้ว่าเราไม่ชอบ เหมือนมันมีแพลตฟอร์มของมัน เรารู้ว่าทำแล้วมันอึดอัด จากนั้นก็ไปทำเอสซี แมทช์บอกซ์ ในเครือชินวัตรที่ทำโทรศัพท์มือถือ เราก็ไปทำโฆษณาให้ ยุคนั้นเป็นจีเอสเอ็ม วันทูคอล ยุคโทรคมนาคมรุ่งเรืองมาก ได้เรียนรู้การทำโฆษณาอย่างจริงจัง ทำอยู่ได้ 2 ปี และก็ไปอยู่ DY&R ตอนนั้นเราบอกกับตัวเองว่าถ้าจะออกจากเอเจนซี่ก็ต่อเมื่อตัวเองเป็น Account Director แล้ว ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งสุดท้ายตอนอยู่ TBWA ก็คือตำแหน่งนั้นแล้ว”

เริ่มเข้าสู่ถนนสายการตลาด

“โรงเรียนแรกของสายการตลาดคือ KTC เป็น Consumer Finance ตอนนั้นเราได้ใช้สกิลของโฆษณามาใส่ในการตลาดด้วย เพราะ KTC เป็นองค์กรที่หวือหวามาก เป็นองค์กรที่มีส่วนทำให้เป็นเราทุกวันนี้ ทำให้เราคิด มองต่าง ตั้งคำถาม ทำได้ 7 ปี

จากนั้นก็มีโอกาสได้คุยกับ “คุณเป้ ชาตยา สุพรรณพงศ์” ทายาทรุ่น 2 ของบาร์บีคิวพลาซ่า ตอนนั้นเขาได้รับมอบหมายจากรุ่นคุณพ่อแล้ว ตอนนั้นที่มีโอกาสได้คุยเพราะเขาเป็นเพื่อนของเพื่อนเรา และเขาหาคนที่การตลาดอยู่ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ทำมา 2 ปีกว่าแล้ว แบรนด์มันเปลี่ยนไปเยอะมากทั้งภายนอก และภายในที่มีการรีออแกไนซ์ เราเป็นคนนอกคนแรกที่เขาจ้างเข้ามาเป็นไดเร็กเตอร์ จากสมัยก่อนจะเป็นธุรกิจครอบครัว”

1_barbq

“ทำให้เก๋” โจทย์แรกของบาร์บีคิวพลาซ่า

“จำได้เลยว่าโจทย์แรกที่ได้ตอนเข้ามาทำงาน คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้บาร์บีคิวพลาซ่าเก๋ขึ้นภายใน 6 เดือน ตอนแรกตอบไปว่าตอนนี้คิดไม่ออก แต่คิดว่าทำได้ ตอนนั้นอยากให้แบรนด์ดูวัยรุ่นขึ้น เพราะถ้าแบรนด์เป็นแบบเดิม ก็จับได้แต่กลุ่มเดิมๆ เราก็เลยรีแบรนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรีดีไซน์ตัวบาร์บีก้อนก่อน เราก็มานั่งคิดว่าถ้าจะทำให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว ต้องมีการใช้พรีเซ็นเตอร์มาช่วย เลยเลือกใช้ “เต๋อ ฉันทวิชช์” แคมเปญแรกก็คือ ซ่ากว่าเต๋อ ชวนลูกค้าให้มาถ่ายรูปมีโจทย์ให้ลูกค้าถ่ายรูปว่าน่ารักกว่าเต๋อ ซ่ากว่าเต๋อ ให้ลูกค้าเอ็นเกจเมนต์กับแบรนด์

จากแบรนด์เก๋ต้องสร้างแบรนด์

“หลังจากนั้นก็มีแคมเปญอื่นๆ เช่น ยกก้อนเหล็ก ล่าไข่บาร์บีก้อน และรีฟิว แต่ละแคมเปญมันมีความครีเอทีฟอยู่ จนพอแบรนด์เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วก็เลยมาคิดว่าถึงเวลาต้องสร้างแบรนด์แล้ว ก็เลยเป็นแคมเปญทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด คิดง่ายๆ แค่ว่าชวนลูกค้ามากินอาหารทำปัจจุบันให้ดีที่สุด จนมาปี 2 เป็น Waiter Mom โจทย์คือต้องการตอกย้ำว่าทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด พอคุยกับเอเจนซี่แล้วก็มองว่า ถ้าทำให้แจ๋วจริงต้องทำจากภายในองค์กร เพราะสุดท้ายแล้วพนักงานเป็นตัวแทนของบริษัท ซึ่งผลตอบรับก็เกินคาดแบบถล่มทลายมาก”

สร้างแบรนด์เลิฟ คือสเต็ปต่อไป

“จริงๆ แล้วโจทย์ลึกๆ ในวันนี้ก็คือ อยากสร้างแบรนด์เลิฟในใจผู้บริโภค เป็นเป้าที่เราต้องการ ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำได้มากแค่ไหน เราก็อยากเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์หนึ่งที่คนเอ็นเกจกับมันมากๆ การสร้างแบรนด์เลิฟก็เหมือนกับคนคนหนึ่งที่วันนี้มีคนรักเขามากๆ เมื่อเขาล้มก็จะมีคนช่วยเขา บาร์บีก้อนก็เป็นตัวแทนหนึ่งของแบรนด์ที่คนรักเขา เราสร้างให้เขามีตัวตน ทำให้เขาเป็นเพื่อนกับลูกค้า สุดท้ายคนอยากเป็นเพื่อนกับบาร์บีก้อนมากกว่าโลโก้บาร์บีคิวพลาซ่า”

ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ในพจนานุกรมของ “บุณย์ญานุช”

“คติประจำใจของเราก็คือ ไม่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ เชื่อว่าทำได้ทุกอย่าง แรงบันดาลใจของเราที่สนใจในช่วงนี้ คือ การบริหารที่มีเรื่องพระพุทธศาสนามาช่วย บุคคลที่เราตามๆ อยู่ก็คือ “ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ” แกไม่ใช่นักการตลาด แต่มีความคิดเรื่องการบริหาร เราก็เอามาประยุกต์กับการทำงานในการเชื่อมคน ส่วนอีกคนหนึ่งคือ “พระไพศาล วิสาโล” และคนสุดท้ายคือ “หนุ่มเมืองจันท์” เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจได้เยอะมาก

2_barbq

b_new