ในที่สุด ทรูก็สามารถคว้ารายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ หรือ English Premier League กลับมาอยู่ในอ้อมอกอีกครั้ง หลังจากที่เคยหลุดไปให้กับ CTH ของวิชัย ทองแตง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว 3 ฤดูกาล 2013-2014/2015-2016
แต่การกลับมาของ EPL ในมือทรูในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับที่ผ่านมา ทั้งสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และข้อตกลงลิขสิทธิ์ระหว่างทรู และบีอิน สปอร์ต
ข้อแรก – ทรูไม่ได้ประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด EPL มาได้เองโดยตรง แต่เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ต่อจาก “บีอิน สปอร์ต” สถานีกีฬาในเครืออัลจาซีรา ที่ชนะประมูล เฉือนคู่แข่งทั้งซีทีเอช ทรูวิชั่นส์ และฟ็อกซ์ คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสด EPL ในเมืองไทยมาได้ 3 ฤดูกาล ปี 2016-2019 ด้วยวงเงินรวม 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10,500 ล้านบาท ต่ำกว่าสมัยซีทีเอชเคยคว้ามาในราคา 350 ล้านเหรียญ
เมื่อซื้อลิขสิทธิ์ต่อมาอีกที ทรูย่อมต้องจ่ายให้กับบีอินในราคาที่สูงกว่าที่บีอินประมูลมา ซึ่งเป็นต้นทุนสูงกว่าในอดีตที่ทรูเคยประมูลได้มา และการเจรจาระหว่างทรูและบีอินใช้เวลาค่อนข้างนาน เพิ่งมาสรุปได้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนี้เอง เนื่องจากมีรายละเอียดทั้งเรื่องของแพลตฟอร์มที่จะออกอากาศ และรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลอื่นๆ
นอกจากการได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด EPL ครบ 380 แมตช์แล้ว ทรูยังได้พ่วงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ ของบีอินตามมาด้วย เช่น ลาลีกา สเปน ลีก, กัลโช เซเรีย อา อิลตาลี, ลีกเอิง ฝรั่งเศส, เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ สหรัฐอเมริกา และฟุตบอลระดับถ้วย อย่าง ยูฟา แชมเปียนส์ลีก และรายการรดับสโมสร ยูฟา ยูโรปา ลีก และรายการะดับสโมสรยุโรป ยูฟา ซูเปอร์
ส่งผลให้การจัดแพ็กเกจรายการกีฬาฟุตบอลที่ทรูนำมาจัดแพ็กขายไม่ได้ชูเรื่องของ EPL เท่านั้น แต่นำเรื่องของการได้ 6 ลีกดัง และ 5 ถ้วยยักษ์ รวมทั้งไทยพรีเมียร์ลีก ที่ทรูได้ลิขสิทธิ์มาด้วย รวมแล้ว 1,500 แมตช์ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
ที่สำคัญ ทรูได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด EPL และรายการฟุตบอลต่างๆ ที่เป็น Exclusive เพียงรายเดียวจากบีอิน คือ การออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มมือถือ และอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ส่วนบนเพย์ทีวีนั้นทรูไม่ได้ Exclusive รายเดียว นั่นหมายความว่าหากมีเพย์ทีวีรายอื่นๆ ก็สามารถขอลิขสิทธิ์จากบีอินเพิ่มขึ้นได้ แต่บังเอิญว่าทรูเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในเวลานี้ เนื่องจากซีทีเอช เพย์ทีวีอีกราย ประกาศปิดฉากธุรกิจ ด้วยการยุติการให้บริการแก่ลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป
การถ่ายทอดสด EPL และรายการกีฬาต่างๆ บนบริการเพย์ทีวีของทรู จะดูผ่านช่อง “บีอิน สปอร์ต” ที่ทรูนำมาออกอากาศอีกที ตามข้อตกลงทรูที่ทำไว้กับบีอิน ทรูจะต้องปรับผังรายการใหม่ โดยบีอินจะยกลิก “บีอิน สปอร์ตช่อง 1” และเพิ่มช่องบีอิน สปอร์ต 3 และ 4 อีก 2 ช่อง เพื่อรองรับรายการถ่ายทอดสดกีฬาเหล่านี้โดยเฉพาะ
การออกแพ็กเกจ “ทรู ซูเปอร์ ซอคเกอร์” รอบนี้ ทรูมุ่งเน้นเรื่องความหลากหลายของแพ็กเกจ เพื่อรองรับพฤติกรรมคนดูสื่อหลายแพลตฟอร์ม และทรูเองก็ประเมินด้วยเครือข่ายที่มีครอบคลุมทั้งทรูออนไลน์ บรอดแบนด์ จะครอบคลุมพื้นที่ 10 ล้านครัวเรือน ทรูวิชั่นส์ เพย์ทีวี เข้าถึง 3.3 ล้านครัวเรือน ทรูประเมินแล้วว่า จากฐานลูกค้ารวมกันทุกแพลตฟอร์ม (มือถือ+อินเทอร์เน็ต+ทรูวิชั่นส์) ไม่น้อยกว่า 29 ล้านราย จะเป็นโอกาสของธุรกิจใน3 ฤดูกาลที่จะมาถึง โดยเฉพาะฐานลูกค้ามือถือ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ
แพ็กเกจที่เป็นตัวชูโรงของทรูรอบนี้ กลับไม่ใช่ “เพย์ทีวี” เหมือนในอดีต แต่เป็นแพ็กเกจให้ลูกค้ามือถือทรูมูฟ เอช ดูผ่านแอปพลิเคชัน True ID จ่ายเพิ่มเดือนละ 29 บาท
หากเปรียบเทียบฐานลูกค้าระหว่าง “เพย์ทีวี” และ ”มือถือ” นั้นแตกต่างกันอย่างลิบลับ ลูกค้าเพย์ทีวีมีจำกัดกว่ามาก และโอกาสเติบโตไม่มาก เรียกว่าอยู่ในภาวะที่ตลาดอิ่มตัว ในขณะที่ฐานลูกค้าของมือถือมีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าตัว โอกาสในการขยายตัวสูงกว่า หากมีคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กอย่าง EPL มาช่วยเพิ่มความต้องการ
ทรู จึงนำคอนเทนต์ “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” และรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลรายการต่างๆ เหล่านี้ มาออกมาออกอากาศบนมือถือในราคาที่ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงภาพความพร้อมของโครงข่าย 4G จากการมีคลื่นความถี่ในมือมากที่สุด เพราะทรูมูฟ เอช เองก็อยู่ในช่วงที่ต้องเดินหน้าแย่งชิงฐานลูกค้า และความเป็นเบอร์ 1 จากคู่แข่งอีก 2 ราย
นอกจากนี้ หากเป็นลูกค้าใหม่นั้น จะต้องเปิดเบอร์ทรูมูฟ เอช พร้อมซื้อแพ็กเกจ 390 บาท จะได้รับกล่องทรู ดิจิตอล เอชดี (ซึ่งเป็นกล่องขายขาด) เท่ากับว่าทรูจะสามารถหารายได้จากค่าสมาชิก ควบคู่ไปกับการเพิ่มยอดลูกค้าซิมใหม่ของทรูมูฟ เอชในคราวเดียวกัน เพราะแม้จะแจกกล่องฟรี แต่ลูกค้าก็ต้องเสียค่าแพ็กเกจ และต้องเปิดเบอร์ทรูมูฟ เอช จึงจะดูได้
ส่วนลูกค้าที่มีกล่องทรูวิชั่นส์อยู่แล้ว หากต้องการดูจะต้องจ่ายค่าสมาชิกเพิ่ม199 บาทต่อเดือน
แม้แต่สมาชิกทรูวิชั่นส์ แพลทินัม จะได้รับชมฟรีได้แค่ 1 ฤดูกาล ตั้งแต่สิงหาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2560 หากต้องการฤดูกาลที่เหลือ 2 และ 3 ก็ต้องจ่ายเพิ่ม
ส่วนสมาชิกแพ็กเกจโกลด์ ไม่ได้ดูฟรีเหมือนอย่างที่ผ่านมา จะต้องซื้อแพ็กเกจเสริม 299 บาทต่อเดือน ส่วนลูกค้าที่ดูผ่านกล่องดิจิตอล เอชดี (แบบขายขาด) ต้องจ่ายเพิ่มเดือนละ 399 บาท
การออกแพ็กเกจของทรู จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทีเดียว เพราะแม้จะมีทางเลือกให้ดูหลายแพลตฟอร์ม แต่ต้องเก็บค่าสมาชิกกันแบบทุกแพลตฟอร์ม สมาชิกทรูวิชั่นส์ที่เคยได้ดูฟรี เช่น แพ็กเกจโกลด์ ที่แต่เดิมเคยดู EPL ได้ฟรี กลับต้องจ่ายแพ็กเกจเสริม ส่วนแพลทินัมเอง ก็ดูฟรีได้แค่ฤดูกาลเดียว หลังจากนั้น หากอยากดูต่อก็ต้องจ่ายแพ็กเกจ 299 บาทต่อเดือน
ผู้บริหารทรูบอกว่าเงื่อนไขเหล่านี้ ถูกกำหนดโดย “บีอิน” เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ยอมให้สมาชิกทรูวิชั่นส์ดู EPL ได้ฟรีต้องเป็นแพ็กเกจแพลทินัม และดูได้แค่ฤดูกาลเดียวเท่านั้น
PPTV ใช้ลิขสิทธิ์ฟรีทีวีเข้าสู้
นอกจากนี้ ทางด้านช่อง “พีพีทีวี” เองก็หวังว่า นี่คือโอกาสสำหรับ “พีพีทีวี“ ซึ่งเป็นฟรีทีวีรายเดียวที่ได้ยอมทุ่มเงินนับพันล้านบาทเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์จากบีอิน สปอร์ตในการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ฤดูกาล ปี 2016-2019 จำนวน 26 แมตช์ และอีก 3 ลีกดัง บุนเดสลีกา เยอรมัน, กัลโช เซเรีย อา อิตาลี, ลา ลีกา สเปน และฟุตบอลถ้วย 2 รายการ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก, ยูฟา แชมเปียนส์ คัพ
พีพีทีวีหวังว่ารายการเหล่านี้จะช่วยสร้างเรตติ้ง และแบรนดิ้งในการสู้ศึก “ทีวีดิจิตอล” ซึ่งพีพีทีวีมีการอัดฉีดคอนเทนต์ด้านกีฬา หวังจะเป็นตัวจุดกระแสให้คนหันมาดูพีพีทีวีเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ทันทีที่ทรูวิชั่นส์ประกาศได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด EPL และการถ่ายทอดฟุตบอลรายการต่างๆ จากบีอิน ครอบคลุมหลายแพลตฟอร์ม ทั้งเพย์ทีวี มือถือ อินเทอร์เน็ต ทำให้พีพีทีวีจึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนดูและสปอนเซอร์ ถึงข้อดีของการได้ลิขสิทธิ์ฟรีทีวี และข้อแตกต่างระหว่างฟรีทีวี และเพย์ทีวี
“อย่างการถ่ายทอดสด EPL ทางบีอิน เขาส่งส่งสัญญาณมาที่สตูดิโอของพีพีทีวี เพื่อมาผลิตเนื้อหาเพิ่มเติมก่อนจะออกอากาศให้คนดูอีกที ดังนั้นเราจึงต้องสร้างสตูดิโอขึ้นมา 4 แห่ง เพื่อมารองรับ แต่เพย์ทีวีของทรู เขาจะไม่ได้ลิขสิทธิ์ Exclusive จึงให้ออกผ่านช่องบีอิน สปอร์ต ไม่ได้ส่งสัญญาณให้ทรูโดยตรง”
นอกจากนี้ แม้ว่าลิขสิทธิ์ที่พีพีทีวีได้รับจากบีอินจะมีแค่ 26 แมตช์เท่านั้น แตกต่างจากทรูที่สิทธิ์ถ่ายทอดสดทุกคู่ แต่พีพีทีวีก็หวังจะเป็น “ทางเลือกหลัก” ให้กับบรรดาคอบอลที่ต้องการดู EPL แบบไม่ต้องเสียเงินค่าแพ็กเกจเพิ่มเติม
“ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด EPL ทุกคู่ แต่ข้อตกลงที่เราทำกับบีอิน เราสามารถเลือกคู่ที่เป็นสโมสรใหญ่ได้หมด และจากการสำรวจคนดู เขาก็ไม่ได้ดูทุกคู่ คนไทยจะเป็นแฟนคลับอยู่แค่ 4-5 สโมสร อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล เชลซี, เลสเตอร์ สโมสรอื่นๆ คนดูน้อย” เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี บอก
และนั่นคือที่มาของการประกาศประเดิมถ่ายทอดสด 5 แมตช์ ด้วยคู่ ลิเวอร์พูล ปะทะ อาร์เซนอล, เบิร์นลีย์ ปะทะ ลิเวอร์พูล, แมนฯ ยูไนเต็ด ปะทะ วัตฟอร์ด, เลสเตอร์ ซิตี ปะทะ แมนฯ ยูไนเต็ด และคู่แดงเดือดมันส์ตลอดกาลอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด ปะทะลิเวอร์พูล เริ่ม14 สิงหาคม จนถึงกันยายน โดยจะออกอากาศช่วงเวลา เสาร์-อาทิตย์ 18.30-22.00 น. ที่ถือเป็นช่วงไพรม์ไทม์
“จากที่เราประเมินดูพบว่า สมาชิกของซีทีเอชไม่ได้ตามไปทรูวิชั่นส์ เพราะเขาเหนื่อยในการติดตั้งกล่อง จานดาวเทียม ถ้าอย่างนั้นเขาก็มาดูฟรีทีวีแทน และการที่พีพีทีวีได้แมตช์ใหญ่มาก็เป็นทางเลือกให้เขาได้ดูฟรี ไม่ต้องเสียงเงินเป็นสมาชิกเพย์ทีวี”
นั่นหมายความว่า การได้พรีเมียร์ลีกมาไว้ในมือของทรูรอบนี้ จึงต้องรับมือและต้องเผชิญกับความความเปลี่ยนแปลง ทั้งพฤติกรรมคนดู ความหลากหลายของแพลตฟอร์ม ข้อตกลงกับทางบีอิน รวมทั้งการมีฟรีทีวีอย่างพีพีทีวี ที่แม้จะไม่ใช่คู่แข่งทางตรงก็ตาม แต่ก็เป็นทางเลือกให้กับผู้ชมได้อีกทาง
เขมทัตต์ มองว่า การที่ทรูหันมาเน้นมือถือ นอกจากเพื่อโปรโมตโครงข่ายแล้ว ช่องทางในการออกอากาศจะไปอยู่ที่มือถือ
“คอนเทนต์ฟุตบอลมีราคาแพงขึ้นทุกปี ช่องทางการออกอากาศจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพย์ทีวีเท่านั้น แต่จะผ่านมือถือ เพราะสัดส่วนของคนใช้มือถือเยอะกว่ามาก และเมื่อดูผ่านแอปพลิเคชัน ก็สามารถต่อเชื่อมเข้าทีวีเครื่องใหญ่ได้ ภาพก็ชัด แถมเวลานี้ยังมีไอคลาวด์ด้วย ไม่ต้องดูเถื่อน เลยไปโตที่มือถือ”