“Workplace” เมื่อเฟซบุ๊กบุกโลกแห่งการทำงาน

ภาพจากเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊ก เวิร์กเพลส (Facebook Workplace) เปิดตัวพร้อมกับคำทำนายจากสื่อในแวดวงเทคโนโลยีว่า นี่คือการดึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียลงมาสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งอาจกระทบต่อแอปพลิเคชันในตลาดหลาย ๆ ตัว เช่น Connections จาก IBM, Yammer จากไมโครซอฟท์, Chatter จาก Salesforce และ Slack เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านตัวเลขของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีมากกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์ม Facebook อยู่เป็นทุนเดิม

โดย Workplace นั้น ก่อนหน้านี้รู้จักกันในนาม Facebook at work ซึ่งเน้นการเป็นโซลูชันเพื่อการทำงานผ่านอุปกรณ์สื่อสาร (Mobile-first solution) แน่นอนว่าสำหรับคอมพิวเตอร์พีซีก็ต้องทำงานได้ด้วย แต่เฟซบุ๊กมองว่า โลกแห่งการทำงานยุคนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เครื่องมือในการทำงานต้องรองรับการติดต่อสื่อสารได้แม้จะอยู่คนละพื้นที่ ผ่านอุปกรณ์ที่พนักงานพกติดตัวกันก็คือ สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต ด้วยเหตุนี้ จึงให้ความสำคัญกับอุปกรณ์โมบายล์มาเป็นอันดับต้นนั่นเอง

ในการเปิดตัว Workplace นั้น เฟซบุ๊กยังได้อ้างว่า จากการทดสอบให้บริการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้ Workplace ได้มีการสร้างกลุ่มต่าง ๆ แล้วกว่า 100,000 กลุ่ม และมีบริษัททดลองใช้แล้วกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก เช่น Danone, Starbucks, Yes Bank, Booking.com, Renault, Oxfam, Telekom Austria Group เป็นต้น ส่วนประเทศที่ทดสอบการใช้งาน Workplace มากที่สุด 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส

ฟรานซิสโก คามาโช (Francisco Camacho) รองประธานกรรมการบริษัทดานอน (Danone) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ใช้งาน Workplace ก็ได้กล่าวสนับสนุนแพลตฟอร์มนี้ด้วยเช่นกัน โดยเขามองว่า นับวัน การติดต่อด้วยอีเมลยิ่งเป็นสิ่งล้าสมัย และไม่สามารถตอบสนองความต้องการสื่อสารแบบเรียลไทม์ได้

Dashboard (ภาพจากเฟซบุ๊ก)
Dashboard (ภาพจากเฟซบุ๊ก)

พร้อมกันนั้นเขาได้ยกข้อมูลการวิจัยของ Deloitte ที่ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ “พึงพอใจ” กับรูปแบบการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรที่เป็นอยู่

ด้าน Julien Codorniou ผู้อำนวยการของ Workplace เผยว่า วัตถุประสงค์ของการพัฒนา Workplace นั้นไม่ได้ต้องการมาแทนที่อีเมลแต่อย่างใด แต่ก็อาจต้องเข้ามาแทนที่อีเมลในที่สุด

เมื่อหันมามองคุณสมบัติของ Workplace ฟังก์ชันส่วนใหญ่จะคล้ายกับการใช้งานเฟซบุ๊ก คือมีทั้งแชท (Messenger) การสร้างกลุ่ม (Groups), เสิร์ช, บริการ Live (Streaming video), Auto-translate และการนำเสนอเนื้อหาที่กำลังเป็นกระแส (Trending Topics) ฯลฯ

ส่วนที่ต่างออกไปอาจเป็นเรื่องของสี ที่เปลี่ยนจากแบคกราวน์สีน้ำเงินเป็นสีเทา เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพมากขึ้น และแทนที่จะเน้นการเพิ่มเพื่อน (Add Friends) ผู้ใช้งาน Workplace จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการติดตาม (Follow) หรือเข้าร่วมในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อรับทราบข่าวสารแทน

ส่วนเครื่องมือตัวใหม่ที่มากับ Workplace ก็คือ Dashboard ที่มาพร้อมความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ (เช่น วัดการมีส่วนร่วมภายในกลุ่ม หรือโปรเจ็คที่กำลังดำเนินการอยู่) หรือในกรณีที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีบริษัทลูกมากมาย ก็สามารถใช้ Workplace เป็นแพลตฟอร์มกลางในการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทลูกได้ด้วย

ที่สำคัญ ผู้ใช้งานสามารถอัปโหลดไฟล์ ภาพถ่าย วิดีโอ และสร้างกลุ่มได้อย่างไม่จำกัด

ภาพจากรอยเตอร์
ภาพจากรอยเตอร์

***4 ความกังวลต่อการใช้งาน Workplace

มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย ซึ่งในส่วนนี้ ทีมงานได้มีการรวบรวมข้อกังวลต่อการใช้งาน Workplace ในองค์กร แบ่งออกได้เป็น 4 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1. ความปลอดภัยของข้อมูลที่แชร์บนแพลตฟอร์ม Workplace

ประเด็นเรื่องซีเคียวริตี้ รวมถึงประเด็นว่าความลับขององค์กรจะรั่วไหลหรือไม่เมื่อข้อมูลวิ่งอยู่บนระบบของเฟซบุ๊กนั้นถูกยกมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจาก เกรงว่าข้อมูลความลับขององค์กรที่แชร์บน Workplace นั้น อาจถูกสอดแนมโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้นั่นเอง

ซึ่งในจุดนี้ มร.Codorniou ยืนยันว่า ข้อมูลต่าง ๆ จะไม่ถูกลักลอบนำออกไปนอกเครือข่ายเด็ดขาด ส่วนความเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น แม้จะอัปโหลดขึ้นไปยังระบบของ Workplace ซึ่งพัฒนาโดยเฟซบุ๊กก็ตาม แต่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในข้อมูลจะยังคงเป็นบริษัท และตัวพนักงาน ไม่ใช่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเฟซบุ๊กแต่อย่างใด

“บริษัทคือผู้ที่สามารถแก้ไข ลบ หรือ Export ข้อมูลได้แต่เพียงผู้เดียว” Codorniou กล่าว

นอกจากนี้ การทำงานบน Workplace ยังแยกต่างหากจากแอคเคาน์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้การแชร์ข้อมูลบน Workplace ไม่ถูกนำมาปะปนกับข้อมูลบนแอคเคาน์ส่วนตัวของเฟซบุ๊กด้วย

3_fb
ภาพจากเฟซบุ๊ก

2. Workplace เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริงหรือ

อีกหนึ่งประเด็นที่เฟซบุ๊กต้องตอบคำถามให้ได้ก็คือ Workplace สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริงหรือ แน่นอนว่าคำถามนี้ตอบยาก และยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติที่สามารถอ้างอิงได้ในขณะนี้ว่าโซเชียลมีเดียสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างไร ดังนั้น ในตอนนี้ ทางออกของคำถามดังกล่าวจึงอาจต้องฉีกไปที่การมอง Workplace เป็น “ทางเลือกใหม่” ในการติดต่อสื่อสารของพนักงานในองค์กร ซึ่งบริษัทต่าง ๆ มีสิทธิจะทดลองใช้

ด้านแพกเกจราคาสำหรับการใช้ Workplace นั้นก็น่าสนใจมาก โดยเฟซบุ๊กคิดค่าใช้งาน Workplace เพียง 3 เหรียญสหรัฐต่อเดือนต่อการใช้งานที่ 1,000 คน ส่วนคนที่ 1,001 – 10,000 นั้นคิดที่คนละ 2 เหรียญสหรัฐ และหากเกิน 10,000 คนขึ้นไปคิดที่คนละ 1 เหรียญสหรัฐ (คิดจากการเข้าใช้งานจริงเท่านั้น) ซึ่งบริษัทที่สนใจจะใช้งาน Workplace จะได้รับสิทธิทดลองใช้ฟรีนาน 3 เดือนโดยไม่มีพันธะผูกพันใด ๆ ส่วนสถาบันการศึกษา องค์กรการกุศลนั้นให้ใช้งานได้ฟรี

ในขณะที่ Slack บริษัทคู่แข่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการมาถึงของ Workplace มากที่สุดนั้น เคยได้รับการยกย่องในฐานะผู้ที่เปลี่ยนรูปแบบการติดต่อสื่อสารงานด้วยอีเมลมาสู่รูปแบบห้องสนทนา (Chat Rooms) รวมถึงการใช้แชทบอทเพื่อช่วยในการจัดการข้อมูลขององค์กร โดยทาง Slack นั้นก็มีเวอร์ชันฟรีให้ใช้งานกัน แต่ในเวอร์ชันจ่ายเงิน จะได้รับบริการที่มากกว่า เช่น พื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ ระบบรักษาความปลอดภัย การโทรแบบกลุ่ม (Group Phone Call) ฯลฯ

อย่างไรก็ดี Slack คิดราคาค่าบริการไว้ที่ 6.67 เหรียญสหรัฐต่อ 1 แอคเคาน์สำหรับการใช้งานแบบมาตรฐาน (Standard Service) และ 12.50 เหรียญสหรัฐสำหรับแพกเกจ Plus ซึ่งแพงกว่าเฟซบุ๊กเท่าตัว

ภาพจากเฟซบุ๊ก
ภาพจากเฟซบุ๊ก

3. การเสิร์ชหาบทสนทนาเก่า ๆ ทำได้ยาก

นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดได้เปรียบของอีเมล เพราะในการคุยงานผ่านอีเมล สามารถเสิร์ชหาหัวข้อที่ต้องการได้สะดวกกว่าการเสิร์ชหาผ่านบทสนทนาในห้องแชท อีกทั้งยังไม่สามารถจับประเด็นจากการสนทนานั้นได้ง่ายนัก ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วแทนที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วง อาจกลับกลายเป็นการพูดคุยจนจับต้นชนปลายไม่ได้แทน

4. โซเชียลมีเดียไม่สามารถคัดเลือกคนที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานนั้น ๆ ได้

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีการสร้างกลุ่มเพื่อการทำงานอาจไม่สามารถจัดหาคนที่เหมาะสมสำหรับการให้ความคิดเห็นที่จำเป็นต่อโปรเจ็คนั้น ๆ ได้ แถมยังอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการมีส่วนร่วมในกลุ่มที่เกิดจากความแตกต่างของพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เนื่องจากในกลุ่มที่สร้างขึ้น อาจมีทั้งพนักงานที่เข้ามาซุ่มอ่านความเป็นไปเงียบ ๆ ไม่ออกความเห็น และอาจมีคนที่พยายามโน้มน้าวความเห็นของกลุ่มทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่สามารถคัดสรร หรือแนะนำคนที่มีความรู้ความสามารถจริง ๆ ในแต่ละด้านให้เข้ามาให้ความเห็นในกลุ่มได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ Workplace ต้องมุ่งมั่นพิสูจน์ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานต่อไป

***ใครที่ควรกังวลต่อการมาถึงของ Workplace มากที่สุด

ในความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ผู้ที่ควรกังวลมากที่สุดต่อการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจเอนเทอร์ไพรส์ของเฟซบุ๊กน่าจะเป็น “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) แม้ว่าความสามารถของ Workplace ในระยะเริ่มต้นจะมีความคล้ายคลึงกับ Slack ก็ตาม

เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะปัจจุบันไมโครซอฟท์กำลังอยู่ในยุคแห่งการพยายามดึงผู้บริโภคขึ้นสู่บริการ “คลาวด์” ของบริษัท และอาจทำให้องค์กรเอนเทอร์ไพรส์ที่เป็นลูกค้าของไมโครซอฟท์ในอดีตบางส่วนรู้สึกไม่สะดวกใจนักกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

การมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจจึงอาจเกิดขึ้น และนั่นอาจเป็นโอกาสของ Facebook Workplace ด้วย

ที่มา : http://astv.mobi/AHqgMGt