ยุทธศาสตร์กำราบตลาดต่างแดน เจ้าพ่อวงการเหล็กกล้าอินเดีย

สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายไม่อาจคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ก็คือ การพลิก “ขั้วอำนาจ” จากผู้นำเศรษฐกิจอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น มาสู่ “ตลาดใหม่” อย่างจีนและอินเดียที่ใครๆ เคยคิดว่าล้าหลัง

ลักษมี เอ็น. มิตตาล (Lakshmi N. Mittal) เป็นประจักษ์พยานในปรากฏการณ์ดังกล่าว จากครอบครัวธุรกิจเหล็กกล้าในประเทศอินเดีย สามารถสยายปีกไปสู่ต่างแดนสร้างอาณาธุรกิจยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลกในขณะนี้

มิตตาลทำได้อย่างไร? เรื่องราวของเขาจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง จนได้รับการเชื้อเชิญจากมูลนิธิไทยคมมาบรรยายพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์ของผมและโลกาภิวัตน์” (My Experiences and Globalization) ให้กับบรรดานักธุรกิจในเมืองไทย ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา

จะกำชัยชนะได้ ต้องยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ยอมแพ้ กว่าจะมีวันนี้ในวัย 58 ปีของเขา มิตตาลยอมรับว่าต้องปรับตัวเพื่อเอาชนะอุปสรรคท้าทายจากสภาพแวดล้อมต่างแดนที่แตกต่างกันมากมาย เริ่มต้นเมื่อปี 1976 ที่มิตตาลต้องจากอินเดียไปเผชิญสิ่งแวดล้อมใหม่ในอินโดนีเซีย เพื่อช่วยกิจการเหล็กกล้าของครอบครัวที่เพิ่งซื้อโรงงานถลุงเหล็กท้องถิ่น ต้องเผชิญคือเทคโนโลยีล้าสมัย ต้องปรับปรุงภายใต้ข้อจำกัด ด้วยการซื้อใหม่จากรัสเซียหรือเยอรมันเท่านั้น “การเริ่มต้นย่อมยากลำบาก แต่ต้องมุ่งมั่นไม่ท้อถอย” แล้วความสำเร็จก็มาถึง ทำให้บริษัทสามารถผลิตเหล็กกล้าได้ 600 ตันต่อปีเป็นครั้งแรก

อุปสรรคก้าวต่อมาคือการซื้อกิจการเหล็กกล้า Trinidad & Tobago ในเบงกอลเมื่อปี 1989 โดยมี Management Contract กับรัฐบาล ทว่าบริษัทดังกล่าวมีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากซับซ้อน ขณะเดียวกันก็ไม่มีเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ดีพอ ในเวลาต่อมาในปี 1995 เขาก็ซื้อบริษัท Hamburger Stahlwerke ในคาซัคสถานที่เพิ่งหลุดพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์ ที่แห่งนี้นอกจากมิตตาลต้องปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิหนาวสุดขั้ว -50 องศาแล้วยังต้องปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่นออกอัตราการแลกเปลี่ยน (Currency Note) ของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เข้าไปทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับระบบและตลาดของประเทศเช่นเคย

ความท้าทายล่าสุดคือการซื้อ Arcelor มูลค่า 40,000 ล้านเหรียญในปี 2006 ท่ามกลางเสียงโต้แย้งในวงกว้าง เนื่องจาก Arcelor เป็นบริษัทในลักเซมเบิร์ก อยู่ในยุโรป ทำให้คนภายในท้องที่รู้สึกต่อต้านมิตตาลในฐานะที่เป็นบริษัทข้ามชาติจากอินเดีย แต่ในที่สุดดีลประวัติศาสตร์นั้นก็จบลง (จากการช่วยเหลือของโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้น) กลายมาเป็นบริษัท Acelor Mittal ยักษ์ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าอย่างเช่นปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ล้วนประสบความสำเร็จได้ด้วยกลยุทธ์และทิศทางดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน มีทีมงานบริหารที่ดี การยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงทำให้สามารถก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเชิงการค้า การผลิต และการสร้างคุณภาพ

ปรับโมเดลธุรกิจและพัฒนาคนรุ่นใหม่

ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม แต่มิตตาลมองว่านวัตกรรมไม่ได้ถูกจำกัดแค่การวิจัยพัฒนา แต่ต้องเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับสิ่งที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง และอยู่เหนือคู่แข่งตลอดเวลา นั่นหมายถึงการจัดระบบและทิศทางการทำธุรกิจให้เหมาะสม รวมไปถึงการสร้าง “คุณค่า” ให้กับเครือข่ายขององค์กร

นอกจากนี้นวัตกรรมยังหมายถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในตลาดใหม่ เช่น ประเทศจีนและอินเดีย ทั้งนี้ จีนมีประชากรถึง 2 พันล้านคน นวัตกรรมทำให้คนเหล่านี้เริ่มอยู่ดีกินดี และเพิ่มการบริโภคทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญเติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้พบว่าโครงสร้างประชากรจีนประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง เหมือนอย่างในอินเดียขณะนี้ที่ 50% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงสมควรฝึกฝนคนรุ่นใหม่เตรียมพร้อมไว้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของโลก เช่นในกรณีของมิตตาล นอกจากเขาจะฝึกฝนแรงงานวัยหนุ่มสาวในองค์กรอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีลูกๆ ช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของธุรกิจอย่างมีประสิทธิผล

ลักษมี เอ็น. มิตตาล (Lakshmi N. Mittal) เกิดในราชสถาน (Rajasthan) ประเทศอินเดีย คว้าปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจาก St.Xavior’s College ในเมืองกัลกัตตาเมื่อปี1969 ก่อนจะเข้าวงการเหล็กด้วยการช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวในปี 1976 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Acelor Mittal ซึ่งตระกูลมิตตาลของเขาถือหุ้นอยู่ 43.04% และลูกชายของเขา Aditya Mittal นั่งเก้าอี้ CFO นอกจากนี้ มิตตาลยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและพรรคการเมือง โดยพบว่าเขาบริจาคเงินอย่างต่อเนื่องให้กับพรรคแรงงาน (Labour Party) อังกฤษ ทั้งนี้ ลักษมีได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์ปส์ (Forbes) ให้เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2007

หลังจาก Acelor และ Mittal ควบรวมกิจการกันในปี 2006 Acelor Mittal กลายเป็นบริษัทผลิตเหล็กกล้าอันดับหนึ่งของโลก มีพนักงานประมาณ 320,000 คนในกว่า 60 ประเทศ และขยายฐานธุรกิจไปสู่ตลาดยานยนต์ ก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านและบรรจุภัณฑ์ อีกด้วย