PwC เผยผลสำรวจพบ 8 เทคโนโลยีสำคัญเขย่าวงการธุรกิจทั่วโลก ‘อินเทอร์เน็ต ออฟ ติงส์’ จะมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันและธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลให้การจ้างงานมนุษย์ลดลง
1. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)
ซอฟต์แวร์ที่มีความฉลาด หรือศักยภาพในการทำงานเทียบเท่ากับมนุษย์ เช่น การรับรู้ภาพ-เสียง โดย AI ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดในการรวบรวมฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลายเข้าด้วย เช่น การเรียนรู้ของเครื่องจักรซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ AI ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง มีความเข้าใจ สามารถวางแผน ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับข้อมูลใหม่ๆ เรียนรู้ถึงเหตุและผล มีความสามารถในการใช้ภาษาและมีความสามารถในการมีความคิดสร้างสรรค์
2. ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality: AR)
เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจริง (Real world) เข้ากับโลกเสมือนที่สร้างขึ้น (Virtual world) โดยใช้วิธีซ้อนภาพ เสียง วิดีโอ ในโลกเสมือนบนภาพที่เห็นในโลกความเป็นจริงผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น แว่นตา AR ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ทำงานคลังสินค้าสามารถจัดระเบียบสินค้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หรือช่วยผู้ผลิตในการประกอบเครื่องบินและช่วยในงานซ่อมแซมไฟฟ้า ปัจจุบันยังมีการนำ AR มาใช้พัฒนาเกมในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
3. บล็อกเชน (Blockchain)
เทคโนโลยีที่ใช้บันทึกข้อมูลและบัญชีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบ Distributed Ledger (รายการเดินบัญชี) ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการบันทึกและยืนยันการทำธุรกรรมที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่ต้องอาศัยคนกลาง โดยระบบจะบันทึกธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่เริ่มเปิดบัญชี และข้อมูลสามารถแชร์ไปยังทุกๆ คนได้ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อมูลถูกบันทึกในบล็อกเชนจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้
4. โดรน (Drones)
พาหนะหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทางอากาศหรือในน้ำ เช่น อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) โดยใช้เทคโนโลยีบังคับเครื่องบินแทนมนุษย์ ซึ่งบริษัทต่างๆ สามารถใช้โดรนเข้ามาช่วยในการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การถ่ายภาพเคลื่อนไหว การสำรวจ การเฝ้าระวังและการจัดส่งสินค้า เป็นต้น
5. เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (The Internet of Things: IoT)
อุปกรณ์หรือยานพาหนะที่สามารถเชื่อมต่อหรือสื่อสารระหว่างกันผ่านเซนเซอร์ ซอฟต์แวร์ หรือระบบเชื่อมต่อเครือข่าย เพื่อให้สามารถจัดเก็บ รวบรวม แม้กระทั่งแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านมนุษย์ ทั้งนี้ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ากับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (The Industrial IoT: IIoT) ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของ IoT ที่ถูกนำมาใช้งานกับหน่วยการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ประหยัดต้นทุน และควบคุมความปลอดภัย ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. หุ่นยนต์ (Robots)
เครื่องจักรกลที่มีระบบเซ็นเซอร์ควบคุมผ่านระบบอัจฉริยะเพื่อเข้ามาช่วยการทำงานของมนุษย์ ปัจจุบันหุ่นยนต์มีโปรแกรมการทำงานที่หลากหลาย โดยถูกนำมาใช้ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการผลิต ส่งผลให้การจ้างงานมนุษย์ในอนาคตอาจลดลง หุ่นยนต์สมัยใหม่ยังมีความสามารถในเรียนรู้ มีความจำและทำตามระบบหรือคำสั่งที่วางเอาไว้ รวมไปถึงการทำงานที่ซ้ำๆ ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนไหวได้คล้ายกับมนุษย์
7. ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality: VR)
เทคโนโลยีการจำลองภาพสามมิติหรือสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หูฟัง เพื่อให้ได้ยินเสียงรอบทิศทางภายในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งต่างจาก AR ที่เป็นเทคโนโลยีซ้อนภาพที่เห็นในจอให้กลายเป็นวัตถุ 3 มิติอยู่บนพื้นผิวจริง
8. เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing)
เป็นเทคนิคการสร้างชิ้นงานด้วยการเติมวัสดุเพื่อสร้างภาพดิจิทัล 3 มิติโดยการพิมพ์วัสดุทีละชั้นอย่างต่อเนื่อง โดยการพิมพ์แบบ 3 มิติสามารถทำได้กับหลากหลายวัสดุไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โลหะ ไม้ หรือแก้ว
“เทคโนโลยีทั้ง 8 ประเภทนี้จะสร้างทั้งคุณประโยชน์ และความท้าทายให้กับวงการธุรกิจทั่วโลก ผู้บริหารจะต้องประเมินว่า จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปต่อยอดหรือสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคอย่างไร เพราะเทคโนโลยีแต่ละประเภทมีจุดด้อย จุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป และระยะเวลาของการนำมาประยุกต์ก็แตกต่างกันด้วย ทิศทางของนวัตกรรมกับโลกธุรกิจจากนี้ไปจะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดกลยุทธ์ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า รวมถึงการจ้างงาน และการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)
แนะผู้บริหารตามให้ทันเมกกะเทรนด์
ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี (Technological breakthroughs) เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกต้องทำความเข้าใจ และตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลกระทบกับตัวธุรกิจ รวมทั้งต้องทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะผลักให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ หรือผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
- สิ่งแรกที่ผู้บริหารต้องทำคือ สำรวจความพร้อมของบริษัทตัวเองว่า มีการกำหนดกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมที่ยั่งยืนหรือไม่
- วัดผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ หากองค์กรของตัวเองยังไม่มี ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
- ต้องวางแผนโรดแมปเพื่ออัพเดตเทคโนโลยี รู้เท่าทันตลาด และไม่พลาดโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแข่งขัน
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณที่ดี โดยหลายบริษัทมีการทำการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และขยายขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มาผลสำรวจ
ผลสำรวจ Tech breakthroughs megatrend ได้ศึกษารูปแบบของเทคโนโลยีมากกว่า 150 ประเภททั่วโลก เพื่อค้นหาว่าเทคโนโลยีใดจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยประเมินจากผลกระทบต่อธุรกิจและศักยภาพในเชิงพาณิชย์ในอีก 5-7 ปี ข้างหน้าสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ 3-5 ปี สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว