นีลเส็น บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงใช้ข้อมูล (data consumption) ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในประเทศไทย ช่วงไตรมาส 3 (ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2559) พบว่า อัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว
ใช้สมาร์ทโฟน 4 ชั่วโมงต่อวัน
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยใช้เวลาเฉลี่ย 230 นาที หรือเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน ใกล้เคียงกับไตรมาสสอง
คนไทยใช้สมาร์ทโฟนไปกับเรื่องอะไรบ้าง
เมื่อลงลึกถึงกิจกรรมที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยใช้เวลาด้วยมากที่สุด ในช่วง 4 ชั่วโมง จะพบว่า
- อันดับหนึ่งคือ การสื่อสาร (communications) โดยใช้เวลา 75 นาทีต่อวัน
- อันดับสอง แอปพลิเคชั่น ซึ่งใช้เวลาอยู่ที่ 67 นาทีต่อวัน เช่น ใช้เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กูเกิล
- อันดับ 3 เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ใช้เวลา 45 นาทีต่อวัน โดยใช้เล่นเกม, ดูยูทิวบ์ ฟังเพลง
- อันดับ 4 เบลาสซิ่ง เสิร์ชหาข้อมูล 24 นาทีต่อวัน
- อันดับ 5 จัดการเกียวกับตัวเครื่องสมาร์ทโฟน เช่น ตั้งค่าความปลอดภัย 18 นาทีต่อวัน
- โดยทั้ง 5 ลำดับนี้ยังคงเป็นลำดับเดียวกันกับเมื่อไตรมาสที่ 2
เอ็นเตอร์เทนใช้เพิ่ม
นีลเส็นยังได้ลงรายละเอียดว่าใน 5 อันดับนี้ มีการใช้งานเพิ่มหรือลดอย่างไรเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 และ ไตรมาส 2 ซึ่งก็พบว่าการใช้งาน สื่อสาร (communication) และการจัดการเกี่ยวกับเครื่องสมาร์ทโฟน (Device Management) ลดลง
ในขณะที่การใช้ในเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์เพิ่มขึ้น สาเหตุที่เพิ่มมาจากเกมโปเกมอนที่เข้ามาไทยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และที่ใช้เพิ่มคือการค้นหาข้อมูลส่วนการใช้แอปพลิเคชั่นคงที่
ใช้โทรปกติเหลือแค่ 7 นาที/วัน
โทรผ่านไลน์
เมื่อลงรายละเอียดในการใช้งานทั้ง 5 อันดับ พบว่า ในการใช้ด้านสื่อสาร 75 นาทีนั้น ใช้ไปกับการ แชตและโทรผ่าน VoIP (โทรผ่านไลน์, เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์) มากสุด 65 นาที ใช้โทรศัพท์เหลือแค่ 7 นาที เท่านั้น
ในขณะที่ใช้กับ Entertainment 45 นาที ในจำนวนนี้ใช้ไปกับการเล่นเกม 22 นาที และมัลติมีเดีย เช่น ดู Youtube ฟังเพลง 23 นาที
ช่วงพีคสุด 1 ทุ่ม-3 ทุ่ม
มาดูช่วงเวลาที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุด คือระหว่างเวลา 8 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม ด้วยค่าเฉลี่ยการใช้งานที่ 10 นาทีต่อชั่วโมง
- ช่วงที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีความตื่นตัวมากที่สุดคือช่วงระหว่าง 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม ซึ่งมีการใช้เวลากับสมาร์ทโฟนถึง 13 +นาทีต่อชั่วโมง
- ส่วนช่วงเวลาที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนใช้เวลาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคือ 5 ทุ่มถึง 7 โมงเช้า
นีลเส็นเสนอแนะว่า หากแบรนด์ต้องการสื่อสารออนไลน์ ควรเลือกช่วงเวลา 1 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม
ใช้ดาต้าพุ่ง–เยอะสุด 2-5 ทุ่ม
ทั้งนี้สิ่งน่าสนใจที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ถึงแม้เวลาที่ใช้งานกับสมาร์ทโฟนจะคงที่แต่ตัวเลขของการใช้ข้อมูลนั้นเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 689 MB ต่อวัน เป็น 810 MB ต่อวัน เพิ่มขึ้น ทั้งจากการใช้งานผ่าน wi-fi และการใช้งานผ่าน cellular
เมื่อรวมการใช้งานของทั้ง wifi และ cellular เข้าด้วยกัน จะเห็นได้ว่ามีอัตราการใช้งานทั้งหมดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ไตรมาสที่ 2 กับไตรมาสที่ 3 ในปี 2559
ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนใช้งานด้านข้อมูล (data consumption) เยอะที่สุดคือช่วง 2 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม
แนะแบรนด์อยากเข้าถึงลูกค้ายุคนี้
ต้องใช้มือถือ + เนื้อหา
ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทนีลเส็น ประเทศไทย กล่าวว่า การใช้ปริมาณของดาต้าเพิ่มขึ้น เหตุผลหลักน่าจะมาจากการใช้งานด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ 42 นาทีเป็น 45 นาที เฉลี่ยต่อคนต่อวันโดยข้อมูลชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาในการใช้งานด้านเกมส์นั้นสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว
นอกจากนี้ เธอได้แนะนำว่า การใช้งานสมาร์ทโฟนนั้นมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด สืบเนื่องมาจากประโยชน์ของการใช้งานมือถือไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงของข้อมูลที่ง่ายขึ้น การส่งต่อข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น รวมไปถึงการใช้งานเพื่อความบันเทิง เช่นการดูหนัง ฟังเพลง หรือการเล่นเกมส์ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถอยู่ในเทรนด์และตามกระแสของสังคมได้ ฉะนั้นแบรนด์ควรที่จะตื่นตัวในการเข้าถึง รวมถึงวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านทางช่องทางนี้ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของพวกเขา ไม่ว่าจะผ่านทางกิจกรรมการใช้มือถือ หรือผ่านเนื้อหา หรือคอนเทนต์ ที่จะสื่อถึงพวกเขา