หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “โออิชิ กรุ๊ป” ได้บุกตลาดด้วยการอัดโปรโมชั่นตลอดทั้งปี ทั้งในกลุ่มของเครื่องดื่ม และร้านอาหาร เพราะการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูงมาก แต่การอัดโปรโมชั่นลงไป ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันไม่ค่อยยั่งยืนเท่าไหร่ เพราะสามารถกระตุ้นตลาดได้แค่ช่วงมีโปรโมชั่น และยิ่งลดทอนผลกำไรลงไปด้วย
ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาโออิชิเริ่มมียุทธศาสตร์ในการจัดทัพแบรนด์เสียใหม่ ก็เหมือนกับการปรับโครงสร้างองค์กรด้วย รวมถึงในปีหน้าก็ยังคงยุทธศาสตร์เดิม ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. Product Innovation เน้นเรื่องนวัตกรรม ทั้งการผลิต ผลิตภัณฑ์ และการตลาด 2. Brand Engagement สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อครองใจผู้บริโภค และ 3. Distribution Excellence ใช้การผนึกกำลังกับเครือข่ายธุรกิจภายในเครือไทยเบฟฯ เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และตลาดต่างประเทศ
การจัดทัพใหม่ของโออิชิมีให้เห็นทั้งในส่วนของอาหาร และเครื่องดื่ม โดยโจทย์ หรือความท้าทายสำคัญก็คือตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มคนที่โออิชิอยากสื่อสารด้วยมากที่สุด ซึ่งทำให้แบรนด์ดูทันสมัยมากขึ้นด้วย ทำให้ร้านอาหารในเครือโออิชิมีการรีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นประเดิมที่ชาบูชิ และต่อไปก็เป็นคิวของนิคุยะ และคาคาชิ และมีการแบ่งโครงสร้างธุรกิจชัดเจนระหว่างร้านอาหาร และอาหารพร้อมทาน ให้ง่ายต่อการทำตลาด
มารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
การจัดทัพใหม่ในครั้งนี้เป็นการใส่คุณค่าองค์กรเข้าไปเพิ่มด้วยจะมีการจัดโครงสร้างธุรกิจ และมีการผนึกกำลังกับบริษัทในเครือ อย่างแชร์ข้อมูลเรื่อพฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยทำให้ประหยัดรายจ่ายไปได้ ในปีต่อไปจะเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน ดูเรื่องแบรนด์เป็นหลัก ต้องทำสินค้าให้มีนวัตกรรม เข้าถึงผู้บริโภคได้ ตอบโจทย์ผู้บริโภคเจนใหม่ๆ
ทางด้านของเครื่องดื่มก็มีการจัดพอร์ตใหม่ จากเดิมที่มีหลายแบรนด์ทั้งโออิชิ กรีนที, โอเฮิร์บ, ชาคูลซ่า และฟรุตโตะ ก็ทำการตัดแบรนด์ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จอย่างชาคูลซ่า และโอเฮิร์บออก และรีแบรนด์ฟรุตโตะให้เป็นแบรนด์โออิชิแบรนด์เดียว เพื่อการทำตลาดที่ง่าย ไม่เปลืองงบการโฆษณาที่ต้องเสียหลายแบรนด์ด้วย
ทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจยังคงมีโปรโมชั่นเหมือนเดิม แต่ไม่มากเท่าในหลายปีก่อน เพราะคำนึงถึงการสร้างแบรนด์ในระยะยาวมากกว่า ในปีหน้าเครื่องดื่มจะมีแคมเปญใหญ่ทั้งหมด 3 แคมเปญ แคมเปญช่วงซัมเมอร์ยังเป็นแคมเปญใหญ่ที่สุดอยู่ ในส่วนของอาหารจะไม่เน้นโปรโมชั่นมากนัก แต่เป็นการรีแบรนด์ และเสริมอะไรใหม่ๆ เข้าไป เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคมาใช้บริการอยู่เสมอ
สำหรับงบลงทุนรวมในปีหน้าใช้ทั้งหมด 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นเครืองดื่ม 600 ล้านบาท อาหาร 300 ล้านบาท และอื่นๆ ในเรื่องระบบไอทีต่างๆ ในปี 2559 ที่ผ่านมาใช้เงินลงทุน 700 กว่าล้านบาท
เผยผลประกอบการ ปิดรายได้หมื่นล้าน
ในปี 2559 ทางไทยเบฟฯ ได้ทำการเปลี่ยนปฏิทินงบประมานเป็นช่วง ตุลาคม–กันยายน เพื่อให้มีความเป็นสากลเหมือนกับต่างประเทศ เพราะมีการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ในปีนี้บัญชีปีบประมาณของโออิชิอยู่ที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2559
ผลประกอบการของโออิชิ กรุ๊ป ประจำปีงบประมาณ 2559 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 59) มีรายได้รวม 10,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 4,906 ล้านบาท มีการเติบโตลดลงอยู่ที่ -0.4% เพราะด้วยเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้จำนวน 5,493 ล้านบาท เติบโต 17% เนื่องจากการเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ แคมเปญช่วงซัมเมอร์ และธุรกิจรับจ้างผลิตเครื่องดื่ม (OEM)
สำหรับกำไรสุทธิรวม 887 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 90% แบ่งเป็นผลกำไรสุทธิจากธุรกิจอาหาร 88 ล้านบาท เติบโต 183% เพราะมีการบริหารจัดการต้นทุน และปรับกลยุทธ์ รวมถึงการรีแบรนด์ด้วย ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิ 799 ล้านบาท เติบโต 83% เพราะมีกำลังการผลิตสินค้าที่เพียงพอ และบริหารงบการตลาดได้