บริษัทโตชิบา ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จากญี่ปุ่นขาดทุนอย่างหนักจากธุรกิจพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ จนต้องขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่นเข้าช่วยเหลือ รวมทั้งขายทรัพย์สินบางส่วน
โตชิบากำลังต้องเจอภาวะยากลำยาก จากบริษัทในเครือซึ่งลงทุนในธุรกิจบริษัทพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ และพบกับความขาดทุนอย่างมากกว่าที่ประเมินไว้ไว้ถึง 700,000 ล้านเยน ตัวเลขขาดทุนมหาศาลนี้ทำให้โตชิบาเผชิญความเสี่ยงที่มูลค่าหนี้สูงเกินมูลค่าทรัพย์สิน
โตชิบาแจ้งว่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะนำตัวเลขขาดทุนเท่าใดลงบัญชีในรายงานยอดรายรับของตนเองในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนกับดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นมาก และจะทำให้ยอดหนี้สินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นรายนี้พยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ แต่หลังจากเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มเมื่อปี 2011 ความเชื่อมั่นในโรงไฟฟ้าหลังงานนิวเคลียร์ก็แทบจะเสื่อมสลาย จนนำไปสู่การขาดทุนมหาศาล
โตชิบากำลังพิจารณาที่จะแยกการดำเนินธุรกิจผลิตหน่วยความจำ ซึ่งสามารถทำกำไรได้อยู่ และหาบริษัทอื่นๆ มาร่วมลงทุน นอกจากนี้ทางบริษัทมีแผนที่จะขายสินทรัพย์และธุรกิจอื่นๆ ด้วยเพื่อหาเงินมูลค่า 300,000 ล้านเยนมาชดเชยภาระหนี้
ขอรัฐบาลช่วย
โตชิบายังได้ขอความสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล โดยคาดว่าทางธนาคารและบรรดาเจ้าหนี้จะให้ความช่วยเหลือกับโตชิบา โดยมีเงื่อนไขการเข้าถือหุ้นและทำกำไรจากการขายทรัพย์สิน นอกจากนี้บริษัท Western Digital Corp. ของสหรัฐฯ ซึ่งร่วมลงทุนในโรงงานผลิตหน่วยความจำของโตชิบาอยู่แล้ว ก็จะลงทุนเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน
เตรียมขายหุ้นธุรกิจชิป
นอกจากนี้ โตชิบายังเตรียมหาทางขายหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจชิปของบริษัท โดยแหล่งข่าวชี้ว่า เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนทางบัญชีจำนวนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐที่อาจเกิดขึ้นอีกในไตรมาสหน้า
ล่าสุด มีข่าวลือว่าแคนนอน (Canon) ต้นสังกัดแบรนด์กล้องชื่อดังแสดงความสนใจลงทุนในธุรกิจนี้กับโตชิบาด้วย
หนึ่งในแหล่งข่าวของรอยเตอร์ส ระบุว่า โตชิบาได้ส่งข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล หรือ non-disclosure agreement forms ไปยังกองทุนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงกองทุนอย่างซิลเวอร์เลก (Silver Lake) ที่นิยมซื้อหุ้นเทคโนโลยีไว้ในครอบครอง เพื่อป้องกันไม่ให้รายละเอียดการขายหุ้นถูกเปิดเผยก่อนเวลาอันควร
การเสนอขายหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจชิปของโตชิบานั้น ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากโตชิบาถือเป็นผู้ผลิตหน่วยความจำ NAND flash memory รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากซัมซุง (Samsung Electronics Co Ltd) และธุรกิจนี้เองที่เป็นหนึ่งในแหล่งทำรายได้หล่อเลี้ยงโตชิบามากที่สุดในขณะนี้
การขายหุ้นในธุรกิจชิปถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกที่จะทำให้โตชิบาสามารถกอบกู้ภาวะขาดทุนหนักที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 จากการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ไม่เพียงขายหุ้นบางส่วน โตชิบาประกาศแล้วว่า จะแยกแผนกชิปของตัวเองออกไปเป็นบริษัทใหม่ (split off) ก่อนที่การขายหุ้นจะแล้วเสร็จในมีนาคมนี้ เพื่อให้ทันก่อนเริ่มงบการเงินไตรมาสใหม่
การเลี่ยงภาวะขาดทุนสุทธิด้วยการขายหุ้นนี้ไม่ได้รับการยืนยันใดจากตัวแทนโตชิบา โดยขณะนี้สื่อต่างประเทศคาดว่า โตชิบาจะขายหุ้นราว 20-30% ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
ที่มา :
- http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000006738
- http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000006576