จากกรณี นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร หนุ่มนิติศาสตร์ ที่คิดค้นผลิต คราฟต์เบียร์ (Craft Beer) สัญชาติไทย ออกมาทดลองขาย แลได้ถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าจับกุม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เสียงสะท้อนว่า รัฐบาลควรส่งเสริมคราฟต์เบียร์เข้าสู่ตลาดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมรายย่อย ตามโครงการ Startup Thailand 4.0 ไม่ควรผูกขาดอยู่แค่ 2 ค่ายใหญ่
ทำให้เมื่อวานนี้ (27 มกราคม 2560) ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก สรุปได้ว่า เป็นห่วงว่าหนุ่มนิติทำผิดกฎหมาย และเป็นห่วงคนกิน แนะให้มาคุยกัน เพราะสนับสนุนคราฟต์เบียร์แบรนด์ไทยอยู่แล้ว
ผมให้การสนับสนุน ชมรมคราฟต์เบียร์ภาคเหนือ ที่มีสมาชิกกว่า 20 ราย เรามี brew master 18 คน ที่สามารถสอนหรือแนะนำ ทำดีทำเข้าตา ก็โตไปด้วยกันได้
ยังระบุด้วยว่า “ตลาดเบียร์ 2,000 กว่าล้านลิตร เป็นของคราฟต์เบียร์ 10 ล้านลิตร แต่โตไปเรื่อยๆ คราฟต์เบียร์ คือสีสันทำให้ตลาดคึกคัก เป็นรื่องที่ดีที่สนุก”
เสนอแก้กฎหมาย
ล่าสุด บุญรอดฯ ได้ส่งข่าวมาที่สื่อมวลชน ต้องการเสนอแนะกรมสรรพสามิตแก้กติกาผลิตคราฟต์เบียร์ เสนอตัวส่งทีมบรูมาสเตอร์ ให้ข้อมูลและคำแนะนำกระบวนการผลิต หนุนเปิดเสรีคราฟต์เบียร์ เปิดมิติให้นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ เปิดเผยว่า บุญรอดฯ สนับสนุนแนวคิดแก้ไขกฎหมายกรมสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมการผลิตคราฟต์เบียร์อย่างถูกต้อง พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐนำบรูมาสเตอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการปรุงเบียร์ให้ดีมีคุณภาพ มอบความรู้ความเข้าใจกระบวนการผลิต
หนุนให้ตั้งบริษัทฯ ทุน 10 ล้านผลิต 10 ล้านลิตร/ปี
สำหรับบุญรอดฯ มองว่าการทำธุรกิจคราฟต์เบียร์ สามารถดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายได้ ในกรณีผู้ทำธุรกิจต้องการบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบขวด ต้องจัดตั้งในรูปแบบบริษัทขึ้นมา มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีกำลังการผลิตคราฟต์เบียร์ 10 ล้านลิตร/ปี นอกจากนี้ยังต้องมีความสามารถทางด้านผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้ดื่ม หรือในกลุ่มผู้ประกอบรายย่อยหากไม่ต้องการบรรจุขวด ก็สามารถทำบรรจุถังเบียร์ เหมือนเช่นโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
ขณะที่แนวโน้มตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย ตัวเลขในเชิงปริมาณมีราว 10 ล้านลิตร ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก จากเทรนด์เกิดขึ้นในยุโรป ส่วนพฤติกรรมในไทย ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ต้องการเครื่องดื่มที่มีความแตกต่าง แปลกใหม่ และเชื่อว่าคราฟต์เบียร์จะเข้ามาช่วยสร้างสีสันภาพรวมตลาดเบียร์ในเชิงปริมาณ 2,000 ล้านลิตรให้มีความคึกคักยิ่งขึ้น
ปัจจุบันบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้ให้การสนับสนุนชมรมคราฟต์เบียร์ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสมาชิกร่วม 20 ราย ทั้งนี้บริษัทมีบรูมาสเตอร์หรือผู้เชี่ยวชาญในการปรุงเบียร์ให้ดีมีคุณภาพ จำนวนทั้งสิ้น 18 คน ที่มีความสามารถ พร้อมให้ข้อมูลความรู้กับผู้ที่สนใจและต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หากพันธมิตรหรือสตาร์ทอัพทำคราฟต์เบียร์ที่ดีมีคุณภาพ เราก็พร้อมจะสนับสนุนและเติบโตไปด้วยกันในธุรกิจคราฟต์เบียร์
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีบรูเฮาส์ หรือผู้ผลิตเบียร์เกือบ 10 ราย สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 15 ปี โดยทั้งหมดนี้แสดงที่ตั้งสำหรับการผลิตชัดเจน และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันคราฟต์เบียร์นำเข้ามาในประเทศไทยมีมากกว่า 50 แบรนด์ และกว่า 10 ยี่ห้อเป็นแบรนด์ของไทย ซึ่งภาครัฐให้เปิดเสรีผลิตคราฟต์เบียร์ เชื่อว่าจะส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น