เรียลลิตี้ข่าว 24 ชั่วโมง

การเดินทางมาร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวช่องรายการสถานีข่าว 24 ชม.“TNN” ของทรูวิชั่นส์ด้วยตนเอง โดยถือฤกษ์เอาวันที่ วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2008 ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ โดยมี ศุภชัย และณรงค์ เจียรวนนท์ ลูกชายสองคนยืนขนาบข้าง ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าทรูให้ความสำคัญกับสถานีข่าวแห่งใหม่ของตนมากแค่ไหน

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รายได้หลักของทรูมาจากสาระความบันเทิงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ช่องกีฬาและช่องหนังรีรัน 24 ชั่วโมงอย่าง HBO ซึ่งฮอตฮิตมาตลอดช่วงหลายปีมานี้

แต่ความจริงที่ว่าคนไทยชอบดูข่าวมากขึ้น ตรงกับผลสำรวจเทรนด์ของตลาดโลกที่ว่าผู้คนหมู่มากนิยมบริโภค ข่าว กีฬา รายการตลก และเรื่องเกี่ยวกับเซ็กซ์บนหน้าจอทีวีมากที่สุด รวมถึงผลสำรวจของเอซี นีลเส็น ซึ่งทรูจ้างให้ทำ ยังพบว่าช่องข่าวของทรูเป็น 1 ใน 5 ของช่องรายการที่มีคนเปิดดูมากที่สุด ผลักดันให้ทรูยิ่งต้องเร่งพัฒนาช่องข่าวที่มีอยู่ให้เป็นหน้าเป็นตาที่ดีกว่านี้

แรกเริ่มนั้น ทรูเคยมีช่องรายการข่าว “ยูบีซี 7” เป็นหัวหอกในการนำเสนอข่าวสารในไทยผ่านทางธุรกิจเคเบิลทีวีของตน แต่กลับไม่เน้นหนักอย่างที่เป็น โดยทีมงานทำข่าวกันจริงๆ แค่ 6 ชั่วโมง ก่อนพัฒนามาเป็นช่อง NEWs24 ที่มีการนำเสนอข่าวเพิ่มเป็น 12 ชั่วโมง แทรกด้วยรายการสาระอื่นๆ คั่น จนกระทั่งล่าสุดทรูจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสถานีข่าวของตนเป็น TNN หรือสถานีข่าว Thai News Network โดยมีศุภชัยเป็นคนเลือกชื่อด้วยตนเอง

คอนเซ็ปต์ของ TNN ในความหมายของทรูไม่ต่างอะไรกับ “Reality Show” การทำงานของทีมงานข่าวตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีรายการอื่นคั่นกลาง โดยทรูได้เพิ่มทีมงานเป็น 200 คน และผู้ประกาศอีก 35 ชีวิต ที่ดึงตัวมาจากพนักงานไอทีวีเดิม ทำสัญญาจ้างผู้ประกาศของช่องอื่นทั้งทีมงานเนชั่น ช่องฟรีทีวีบวกกับทีมข่าวของทรูแต่เดิม ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัวเพื่อรองรับแนวทางนี้โดยเฉพาะ

ไม่นับกับการเช่าพื้นที่ตึกสำนักงานใหญ่ของทรูวิชั่นส์ชั้น 5 ตกแต่งเป็นสถานี TNN แห่งใหม่ และซื้ออุปกรณ์ Virtual Studio เพิ่มรวมแล้วกว่า 70 ล้านบาท โดยศุภชัย เจียรวนนท์ ให้โจทย์มาตั้งแต่แรกว่า ไม่หวังจะให้สร้างกำไรแต่ขอแค่เพียงเลี้ยงตัวเองได้

ล่าสุดทรูสามารถเผยแพร่โฆษณาคั่นรายการข่าวได้ 5 นาทีต่อหนึ่งชั่วโมง ทำให้เชื่อว่าในปีหน้าโฆษณาที่เข้ามาจะช่วยให้สถานีเลี้ยงตัวเองได้ โดยช่วงแรกมีทั้ง ปตท., ซัมซุง, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเคทีซี เป็นลูกค้าซื้อโฆษณาไปบ้างแล้ว

ไม่เพียงแค่นั้นทรูยังหวังจะต่อยอดช่องข่าวด้วยการเจรจากับ อสมท. ในการขอช่องรายการวิทยุในการเผยแพร่เสียงข่าวไปพร้อมๆ กัน เจรจากับเจ้าของเน็ตเวิร์ครายใหญ่ในสหรัฐฯ ในการเปิดทางให้ทรูเข้าไปอยู่ในช่องแพ็กเกจไทย ด้วยการส่งข่าวดังกล่าวไปออกรายการที่สหรัฐฯสำหรับดึงกลุ่มคนไทยในสหรัฐฯ

การเตรียม Re-format ข่าวเป็นข้อความเพื่อขายเป็นบริการส่งข่าวด่วนผ่าน SMS ให้กับ ทรูมูฟ บริษัทในเครือในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และการเตรียมเปิดเจรจากับกลุ่มเคเบิลท้องถิ่นในการขายข่าวของ TNN เข้าไปอยู่ในเคเบิลท้องถิ่น หลังจากที่โดนลักลอบละเมิดลิขสิทธิ์ช่องข่าวมานานพอสมควร และเป็นรายการแรกที่ทรูคิดจะขายลิขสิทธิ์ให้กับเคเบิลท้องถิ่น นับจากช่วงหลายปีที่แล้วที่ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดเก็บรายได้จนต้องยกเลิกกันไป

Did U know?

ปัจจุบันทรูวิชั่นส์มีฐานสมาชิกราว 1.4 ล้านครัวเรือน ประมาณการณ์ว่ามีคนชมทรูวิชั่นส์แล้วกว่า 10 ล้านคน