“KFC” เดินหน้าขายสาขาทั้งหมดในไทย ปรับโหมดธุรกิจใหม่ สู่ระบบแฟรนไชส์

แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

“เคเอฟซี” เดินหน้าขายกิจการสาขาในไทยล็อตสุดท้ายอีก 244 สาขา คาดกันยายนนี้แล้วเสร็จ เปิดกว้างพันธมิตรเดิมได้ทั้งซีอาร์จีกับอาร์ดี เพื่อผันบทบาทสู่การเป็นผู้สนับสนุนแฟรนไชส์ 100% ตามนโยบายบริษัทแม่

แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยหาผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการสาขาของร้านเคเอฟซีในไทยทั้งหมดเหลืออยู่ที่บริหารโดยยัมฯ ขณะนี้ที่มีอยู่อีก 244 สาขา ให้กับผู้ที่สนใจทั้งไทยและต่างประเทศ โดยได้แต่งตั้งให้ทางบริษัท ไพร้ซ์ วอเตอร์ เฮาส์ เป็นที่ปรึกษาการซื้อขาย คาดว่าทั้งกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้แจ้งให้ทางพนักงานออฟฟิศกว่า 270 คน และพนักงานร้านอีกกว่า 10,000 คน รวมทั้งซัปพลายเออร์พันธมิตรต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยที่ยัมฯ ได้ปรับกลยุทธ์มาสู่บทบาทของการเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ 100% ที่มุ่งเน้นการบริหารและพัฒนาแบรนด์และสนับสนุนแฟรนไชส์

ปัจจุบันเคเอฟซีในไทยมีทั้งหมด 586 สาขา แบ่งเป็นของยัมฯ 244 สาขา สัดส่วน 42% ซีอาร์จี 219 สาขา สัดส่วน 37% และอาร์ดี 123 สาขา สัดส่วน 21% (จะเป็น 130 สาขาตามสัญญาเดิมในอีก 4 เดือนนี้) ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ยัมฯ เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการขายกิจการสาขาเดิมกว่า 130 สาขาให้กับแฟรนไชส์รายใหม่ คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลลอปเม้นต์ จำกัด หรือ อาร์ดี ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่จะใช้กลยุทธ์ให้แฟรนไชส์เป็นผู้ดำเนินการแทน

word_icon

เคเอฟซียังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก จึงต้องหาพันธมิตรมาช่วยขายธุรกิจ ตามเป้าหมายให้มีร้านเคเอฟซีในไทยครบ 800 สาขา ภายในในปี 2563 ซึ่งเราก็เชิญทางพันธมิตรเดิมคือ ซีอาร์จี และอาร์ดี เข้ามาร่วมด้วยหากสนใจที่จะซื้อแฟรนไชส์เพิ่มอีก

word_icon2

แววคนีย์กล่าว

ในต่างประเทศที่ดำเนินการตามรูปแบบนี้ก็เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จดีธุรกิจเติบโตมากขึ้น ล่าสุดคือที่จีน ก็เพิ่งเปลี่ยนแปลงเสร็จปลายปีที่แล้ว โดยแยกออกไปเป็น ยัมไชน่า เพื่อดูแลร้านกว่า 7,000 สาขาทั้งหมด ส่วนยัมฯ เองก็ไม่ได้ลงทุนและบริหารแล้วจะเป็นเจ้าของแบรนด์

ทั้งนี้ ตามแผนงานปี 2560 แบรนด์เคเอฟซีทั้งหมดจาก 3 รายจะลงทุนรวมกันประมาณ 1,035 ล้านบาท ในการขยายสาขารวม 52 แห่งปีนี้ แบ่งเป็นไดรฟ์ทรู 15 แห่ง และจะคงสัดส่วนการบริการดีลิเวอรีครอบคลุม 50% ของสาขาเคเอฟซีทั้งหมด และอีก 700 ล้านบาทเป็นงบการตลาด แต่เมื่อการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจเสร็จตามแผนแล้ว ทางยัมฯ ก็จะหยุดการลงทุนขยายสาขา เพื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางแฟรนไชส์

1_kfc

การทำงานจากนี้ไป เรามี Brand Advisory Council ซึ่งประกอบไปด้วย แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล, จีเอ็มของ ซีอาร์จี, จีเอ็มของอาร์ดี และผู้บริหารจากยัมฯ ที่ดูแลเคเอฟซี 244 สาขา เพื่อเป็นคณะทำงานการวางนโยบาย ทั้งขยายสาขา การตลาด การพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแฟรนไชส์จะเป็นผู้ลงทุนสาขา ส่วนงบการตลาดนั้นจะมาจากการหักเปอร์เซ็นต์มาจากยอดขายของแต่ละรายเพื่อเข้ากองกลาง โดยมีทีมการตลาดของยัมฯ เป็นผู้ดูแลบริหาร

ทยอยขายสาขาในหลายประเทศ

ปัจจุบัน KFC มีสาขาอยู่ทั่วโลกประมาณ 18,875 สาขา ใน 118 ประเทศ โดยยัม เรสเทอรองตส์มีนโยบายเกี่ยวกับการเปิดสาขา KFC ในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศก็เน้นเป็นเจ้าของร้านด้วยตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะปล่อยแฟรนไชส์ให้ท้องถิ่นดูแล อาทิ ในฮ่องกงมี Birdland Ltd เป็นผู้ดูแล, ที่ญี่ปุ่นเป็น KFC Holdings Japan, Ltd ส่วนเกาหลีใต้อยู่ภายใต้เครือ Doosan Group องค์กรทางธุรกิจระดับ “แชโบล” ของทางเกาหลีใต้

สำหรับในประเทศไทย KFC เคยเปิดกิจการครั้งแรกในสมัยสงครามเวียดนามในปี 1970 และปิดตัวไปพร้อมกับการยุติสงครามในอีก 5 ปีต่อมา จนได้มาเปิดใหม่อีกครั้งที่เซ็นทรัลลาดพร้าว จนปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 586 สาขา อยู่ภายใต้การดูแลของยัมฯ 244 สาขา เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป 217 สาขาบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ 130 สาขา

โดยช่วงหลัง ยัมฯ ได้ปรับกลยุทธ์ โดยทยอยขายกิจการให้แฟรนไชส์ท้องถิ่นเป็นคนดูแล อย่างล่าสุด ในเดือนกันยายน 2559 ประกาศขายกิจการสาขาในประเทศจีน ซึ่งยัมเคยถือครองอยู่ถึง 90% ให้แก่บริษัทไพรมาเวลา แคปปิทัล และบริษัทแอนท์จินหรง ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจการเงินการลงทุนภายใต้อาณาจักรอาลีบาบาของแจ็ค หม่า” ด้วยมูลค่า 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท ทำให้บริษัททั้งสองกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทยัม แบรนด์สประเทศจีน ด้วยหุ้นจำนวน 4 เปอร์เซ็นต์และ 6 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ โดยต้องจ่ายรายได้จำนวน 3 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ยัม แบรนด์สเป็นค่าลิขสิทธิ์ในทุกๆ ปี

info_kfc