ผ่าแผนกู้ “โตชิบา” ยื่นล้มละลาย จำใจขายสุดยอดเทคโนโลยี

“โตชิบา” ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอาจจำต้องขายหุ้นในกิจการผลิตชิปความจำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่น รวมทั้งอาจยื่นขอล้มละลายกิจการพลังงานนิวเคลียร์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายสหรัฐฯ เพื่อกอบกู้ธุรกิจให้อยู่รอดได้

เมื่อกว่า 10 ปีก่อนในวันที่โตชิบาซื้อกิจการธุรกิจนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ตั้งเป้าจะเป็นผู้ผลิตเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นรายนี้คงคาดไม่ถึงว่าธุรกิจนี้จะกลายเป็น “จุดตาย” ที่ทำให้เครือโตชิบาอาจต้องล้มลง ต้องเผชิญหนี้สินมากกว่า 712,500 ล้านเยน

โตชิบาเคยหวังว่าบริษัท Westinghouse Electric ที่ซื้อกิจการมาจะช่วยขยายธุรกิจในเครือที่ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่การผลิตเครื่องจักร, รถไฟ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องมือทางการแพทย์ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่คลื่นสึนามิที่ซัดถล่มญี่ปุ่นเมื่อปี 2012 ได้ทำลายความเชื่อมั่นในกิจการพลังงานนิวเคลียร์อย่างย่อยยับ จนทำให้บริษัทขาดทุนมหาศาล

วันนี้ โตชิบาไม่เพียงต้องหาวิธีบันทึกบัญชีผลขาดทุนก้อนโตนี้ แต่ยังต้องกอบกู้บริษัทที่เผชิญกับความเสี่ยงที่มูลค่าหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ หรือก็คือล้มละลายทางพฤตินัย

สื่อมวลชนญี่ปุ่นประเมินหนทางกู้วิกฤตของโตชิบาว่า อาจต้องยื่นขอล้มละลายบริษัท Westinghouse Electric ตามมาตรา 11 ในกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ

การล้มละลายแบบมาตรการ 11 คือ การขอฟื้นฟูกิจการ โดยขออำนาจศาลคุ้มครองให้หยุดพักการชำระหนี้ไว้ชั่วคราว และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ด้วยการลดภาระหนี้สินกับเจ้าหนี้ มาตรการ 11 นี้จะไม่ต้องขายทรัพย์สินเพื่อเอาเงินใช้เจ้าหนี้ แต่จะพยายามรักษาสินทรัพย์ที่ยังมีแนวโน้มที่ทำรายได้ให้กิจการนั้นไว้ ทำให้กิจการยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ฝ่ายบริหารยังคงอยู่และควบคุมกิจการนั้นๆ ได้ เพื่อฟื้นฟูกิจการขึ้นมาใหม่

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยของล้มละลายตามาตรการ 11 ได้แก่ เลย์แมน บราเธอร์, เจเนอรัล มอเตอร์, ไครสเลอร์ และเดลตา แอร์ไลน์ เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ล้วนประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการหลังล้มละลาย และกลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้ง

วงการธุรกิจญี่ปุ่นกังวล ขายสุดยอดเทคโนโลยี

นอกจากยื่นล้มละลายธุรกิจในสหรัฐฯ แล้ว โตชิบายังอาจต้องขายหุ้นในบริษัทผลิตชิปความจำ ซึ่งเป็นธุรกิจของโตชิบาที่ทำรายได้หลัก เพราะโตชิบาเป็นผู้ผลิตชิปความจำรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากบริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้ ชิปความจำนี้เป็นหัวใจของอุปกรณ์อย่างโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์

คาดว่าโตชิบาอาจขายหุ้นในบริษัทผลิตชิปความจำมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะได้เงินมากกว่า 1 ล้านล้านเยน และช่วยรักษากิจการทั้งเครือเอาไว้ได้

แผนกอบกู้กิจการครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโตชิบา แต่ยังสร้างความกังวลว่า สุดยอดเทคโนโลยีของญี่ปุ่นอาจตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ ถึงขนาดที่นายซะดะยุกิ ซะกะกิบะระ ประธานสหพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็ง ได้เรียกร้องขอการสนับสนุนให้แก่โตชิบา เพื่อรักษาให้เทคโนโลยีให้คงอยู่ในญี่ปุ่น

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจำนวนมากที่เคยเป็นนัมเบอร์วัน วันนี้ต้องเผชิญชะตากรรมที่แข่งขันไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีของญี่ปุ่นด้อยกว่า หรือชาวญี่ปุ่นไม่ขยันทำงานเหมือนแต่ก่อน

หากแต่เป็นเพราะบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ยังคงยึดถือวิถีปฏิบัติแบบเดิมที่เชื่องช้าและชาตินิยม ไม่แตกต่างจากสังคมญี่ปุ่นที่แทบไม่เปิดรับชาวต่างชาติทั้งๆ ที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก วิถีทางฝืนโลกเช่นนี้ทำให้ลูกพระอาทิตย์ถึงครา “อัสดง” จนยากที่จะรุ่งโรจน์อีกครั้ง

ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000020265