คนรวยหลายหน้า แห่ขายพิซซ่า เสี่ยแฟรงค์ฟู้ดแลนด์ชิมลางครั้งแรก พิซซ่าสไตล์โอปป้า

ตลาดพิซซ่าไทยหอมหวนจริงๆ หลังจากตระกูลมหากิจศิริเพิ่งได้สิทธิ์ มาสเตอร์แฟรนไชส์พิซซ่า ฮัทจากยัมฯ มาได้หมาดๆ และที่ตามมาติดๆ เป็นคิวของฟู้ดแลนด์ของแฟรงค์ – สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล ที่ไปคว้าเอาแฟรนไชส์มิสเตอร์ พิซซ่า (Mr.Pizza) สัญญาติเกาหลีมาลงขันร่วมเปิดสาขาในไทย

โดยฟู้ดแลนด์ได้จัดตั้งบริษัท มิสเตอร์พิซซ่า (ไทยแลนด์) จำกัด ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ถือหุ้น 75% และทางเกาหลีอีก 25% ด้วยทุนจดทะเบียน 35 ล้านบาท

อธิพล ตีระสงกรานต์ ผู้ช่วยรองประธาน บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 เล่าว่า ทางมิสเตอร์ พิซซ่า มีสาขาในเกาหลีถึง 400 สาขาเมื่อตลาดเริ่มแน่นจึงต้องการขยายออกนอกประเทศและมองว่าประเทศไทยมีโอกาสสูงแม้การแข่งขันจะรุนแรงก็เชื่อว่าด้วยเป็นพิซซ่าสไตล์เกาหลีจะสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นได้

จากการประเมินสภาพการแข่งขันตลาดพิซซ่าของไทยเวลานี้ มีมูลค่า 6,000 – 7,000 ล้านบาท ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเน้นตลาดแมส และแข่งกันด้วยราคา และยังมีแบรนด์พิซซ่าเฮาส์ทั่วไปที่ไม่มีสาขา เป็นอิตาเลียนโดยเชฟที่ออกมาเปิดเอง จะมีราคาจะสูง ฟู้ดแลนด์จึงวางโพสิชั่นให้มิสเตอร์ พิซซ่าระดับพรีเมียม โดยอยู่กึ่งกลางระหว่างแมสพิซซ่าเฮาส์ จับกลุ่มเป้าหมายระดับบีขึ้นไป ราคาสูงกว่าพิซซ่าแมสราว 30% แต่ขนาดของพิซซ่าจะใหญ่กว่า 1-1.5 นิ้ว และใช้ความเป็นพิซซ่าเกาหลีมาสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นที่เป็นพิซซ่าสไตล์อเมริกัน

ตลาดพิซซ่าในไทยมีการแข่งขันสูง การที่เราจะเข้ามาต้องวางจุดยืนที่แตกต่างไปเลยไม่งั้นก็สู้ไม่ได้ มองเห็นโอกาสในกลุ่มพรีเมียมเติบโต และวัฒนธรรมเกาหลียังคงเป็นที่นิยมในไทย จึงใช้ความเป็นเกาหลีเป็นจุดเด่น ที่ร้านก็จะมีเชฟคนเกาหลีที่เป็นโอปป้าของแบรนด์ประจำร้านอยู่ 1 คนทุกสาขา

อธิพล บอกถึงแนวคิด

กลยุทธ์ในช่วงแรกมิสเตอร์พิซซ่า จะใช้โปรโมชั่นมาช่วยสร้างการรับรู้ วางงบการตลาด 2-2.5% ของยอดขาย ด้วยการแจกคูปองส่วนลด 20% สำหรับกลุ่มผู้หญิงในวันจันทร์ เพราะในประเทศเกาหลีผู้หญิงจะนิยมทานพิซซ่ามากกว่า 80% แต่ในประเทศไทยผู้หญิงจะกลัวอ้วน ไม่ค่อยทานเยอะ สัดส่วนการทานน่าจะอยู่ที่ 50% แต่ด้วยความที่ไม่นิยมทานคนเดียว จะต้องชวนเพื่อน มากับแฟน หรือครอบครัว การทำโปรผู้หญิงก็สร้างความแตกต่างในตลาดด้วย

5 ปี 50 สาขา

ในช่วงแรกมิสเตอร์พิซซ่าทานในร้าน ยังไม่มีบริการเดลิเวอรี่จนกว่าจะมีสาขามากเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ของแบรนด์ แต่จะใช้จุดเด่นที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมงที่สาขาเดอะ สตรีท รัชดา ทำให้มีรายได้เพิ่มในตอนกลางคืน 30% เมื่อขยายสาขาครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ แล้วจึงมีแผนทำเดลิเวอรี่

หลังจากทดลองเปิดสาขาสาขาเดอะ สตรีท รัชดา มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แผนต่อจากนี้ มีการขยายเพิ่มอีก 3 สาขา ได้แก่ เทอมินัล 21 โคราช, เดอะ พรอมานาด และซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ตั้งเป้าสิ้นปีเปิดให้ครบ 5 สาขา

ภายใน 5 ปีตั้งเป้าขยายให้ครบ 50 สาขา ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 12-15 ล้านบาท/สาขา มี 2 รูปแบบ 40% เป็นร้านแบบฟูลเซอร์วิส นั่งทานในร้าน ใช้เนื้อที่ 180-200 ตารางเมตร และ 60% เป็นรูปแบบคีออส เนื้อที่ราว 15-20 ตารางเมตร

ทำเลที่จะไปเน้นไปกับศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จะไม่เน้นปิดไปพร้อมกับฟู้ดแลนด์ เพราะทราฟิกของฟู้ดแลนด์เฉลี่ย 2,000 คน/สาขาเท่านั้น เมื่อเทียบกับในห้างอื่นๆ ทราฟิกเป็นหมื่น เป็นแสน และกลุ่มลูกค้าของฟู้ดแลนด์จะค่อนข้างมีอายุ อาจจะไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของมิสเตอร์ พิซซ่าที่อายุ 20-35 ปี ถ้าจะเปิดสนใจเป็นคีออสที่ซื้อกลับบ้านมากกว่า

เตรียมเปิดบริษัทกลางดูแลธุรกิจอาหาร

นอกจากมิสเตอร์ พิซซ่าที่เข้ามาเติมพอร์ตร้านอาหารของฟู้ดแลนด์แล้ว ยังมีธุรกิจร้านอาหารในเครืออย่างถูกและดี และทิม โฮ วัน ร้านติ่มซำจากฮ่องกง ได้ซื้อแฟรนไชส์มาเปิดที่ไทยได้ 2 ปีแล้ว และในปีนี้เตรียมนำเข้าอีก 2 แบรนด์ ระดับมิชลินสตาร์ ร้านราเมน Thuta และฮอคเกอร์แชน

ฟู้ดแลนด์เตรียมเปิดบริษัทใหม่เป็นบริษัทกลางที่จะลงทุนและบริหารธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะที่เป็นแบรนด์นำเข้า จะดูแลในการเช่าที่หรือบริหารครัวกลางทำให้การจัดการง่ายขึ้น

ครัวกลางของมิสเตอร์ พิซซ่าได้เช่าครัวกลางของโกดิล็อกซ์ เบคช้อปอยู่ที่ถนนบางนาตราด เป็นบริษัทเบเกอรี่ที่ทำแป้งอยู่แล้ว ในอนาคตถ้ามีการขยายสาขามากขึ้นอาจจะทำการเทกโอเวอร์บริษัทนี้แล้วลงทุนทำครัวกลาง

การที่ฟู้ดแลนด์มาลุยร้านอาหารมากขึ้น นอกจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันแล้ว และร้านอาหารมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารเป็นเหมือนโชว์เคสในการบอกถึงคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ในร้านมาจากฟู้ดแลนด์ ในร้านถูกและดีใช้วัตถุดิบจากฟู้ดแลนด์ 99% ส่วนมิสเตอร์ พิซซ่าใช้วัตถุดิบจากฟู้ดแลนด์ 90%