สีสันธุรกิจ “มหากิจศิริ” ในยุค ‘เฉลิมชัย’

ตระกูลมหากิจศิริเข้ามาสร้างสีสันให้กับธุรกิจอีกครั้ง กับการซื้อแฟรนไชส์ทาโก้ เบลล์ ร้านอาหารเม็กซิกัน จากค่ายยัมส์ นับเป็นแฟรนไชส์แบรนด์สอง ต่อเนื่องจากที่เคยซื้อแฟรนไชส์พิซซ่า ฮัท” มาแล้วก่อนหน้านี้ นับเป็นการแตกพอร์ตเข้าส่ธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว หลังจากเคยทำแต่อุตสาหกรรมหนักมาตลอด

ก่อนหน้านี้ตระกูล มหากิจศิริ ติดอันดับความมั่งคั่งลำดับที่ 22 มูลค่าทรัพย์สิน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2018 จัดอันดับโดยฟอร์บส์

ความร่ำรวยของ มหากิจศิริ เกาะกลุ่มกันมากับตระกูล กาญจนพาสน์ เจ้าของบีทีเอส และตระกูล วิจิตรพงศ์พันธุ์ เจ้าของพฤกษา

มหากิจศิริเป็นตระกูลเก่าแก่ที่ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 100 ปี เป็นเจ้าของกิจการเดินเรือขนส่งและโลจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีทีเอ

แต่ ภาพจำ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักตระกูลนี้คือ รับจ้างผลิตให้กับเนสกาแฟ และมีลูกชายคนเดียวที่โด่งดังจากวงการเซเลบที่เข้ามาสานต่อกิจการครอบครัวอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา

ในวัยที่ชีวิตเริ่มต้นที่เลขเฉลิมชัย มหากิจศิริ กับการดูแลพอร์ตธุรกิจแสนล้าน เขาเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่เข้ามาฉีกแนวธุรกิจครอบครัว จาก อุตสาหกรรมหนัก มาสู่ อาหาร ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย กับความเบ่งบานของเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกระแสไลฟ์สไตล์ท่วมท้น

ทีทีเอเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีที่เน้นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ปัจจุบันบริษัทขยายกิ่งก้านธุรกิจครอบคลุมใน 9 อุตสาหกรรมหลักคือ ขนส่งทางเรือ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ เกษตร อาหาร บันเทิง สินค้าอุปโภคบริโภค และอีคอมเมิร์ซ โดยถ้าไล่เลียงแบรนด์แต่ละกลุ่มธุรกิจ ไม่มีอะไรเกินธุรกิจอาหาร ที่ลงทุนนำเข้าแบรนด์ดังสารพัดชาติ ยาวเป็นหางว่าว

เฉลิมชัยเคยบอกว่า ธุรกิจอาหารเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เป็นเรื่องของฝีมือล้วนๆ ไม่ได้อิงกับปัจจัยภายนอกมากเท่ากับธุรกิจเดินเรือหรือธุรกิจถ่านหิน การหันมาเน้นของกินมากขึ้นถึงจะยังไม่ได้สร้างรายได้อู้ฟู่เหมือนอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจและสร้างรายได้แน่นอนระยะยาว

หลายขวบปีมานี้เราจึงได้เห็นธุรกิจอาหารนานาชาติสารพัดร้านขนมนมเนยและเครื่องดื่มแบรนด์ดังภายใต้พอร์ตมหากิจศิริเปิดตัวกันเป็นว่าเล่นเกินสิบนิ้วมือ มีแบรนด์อะไรกันบ้างมาดูกัน

  1. Muteki ร้านอาหารญี่ปุ่น
  2. Cinnabon ร้านเบเกอรี่
  3. Pie face ร้านเบเกอรี่ประเภทเค้ก
  4. Ihop ร้านเบเกอรี่ ประเภท แพนเค้ก วาฟเฟิล
  5. ปิแอร์ เฮอร์เม ปารีส ร้านขนมคุกกี้มาการอง
  6. คริสปี้ ครีม ร้านขนมโดนัท
  7. Mugendi ร้านอาหารญี่ปุ่น
  8. Bulgogibrothers ร้านอาหารเกาหลี
  9. Kyushu jangara ร้านอาหารญี่ปุ่น ประเภทราเมน
  10. Jumba juice ร้านเครื่องดื่ม น้ำผักผลไม้
  11. Maison de la truffe ร้านอาหารฝรั่งเศส
  12. Coffee gallery ร้านอาหารและกาแฟ
  13. แฟรนไชส์พิซซ่าฮัท
  14. แฟรนไชส์ทาโกเบลล์ อาหารจานด่วนสไตล์เม็กซิกัน

และดูแนวโน้มว่าเฉลิมชัยคงไม่หยุดเพียงเท่านี้แบบเดียวกับโฆษณาดีแทค สัญญาว่าจะไม่หยุดเพราะถ้าคิดหยุดเมื่อไหร่มีแววได้จอดเมื่อนั้น

โลกมาถึงจุดเปลี่ยนและทีทีเอก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อกอดคอไปกับโลก ต้องยอมรับว่าสไตล์เฉพาะตัวของเฉลิมชัยทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวิธีคิดของคนรวยได้มากขึ้น เขาเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ชีวิตและเอามาต่อยอดทันทีเมื่อมีโอกาส

เฉลิมชัยปรากฏตัวครั้งแรกในละครดังค่ายเอ็กแซ็กท์ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่อยากอาศัยบารมีพ่อหากิน โลกของความบันเทิงทำให้เขาได้ปลดปล่อยตัวเอง และเมื่อกระแสเกาหลีมาแรงเขาก็เปิดบริษัทจัดคอนเสิร์ตศิลปินดังเกาหลีและคิดอยากมีหนังเป็นของตัวเองเพียงเพราะว่าได้ดูอยู่ทุกวัน

ผมเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ คิดอะไรแปลกๆ ที่คนอื่นไม่ค่อยทำกัน

เขาเคยบอกเอาไว้

เฉลิมชัยแจ้งเกิดในฐานะดาราเซเลบแต่เนื้อแท้เขาคือนักธุรกิจโดยสายเลือด จากการปลูกฝังแบบแมนๆ ของผู้เป็นพ่อ ประยุทธ มหากิจศิริ ที่เปิดโอกาสให้คิดเอง ทำเอง ตัดสินใจเอง และกล้าเจ็บเอง ถึงจุดหนึ่งเฉลิมชัยบอกว่า เขาถอดแบบความกล้าได้กล้าเสียมาจากคุณพ่อ และเมื่อรวมเข้ากับความอินดี้ของตัวเอง การเติบโตของทีทีเอในยุคของเฉลิมชัย จึงมีสีสันธุรกิจที่ละลานตาอยู่ไม่น้อย ไม่ต่างอะไรกับขนมมาการอง

เฉลิมชัยเป็นผู้ชายสายกินตัวยง การแตกตัวธุรกิจอาหารราวกับอมีบาก็มาจากที่เขาช่างกินนี่แหละ ถึงแม้ว่าร้านอาหารหลายแห่งของเขาจะแพงหูฉี่แต่เขากลับมีนิสัยติดดินและมีรสนิยมชอบกินข้าวแกงด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ได้กินหลายอย่าง วันไหนได้ราดกับข้าว 4 อย่าง เป็นได้กินอิ่ม นอนหลับและฝันดี

เขาบอกว่าอาหารริมทางคือวิถีที่คนเราโตกันมาแบบนี้ คนไทยโตมากับข้าวราดแกงและมันเป็นชีวิตจริงตอนเด็กๆ เลิกเรียนมา มีอะไรขายข้างถนนก็กินก่อน เพราะมันจับต้องได้ง่าย

การขยันนำเข้าร้านอาหารแบรนด์ดังที่แข็งแรงและโตเต็มวัยแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งของสีสันการลงทุนในแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย จับต้องได้ และเป็นหน่วยธุรกิจที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัทแม่ทีทีเอ.