ราชวงศ์เก่าแก่ในยุโรป “ลิกเตนสไตน์” รุกธุรกิจ “ไพรเวทแบงก์” บริหารความมั่งคั่งไร้พรมแดน ดูแลความรวยให้เศรษฐีไทย เปิดสาขา LGT แห่งที่ 3 ในเอเชีย ย้ำเศรษฐีทั่วโลกชอบลงทุนแบบเดียวกัน “ธุรกิจตัวเอง-อสังหาฯ-ตลาดเงินตลาดทุน”

ราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตน์ (Princely House of Liechtenstein) เป็นเจ้าของและบริหาร LGT กลุ่มบริษัทด้านการบริการไพรเวทแบงก์และการจัดการสินทรัพย์ซึ่งเป็นเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินธุรกิจมาเกือบร้อยปี มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองวาดุซ ประเทศลิกเตนสไตน์ ในช่วงกลางปี พ.. 2561 บริหารสินทรัพย์รวมมูลค่าถึง 2.075 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท สำหรับในเอเชีย LGT เป็นไพรเวทแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 12 มีมูลค่าสินทรัพย์ที่บริหารมากกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.9 ล้านล้านบาท อันดับความน่าเชื่อถือของ LGT Bank อยู่ที่ Aa2 จากการจัดอันดับของมูดี้ส์ และ A+ จากแสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส มีการวัดความแข็งแกร่งทางการเงินโดยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ในระดับ 18.7% มีฐานะการเงินมั่นคง มีพนักงานมากกว่า 3,000 คน ในสำนักงานมากกว่า 20 แห่งในยุโรป เอเชีย อเมริกา และตะวันออกกลาง

ราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตน์ในยุโรปเก่าแก่กว่า 900 ปี มีธุรกิจครอบครัวคือ LGT Bank ก่อตั้งในปี 1920 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรมและป่าไม้ ประเทศลิกเตนสไตน์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป มีเศรษฐกิจที่เติบโตเข้มแข็ง ไม่มีภาระหนี้สาธารณะ มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ระดับ AAA มีกฎหมายการเงินมากว่า 150 ปี และเป็นศูนย์กลางการเงินในอันดับต้นๆ ของโลก

เมื่อวานนี้ 6 มีนาคม 2562 LGT เปิดสำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อบริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย) จำกัด โดยเจ้าชายฟิลลิพ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสไตน์ (H.S.H. Prince Philipp von und zu Liechtenstein) ประธานบริษัท LGT เจ้าชายฮูเบอร์ตัส อลอยซ์ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสไตน์ (H.S.H. Prince Hubertus Alois von und zu Liechtenstein) กรรมการบริหาร LGT ได้ทรงร่วมในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.เฮนรี ไลเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LGT Private Banking Asia และคณะผู้บริหารของสำนักงานแห่งใหม่ในประเทศไทย

LGT ในไทยจะขับเคลื่อนและขยายตัวทางการตลาดภายใต้การดูแลโดยกานต์ คฤหเดชซึ่งมีประสบการณ์ด้านไพรเวทแบก์มากว่า 20 ปี และมีเอกภพ เมฆกัลป์จายที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนและการบริหารความมั่งคั่งมากว่า 16 ปี ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในเอเชีย เนื่องจากประเทศไทยเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่น่าสนใจมากมาย โดยมีฐานลูกค้า นักลงทุนไทยมีการออมในระดับสูง ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลของไทยเปิดให้นักลงทุนขยายการลงทุนไปทั่วโลก ดังนั้น การเปิดสำนักงานประจำในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแห่งที่ 3 ในเอเชีย เพื่อบริการด้านการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งระดับโลกแก่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ (high net worth individuals) และลูกค้าระดับองค์กร จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถให้คำปรึกษาและสนับสนุนลูกค้าชาวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานด้านไพรเวทแบงก์ของ LGT ในฮ่องกงและสิงคโปร์อีกด้วยซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาภูมิภาคนี้เติบโตได้อย่างน่าพอใจ

สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลกที่มีความมั่นคงสูง โดยทั่วไปจะลงทุนในธุรกิจของตัวเองเป็นหลักในอันดับแรก แล้วจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นจะลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนซึ่งมีมากขึ้น และที่สำคัญยังขยายการลงทุนไปต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสให้ LGT นำเสนอความเชี่ยวชาญในการบริหารความมั่งคั่งแบบไร้พรมแดน นอกจากนี้ LGT ยังบริหารทรัพย์สินให้กับราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ดังนั้น บริการที่นำเสนอต่อราชวงศ์จึงนำมาให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไปด้วย ขณะที่การมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มั่นคง เครือข่ายระหว่างประเทศที่ครอบคลุม แนวทางการดำเนินงานที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษาด้านการดูแลสินทรัพย์ รวมทั้งการโฟกัสหรือมุ่งให้บริการเฉพาะไพรเวทแบงก์อย่างเดียว เป็นจุดเด่นดึงดูดลูกค้า

ไทยมีมหาเศรษฐีมากเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย / มหาเศรษฐีทั่วโลกชอบลงทุนอะไร

เว็บไซต์ maruey.com ให้ข้อมูลรายงาน The Wealth Report 2018 ของ Knight Frank ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ทำให้รู้ว่า เมื่อปี 2560 ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท อยู่ทั้งหมด 770 คน จากจำนวนทั้งหมด 129,730 คนทั่วโลก มากเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และได้รับการคาดหมายว่าในปี 2565 จำนวนมหาเศรษฐีไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 210 คนเป็น 980 คน

สำหรับพอร์ตโฟลิโอของมหาเศรษฐีทั่วโลกพบว่า มหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มการลงทุนในหุ้นมากที่สุด อยู่ที่ 52% โดยมหาเศรษฐีชาวเอเชียลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น อยู่ที่ 78% รองลงมาเป็นทวีปอเมริกาเหนือ อยู่ที่ 65% ละตินอเมริกา 62% และถ้าประเมินจากผลตอบแทนจากตลาดหุ้นในปี 2560 แล้วคนรวยแล้วจะรวยขึ้น

ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่อยู่อาศัยและที่พักเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ได้รับความนิยมมากขึ้นโดยมีการลงทุนเพิ่มถึง 40% ส่วนตราสารหนี้กำลังลำบากเพราะอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การถือครองตราสารหนี้อายุยาวมีโอกาสขาดทุนจากราคาซื้อขาย จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้มหาเศรษฐีลงทุนเพิ่มพียง 6% เช่นเดียวกับทองคำซึ่งมีมหาเศรษฐีลงทุนเพิ่มเพียง 15% เท่านั้น และหันไปถือเงินสดมากขึ้น เฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 29%

ในส่วนของของสะสมไม่ว่าจะเป็น ชิ้นงานศิลปะ รถ ไวน์ และอื่นๆ ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม ซึ่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มหาเศรษฐีในทวีปออสเตรเลียมีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 53% และเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 29% แต่เกือบครึ่งหนึ่งของมหาเศรษฐีในปัจจุบัน นอกจากจะสะสมด้วยความชื่นชอบส่วนตัวแล้ว ยังนับให้ของสะสมเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า นอกจากจะสุขใจที่ได้เป็นเจ้าของแล้ว กำไรที่ได้ยังน่าชื่นใจอีกด้วย โดยเฉพาะชิ้นงานศิลปะ ไวน์ และนาฬิกาที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในปี 2560 เมื่อเทียบกับการสะสมประเภทอื่นๆ

นอกจากนี้ สินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ไม่มีการพูดถึงในรายงานของปีก่อนหน้า นั่นคือ Cryptocurrency ซึ่งในปีที่ผ่านมาราคา Cryptocurrency บวกขึ้นหลายเท่าตัว พบว่ามหาเศรษฐีทั่วโลกมีสัดส่วนการลงทุนใน “Cryptocurrency“ เพิ่มขึ้นถึง 16% ทวีปที่มีการลงทุนเพิ่มมากที่สุดคือ ละตินอเมริกา 33% รองมาเป็นรัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีการลงทุนเพิ่ม 27% และแอฟริกา 24%