จะเป็น เน็ตบุ๊ก อีพีซี หรือ โลว์คอสโน้ตบุ๊ก จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ หากแต่คอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ บางเบา เล็กสะใจ แถมมีราคาถูก ทำลายคำว่า “ยิ่งเล็ก ยิ่งแพง” ได้กลายสุดยอดแห่งความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโน้ตบุ๊กในศตวรรษนี้ และเป็นสงครามครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเก่า
การแพร่หลายของตลาดเน็ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์จอเล็กกว่ากระดาษขนาด A5 หรือต่ำกว่า 10 นิ้ว ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้งานง่ายๆ เช่นเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือการใช้งานเอกสาร ตั้งแต่ช่วงปลายปี และจะมีการทยอยเปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้ไอดีซีถึงกับปรับตัวเลขคาดการณ์ยอดขายโน้ตบุ๊กในปี 2551 ในช่วงต้นปีทันที
ไอดีซีเชื่อว่าโน้ตบุ๊กของปีนี้ทั้งปี ถ้าบวกเน็ตบุ๊กเข้าไปแล้วจะมียอดขายมากถึง 124,000 เครื่อง ส่วนพีซีนั้นหล่นมาอยู่ที่ 960,000 เครื่อง ขณะที่ผู้บริหารของค่ายโน้ตบุ๊กบางรายมองยิ่งไปกว่านั้น เขาเชื่อว่าจำนวนที่เพิ่มขึ้นของโน้ตบุ๊กในปีนี้ทั้งปีกว่า 300,000 เครื่องเป็นยอดขายของเน็ตบุ๊กแทบทั้งหมด
ที่มั่นใจถึงเพียงนั้นเพราะการเติบโตของอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ ไว-ไฟ ที่ทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัย ร้านกาแฟ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ โรงแรมเท่านั้น แต่ยังเชื่อมต่อเน็ตได้ในสวนสาธารณะ ร้านขายก๋วยเตี๋ยว หรือร้านกาแฟธรรมดาในกรุงเทพฯ เมื่อสัญญาณไวไฟ จาก Hot Spot ของทรู ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทรูและกรุงเทพมหานคร ในโครงการ Green Bangkok Wi-Fi ที่เปิดโอกาสให้คนได้ใช้ไวไฟจาก Hot Spot ของทรูฟรีกว่า 15,000 จุดทั่วประเทศ
ความสะดวกในการพกพาเน็ตบุ๊กไปใช้งาน และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ที่ไหนก็ได้ หรือชีวิตโมบิลิตี้เป็นที่พบเห็นมากขึ้นนับจากนี้ และผลจากการแข่งขันทำให้ราคาของอินเทอร์เน็ตไร้สายลดต่ำลงเรื่อยๆ
ยังไม่ต้องพูดถึงการมาของ 3 G ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น และราคาค่าบริการที่ต่ำลง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ยิ่งทำให้เน็ทพีซีกลายเป็นเค้กชิ้นใหม่ ที่ค่ายผู้ผลิตโน้ตบุ๊กไม่ยอมพลาดโอกาสนี้
โน้ตบุ๊กเครื่องที่สอง
ด้วยขนาดเครื่องที่เล็กลง ราคาถูก สีสันสดใส ลวดลาย ไม่เพียงแต่เน็ตบุ๊กจะสร้างโอกาสในเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ยังได้กลุ่มผู้ใช้โน้ตบุ๊กที่เปลี่ยนใจยอมควักเงินจ่ายเงินซื้อเน็ตบุ๊กเป็นเครื่องที่สองไว้พกพาไปใช้งาน แทนโน้ตบุ๊กจอใหญ่หนักอึ้ง ที่ถูกนำไปวางไว้บนโต๊ะที่ทำงานหรือที่บ้าน
“แนวโน้มผู้ใช้งานโน้ตบุ๊กเครื่องที่สอง จะเน้นการพกพา และการใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย คนกลุ่มนี้มักจะให้ความสำคัญกับอินเทอร์เน็ตมาก หรือที่เรียกว่า Internet Centric หลายคนใช้เพื่อเข้าถึงอีเมล ใช้เว็บไซต์ และเข้าโปรแกรมแชต” บุญชัย เงาวิศิษฎ์กุล ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ บริษัทเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ให้ความเห็น
ผู้บริหารของเอเซอร์ พบว่า คนที่จะอยู่โลกอินเทอร์เน็ตมากสุด คือกลุ่มคนทำงาน และกลุ่มคนเริ่มทำงาน จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เอเซอร์ต้องคว้ามาอยู่ในมือให้อยู่หมัด
ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง MSI แบรนด์ไต้หวัน ที่พบว่า Segment ของเน็ตบุ๊กในสายตาของ MSI มีถึง 3 กลุ่ม หนึ่ง คือกลุ่มที่มีโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว และกำลังมองหาโน้ตบุ๊กเครื่องที่ 2 หรือ 3 เขาเหล่านี้ต้องการอะไรที่สบายตัวขึ้น เบา และไม่จำเป็นต้องดีที่สุดก็ได้ แต่ว่าสามารถใช้งานที่ต้องการ ทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่
กลุ่มที่สอง Pre-teen หรือก่อนจะโตเป็นหนุ่มสาว อายุ 14-15 ปีขึ้นไป เด็กกลุ่มนี้เกิดมาท่ามกลางโลกของการมีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เด็กมหาวิทยาลัยหลายรายเริ่มที่จะมองหาเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองกันบ้างแล้ว
และสามคือกลุ่มผู้หญิงที่มองเห็นเน็ตบุ๊กเป็นเครื่องประดับ หรือ Accessories ไม่ใหญ่เทอะทะ และสีสันที่หลากหลายทั้งขาว ดำ และชมพู กลายเป็นตัวเลือกของกลุ่มผู้หญิงไปโดยปริยาย
ในความเป็นจริงแล้ว คนไทยรู้จักคอมพิวเตอร์ร่างเล็กกะทัดรัด ใส่กระเป๋าสะพายผู้หญิงได้แบบสบายๆ จากค่าย Asus ในชื่อ “อีพีซี” (จริงๆ แล้วชื่อเต็มคือ eeepc) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2550 และว่ากันว่า Asus ก็ยังครองตลาดส่วนใหญ่เอาไว้จนถึงทุกวันนี้ และไม่น่าจะมีใครมาล้มแชมป์ได้ง่ายๆ ด้วยความได้เปรียบของการตุนสต็อกชิปเซตในรุ่นที่อินเทลผลิตออกมาสำหรับคอมพิวเตอร์รุ่นเล็กเอาไว้ในมือเป็นจำนวนมาก
“เราต้องการให้คนเข้าใจว่าเราผลิต eeepc เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ และออกแบบมาให้คนที่ใช้ eeepc เป็นโน้ตบุ๊กเครื่องที่สอง สำหรับใช้พกพาไปไหนมาไหนเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พอๆ กับแม่บ้านที่ไม่ต้องการเครื่องกำลังสูงๆ แต่ต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องไปซื้อโน้ตบุ๊กแพงๆ มาใช้” พรเทพ วัชรอำนวย ผู้จัดการประจำประเทศ บริษัทอัสซุเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอก
พรเทพ อธิบายว่า ในช่วงแรกนั้นลูกค้าค่อนข้างสับสนว่า eeepc ของเขาคือโน้ตบุ๊กหรือไม่ และหากไม่ใช่มันคืออะไร ใช้อย่างไร คนส่วนใหญ่ที่มาซื้อจึงมาในรูปแบบของการมาพร้อมข้อสงสัย ในช่วงแรกๆ พนักงานขายจึงเสียเวลาไปกับการอธิบายหน้าร้านเป็นจำนวนมาก ในเวลาต่อมา Asus เลยหันมาใช้วิธีการเขียนใบปลิว 10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ eeepc และใช้แจกลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้อ่านศึกษาก่อน
“เรายังพบว่าลูกค้าของเราส่วนใหญ่ใช้จอ 15 นิ้วอยู่ และหลายคนกำลังมองหาโน้ตบุ๊กจอ 12 นิ้ว แต่เนื่องจากราคามันแพงเกินไป ตั้งแต่ 35,000 ขึ้นไป และนั่นไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากลูกค้าต้องการมองหาโน้ตบุ๊กเครื่องเล็ก ใช้งานที่ไหนก็ได้ และราคาย่อมเยา ในเวลานั้น eeepc จึงกลายเป็นคำตอบ” พรเทพเสริม
อะตอมจุดพลิกผันของ “เน็ตบุ๊ก”
ก่อนหน้านี้ ไอดีซีเคยให้ความเห็นว่า “โน๊ตบุ๊ก” ในความหมายของไอดีซีคือคอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ในตัว ดังนั้นโน้ตบุ๊กยี่ห้อไหน หน้าจอขนาดใดก็ตามที่ใช้อุปกรณ์อื่นในการบันทึกข้อมูล หรือไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์ ไอดีซีไม่ถือว่าเป็น “โน้ตบุ๊ก”
ตัวเลขยอดขายทั้งปีล่าสุดหรือตัวเลขคาดการณ์ในปีนี้ทั้งปี จึงไม่สะท้อนให้เห็นความจริงของสภาพตลาดโน้ตบุ๊กเครื่องเล็ก ที่ออกแบบมาให้คนใช้งานเบื้องต้นอย่างที่เรียกว่า “เน็ตบุ๊ก” อย่างที่ควรจะเป็น
ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กยี่ห้อใด มีฮาร์ดดิสก์หรือไม่ แต่หากจอเล็กกว่า 10 นิ้ว จะถูกเหมารวมไปเสียแล้วว่าเป็น “โน้ตบุ๊กเครื่องที่สอง” ไปในท้ายที่สุด
ดูเหมือนเทรนด์จะเป็นแบบนั้น และยิ่งตอกย้ำความแรงของ “เน็ตบุ๊ก” ยิ่งขึ้นด้วยการมาของ “อะตอม” (Atom) ที่ “อินเทล” ออกแบบมาให้มีขนาดจิ๋ว กินไฟต่ำ มีราคาไม่แพงใหม่
อะตอม ได้สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการโน้ตบุ๊กทั่วไป เพราะการที่ซีพียูเล็ก สามารถทำให้ผู้ผลิตออกแบบเมนบอร์ดให้มีขนาดเล็กสอดคล้องกัน ตัวเครื่องโดยรวมจึงเล็กลงเหลือแค่ขนาดหน้ากระดาษ A5 มีน้ำหนักต่ำกว่า 1 กิโลกรัม และในเวลาเดียวกัน จอภาพจึงถูกลดไซส์ลงมาให้เหลือได้ต่ำกว่า 10 นิ้ว จากขนาดปกติก่อนหน้าที่คนคุ้นเคยอย่างขนาด 14.1-12.1 นิ้ว
บวกกับการพยายามสร้างความเข้าใจผู้ใช้ตั้งแต่แรกว่า หากคุณจะใช้เน็ตบุ๊กคุณต้องเข้าใจว่าเขาออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานไม่หนักเกินไป ใช้เน็ต ใช้เวิร์ด โปรเซสซิ่ง และจอเล็กเพราะต้องการให้คนพกพาได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ราคาของเน็ตบุ๊กโดยรวมถูกลงอย่างเห็นชัด และแทนที่โน้ตบุ๊กรุ่นก่อนหน้าหากเล็กจะแพง กลายเป็นตำนานไปในทันที
นับตั้งแต่อินเทลเปิดตัวอะตอมเป็นต้นมา ผู้มาก่อนอย่าง Asus ก็ไม่ได้เป็นเพียงรายเดียวที่จะสนุกกับการครองตลาดโน้ตบุ๊กเครื่องเล็กกว่ามาตรฐานที่คนไทยเคยรู้จักอีกต่อไป
มาก่อนชนะก่อนจริงหรือ?
อันที่จริงแล้วก่อนการเปิดตัวอะตอม ค่ายอินเทลพยายามจะโปรโมตความเป็น “เน็ตบุ๊ก” ซึ่งเป็นชื่อที่อินเทลขอร้องให้ค่ายโน้ตบุ๊กเรียกตามอินเทลอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการจับมือกับ Local Brand นำเครื่องเน็ตบุ๊กรุ่นที่อินเทลเคยผลิตออกมาโปรโมตแปะชื่อแบรนด์ของพันธมิตรและวางขายในตลาดกันมาบ้างแล้ว และหนึ่งในนั้นก็คือ “อีโคพีซี” ของ เอสวีโอเอ โดยตั้งราคาเริ่มแรกไว้ที่ 9,000 บาท เท่านั้น
ขณะที่ “แอสไปร์ วัน” (Aspire One) เน็ตบุ๊กของค่ายเอเซอร์ ต้องอาศัยการรอให้อินเทลเปิดตัวอะตอมอีกกว่าครึ่งค่อนปี ถึงจะได้ฤกษ์เปิดตัวและวางขายเน็ตบุ๊กที่ใช้อะตอมเป็นรายแรกของโลก และการขายก็แตกต่างจากที่เคยเป็น คือผู้ซื้อต้องสั่งขอ และต้องรอคิวการผลิตและนำเข้ากว่าจะได้รับของก็นานหลายสัปดาห์ แต่ด้วยราคาที่เอเซอร์ตั้งไว้ที่ 12,900 บาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าราคาตลาดโน้ตบุ๊กจอเล็กทั่วไป หรือแม้แต่โน้ตบุ๊กหน้าจอกว้างรุ่นต่ำสุด 12,900 บาท ก็ยังถือว่าถูกกว่า แม้ประสิทธิภาพที่ได้จะแตกต่างกัน ก็ทำให้เอเซอร์กำลังไปได้ดี
ล่าสุดราคาของ “แอสไปร์ วัน” รุ่นแรกซึ่งไม่มีฮาร์ดดิสก์ในตัว และใช้ลีนุกซ์แถมติดตัว แบ่งแยกหน้าจอเมื่อเปิดเครื่องเป็นหมวดหมู่การใช้งาน ทั้งการใช้งานเอกสาร การสนทนา หรือแม้แต่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ถูกหั่นลงมาเหลือไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทในช่วงไม่กี่เดือนหลังเปิดตัวทำตลาด
นั่นเป็นเพราะการมาของเน็ตบุ๊กรุ่นใหม่ของเอเซอร์ ที่เสริมจำนวนของความจุด้วยการเลือกใช้ฮาร์ดดิสก์ในตัวที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเอเซอร์ใช้กลยุทธ์เหมือนรถยนต์เปลี่ยนรุ่น เสริมไส้ให้ดูน่าใช้ ใส่ฮาร์ดดิสก์ให้มากกว่าเดิม และถือโอกาสเพิ่มราคาไปในตัวที่ระดับ 19,900 บาท
ว่ากันว่านี่คือจุดได้เปรียบของการเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดโน้ตบุ๊กของไทย การขายของราคาถูก คือสิ่งที่เอเซอร์ถนัดกว่าใครในตลาด และเมื่อเอเซอร์ก็ยอมรับว่า “เน็ตบุ๊ก” ไม่ต่างอะไรกับ “Low Cost Notebook” ดังนั้นกลยุทธ์ของเอเซอร์ไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันแทบทุกรุ่นเหมือนอย่างคนอื่นเขา แต่รุ่นเดียวกัน แต่แบ่งไส้ในให้เลือกหลายแบบ และหั่นราคาสำหรับรุ่นต่ำสุด ไล่ระดับราคาตามไส้ในที่มี นี่คือสิ่งที่เอเซอร์ปฏิบัติมาตลอด
เอเซอร์ยังจะทยอยเปิดตัวเน็ตบุ๊กลงตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้ายอดขาย100,000 เครื่องในปีนี้ ขณะที่ Asus เจ้าตลาดเดิม ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับโน้ตบุ๊กเครื่องเล็ก ซึ่งนโยบายระดับโลกของ Asus ของไต้หวันที่เคยประกาศไว้นั้น เน้นไปยังอุปกรณ์ไอทีที่จะเล็กลงอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงพีซีเครื่องเล็กที่ Asus จะยังคงเรียกว่า “e family“หรือสินค้าในตระกูล eee เหมือนที่ผ่านมา
ไม่นับรวมกับแบรนด์อื่นๆ ที่ทยอยเปิดตัวชิงเค้กก้อนโตนี้กันอย่างหนาตาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “IdeaPad S9 และ S10” เน็ตบุ๊กตัวแรกจากเลอโนโว ที่มีขนาด 8.9 นิ้วและ 10 นิ้ว ซึ่งจะเริ่มวางขายในเดือนกันยายน
หรือจะเป็น Local Brand หน้าใหม่ในตลาดอย่าง “ดีเอ็มเอ” ผลงานของค่ายดีคอม ที่หันมาเอาดีจากการขายอุปกรณ์ต่อพ่วงและคอมพิวเตอร์มาเป็นผู้ผลิตเสียเอง โดยดีเอ็มเอจะแหวกแนวเน็ตบุ๊กรายอื่นที่หันมาใช้ AMD Phenom ซีพียูที่ค่ายเอเอ็มดีเป็นผู้ผลิตออกมาสำหรับโน้ตบุ๊กเครื่องเล่นบ้าง
หาก 300,000 เครื่องคือตัวเลขที่หลายคนมองว่าคือยอดขายเฉพาะส่วนของเน็ตบุ๊กที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และตัวเลขพีซีก็มีทีท่าว่าจะลดลง เทรนด์ของคนก็หันมาให้ความสำคัญกับโน้ตบุ๊กเครื่องที่สองยังแรงไม่หยุด จุดให้บริการไวไฟยังขยายไม่หยุดอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่าการเปิดตัวเน็ตบุ๊กในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา คงจะเป็นแค่เศษเสี้ยวของการชิมลางตลาด
แต่ที่เหลือนับจากนี้คือสมรภูมิการแข่งขันในตลาดเน็ตบุ๊กล้วนๆ
อะไรทำให้อยากใช้เน็ตบุ๊ก
*ความต้องการในการพกพาคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานนอกสถานที่ หรือไลฟ์สไตล์แบบโมบิลิตี้
•ความสะดวกสบายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายที่เพิ่มขึ้น อาทิ แพ็กเกจจีพีอาร์เอสของค่ายมือถือที่ถูกลง รวมถึงโปรเจกต์แจก ไว-ไฟ ฟรี ของทรูและกทม.
•ราคาที่ย่อมเยา เริ่มต้นไม่ถึงหนึ่งบาท และไล่ระดับไปที่เกือบสองหมื่นบาท
•ผู้ใช้มองหาคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองพกออกไปนอกบ้าน ทิ้งเครื่องเก่าที่หนักอึ้งไว้ที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าผู้หญิงไม่ชอบพกของหนัก และมองเน็ตบุ๊กเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งเพราะสีสันสวยงาม
•ราคาของพ็อกเก็ตพีซีที่ยังอยู่ในระดับเกือบสองหมื่นบาท ทำให้ผู้ใช้เลือกที่จะซื้อเน็ตบุ๊กในราคาถูกกว่าแต่สามารถใช้ได้ดีกว่าพ็อกเก็ตพีซี
•ผู้คนที่ไม่ต้องการทำงานซับซ้อน เลือกเน็ตบุ๊กเพราะตรงกับความต้องการขณะที่ราคาถูกกว่าโน้ตบุ๊ก
*การมาของ 3 G ที่จะทำให้การรับส่งข้อมูลไร้สายเร็วขึ้นสะดวกขึ้น
อีพีซี Netbook หรือโลว์คอสโน้ตบุ๊ก คืออะไรกันแน่
เป็นเพราะว่าคนไทยรู้จัก “eeepc” ย่อมาจาก easy to learn, easy to work, easy to play เรียกสั้นๆ ว่า “อีพีซี” ก่อน เมื่อมีโน้ตบุ๊กเครื่องเล็กเปิดตัว หลายคนจึงติดปากเรียกอีพีซีกันเป็นทิวแถว ขณะที่เอเซอร์เรียกว่า Low Cost Notebook
จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2551 อินเทลขอร้องให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กซึ่งใช้ซีพียูอะตอมของตนหันมาเรียกโน้ตบุ๊กเหล่านี้ว่า “เน็ตบุ๊ก” ตามอินเทล
เน็ตบุ๊ก หรือ Netbook เป็นคำที่อินเทลคิดค้นขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เพื่อใช้อธิบายกลุ่มของโน้ตบุ๊กขนาดเล็ก ราคาถูก น้ำหนักเบา และออกแบบมาให้มีฟังก์ชันพื้นฐาน อาทิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ทำงานเอกสาร โดยอินเทลคาดการณ์ว่าในปี 2554 Netbook จะแพร่หลายมากถึง 50 ล้านเครื่อง
เน็ตบุ๊กเจาะกลุ่มใครในสายตาผู้ผลิต
1. กลุ่มคนทำงานที่มองหาโน้ตบุ๊กเครื่องที่สอง
2. กลุ่มเด็ก Pre-teen หาเครื่องแรกของตนเองและมองหาเครื่องที่สองในกลุ่มมหาวิทยาลัย
3. แม่บ้านที่สามีคอมพิวเตอร์อยู่แล้วและไม่อยากแย่งเครื่องของสามี แต่ต้องการเครื่องราคาถูกไว้เช็กอีเมล และสนทนากับเพื่อนฝูง
4. กลุ่มผู้รักการเดินทางแต่ไม่อยากทอดทิ้งอินเทอร์เน็ต
5. กลุ่มผู้หญิงรักสวยรักงามมองเห็นเน็ตบุ๊กเป็นเครื่องประดับ
การตลาดในแบบ Netbook
นอกจากรูปลักษณ์ที่เล็ก บางกว่าที่เคยพบเห็น น้ำหนักเบากว่า 1 กิโลกรัม ซึ่งกลายเป็นจุดขายหลักของ Netbook การตลาดในแบบ Netbook ยังน่าสนใจไม่น้อย
• “สี” ต้องโดดเด่น สีขาวชมพูจับกลุ่มหญิง ยืนพื้นสีดำสำหรับนักธุรกิจ
•ออกแบบกระเป๋าผ้าลวดลายสดใส เอาใจวัยรุ่นเข้าไว้
•รักแล้วรอหน่อย สั่งของแล้วต้องคอยสักพัก พร้อมกับจ่ายค่ามัดจำเล็กน้อย ทำให้เห็นว่าคนสั่งซื้อเยอะ และป้องกันความเสี่ยงกับผู้ผลิตเองด้วย
•ขายเข้าห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต จำพวกคาร์ฟูร์ วางขายจับกลุ่มคนมีกำลังซื้อน้อย แต่อยากถอยโน้ตุบุ๊กมาใช้บ้าง
•ขายพร้อมแพ็กเกจ ไว-ไฟ ฟรี อย่างเอเซอร์ ขายเน็ตบุ๊กพร้อม ไว-ไฟ ฟรี 6 เดือนเต็มไม่อั้น
ยอดขายโน้ตบุ๊กแซงหน้าพีซี
ยอดขายของโน้ตบุ๊กเริ่มแซงหน้าพีซีมาตั้งแต่ปลายปี 2550 โดยไตรมาส 3 ยอดขายโน้ตบุ๊กอยู่ที่ 230,000 เครื่อง น้อยกว่าพีซีซึ่งอยู่ที่ 240,000 เครื่อง แต่ในไตรมาส 4 ยอดขายของพีซีกลับลดลงเหลือ 200,000 เครื่อง ขณะที่โน้ตบุ๊กแซงหน้ามาอยู่ที่ 230,000 เครื่อง
ปี พีซี โน้ตบุ๊ก
2550 875,000 960,000
2551 820,000 1,240,000
ที่มา : ไอดีซี
หมายเหตุ : โน้ตบุ๊กที่ไม่ใช้ฮาร์ดดิสก์ไม่รวมอยู่ในยอดขายนี้
จำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตในไทย
ยอดการใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ความนิยมชมชอบในตัวเน็ตบุ๊กพุ่งสูงขึ้นด้วย
2550 2.55 ล้าน
2551 3 ล้าน
ที่มา : ไอดีซี
หมายเหตุ : ตัวเลขนับเป็น Account โดย 1 Account อาจจะใช้อินเทอร์เน็ตได้มากกว่า 1 คน
อัตราการขยายตัวของบรอดแบนด์
2550 1.2 ล้าน
2551 1.9 ล้าน
2552 2.7 ล้าน
ที่มา : ไอดีซี
Did you know?
ผลการค้นหาคำว่า Netbook ใน google.com พบว่า มีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ Netbook มากถึง 9,270,000 ไซต์