ต้องถือเป็นปีทองของ เวิร์คพอยท์ ที่ประสบความสำเร็จกับรายการวาไรตี้เกมโชว์ แม้ว่า The Mask ในรอบแชมป์ชนแชมป์ที่ผ่านมาจะจบไม่สวย ด้วยการยืดเวลาถอดแชมป์หน้ากากทุเรียนไปสัปดาห์ต่อไป จนโดนถล่มแบบไม่ยั้งชั่วข้ามคืน แต่อย่างว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” เมื่อกระแสมาแรงขนาดนี้ ก็ต้องรีบคว้าโอกาสไว้
และด้วยเรตติ้งรายการพุ่งขึ้น 10% เวิร์คพอยท์เลยขยับค่าโฆษณา 2 รายการพระเอก “The Mask Singer และ I Can See Your Voice นาทีละ 4.2 แสนบาท จากซีซั่น 1 ที่ตั้งราคา 350,000 บาท เรียกว่า ราคาโฆษณาไม่แพ้ละคร ช่อง 3 และช่อง 7 ไปแล้ว
เมื่อรายการปังขนาดนี้ ทางสํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส) สำนักงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช) จึงได้วิเคราะห์ที่มาความสำเร็จรายการเกมโชว์ของเวิร์คพอยท์ ที่มาจากการเข้าถึงจิตวิทยาของคนดู มาเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตรายการ
ไมค์ทองคำ เติมเต็มความฝันคนดูทั่วประเทศ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายการแบบประกวดแข่งขันความสามารถ หรือ Talent Contest เป็นคอนเทนต์วาไรตี้ประเภทหนึ่งที่ช่องรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่เน้นผลิต พัฒนา และนำเสนอไปสู่กลุ่มผู้ชมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในวงการโทรทัศน์ว่า ช่องรายการที่เป็นผู้นำในการบุกเบิกคอนเทนต์แบบดังกล่าวจนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศนั้น คือ ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี
ในช่วงแรก เวิร์คพอยท์ ทีวี ได้เปิดรับสมัครให้ประชาชนเข้าประกวดร้องเพลงลูกทุ่งในรายการ ไมค์ทองคำ ซึ่งทางช่องรายการมีความตั้งใจที่จะปั้นรายการนี้ให้เป็นรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งระดับประเทศ โดยให้ผู้ชมหรือประชาชนทั่วไป (ไม่จำกัดเพศ วัย และสาขาอาชีพ) เข้ามามีส่วนร่วมในรายการประกวดได้สร้างรูปแบบรายการวาไรตี้แบบใหม่ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมต่างจังหวัดที่ชอบเพลงแนวลูกทุ่ง นอกจากนี้ รูปแบบการแข่งขันประกวดร้องเพลงแบบต่อเนื่องได้สร้างความนิยมให้แก่รายการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการออกอากาศ เนื่องจากประชาชนมักจะติดตามการแข่งขันและเชียร์บุคคลที่ชื่นชอบที่อาจจะมาจากจังหวัดหรือท้องที่เดียวกัน
ซึ่งแนวทางการผลิตรายการของรายการไมค์ทองคำข้างต้นนอกจากจะสร้างความนิยมอย่างสูงให้แก่รายการในขณะออกอากาศแล้ว ยังสามารถสร้างฐานผู้ชมที่กลายเป็นแฟนรายการจนเฝ้าติดตามการออกอากาศรายการไมค์ทองคำซีซั่นใหม่ๆ ด้วย
TVR ของรายการไมค์ทองคำ (ปี 1 – ปี 5) ที่ออกอากาศแต่ละครั้ง
[1] ไมค์ทองคำปี 1 (ชื่อเดิมคือ ชิงช้าสวรรค์ไมค์ทองคำ) ออกอากาศปี 2557, ไมค์ทองคำปี 2 (ชิงช้าสวรรค์ไมค์ทองคำปี 2) ออกอากาศปี 2557 – 2558, ไมค์ทองคำปี 3 ออกอากาศปี 2558, ไมค์ทองคำปี 4 ออกอากาศปี 2559 และไมค์ทองคำปี 5 ออกอากาศปี 2559 ถึงปัจจุบัน
TVR รายการไมค์ทองคำปี 1 – ปี 5 (แยกตามพื้นที่)
[2] รายการไมค์ทองคำปี 5 ยังคงออกอากาศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น TVR เฉลี่ยของรายการจึงเป็นการคำนวณจากวันที่เริ่มมีการออกอากาศ (30 กรกฎาคม 2559) จนถึง 12 มีนาคม 2560 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อจบซีซั่น
จะเห็นได้ว่า รายการไมค์ทองคำตั้งแต่ซีซั่น 1 ถึงซีซั่นปัจจุบัน ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากผู้ชมทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ชมที่อยู่ในเขตต่างจังหวัดนอกเมือง
ทั้งที่ ๆ รายการไมค์ทองคำจะเป็นแค่รายการประกวดร้องเพลงทั่วๆ ไป แต่กลับประสบความสำเร็จต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี สร้างชื่อเสียงให้กับเวิร์คพอยท์ ทีวี มีผู้ชมเฝ้าติดตามรับชมรายการ มาจาก
การเปิดเวทีให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ในทุกพื้นที่ ที่มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงลูกทุ่งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในรายการประกวดร้องเพลง เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้ชมทั่วประเทศสามารถทำตามความฝันที่อยากจะเป็นนักร้องลูกทุ่ง
ถ้ามองในแง่ กระบวนการทางจิตวิทยา เท่ากับเป็นการหยิบยื่น “โอกาสในการเติมเต็มความฝัน” และ “โอกาสในการแสดงศักยภาพที่อยู่ในตัว” ของผู้ที่มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงทั่วประเทศ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแข็งแกร่งให้แก่รายการไมค์ทองคำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
I Can See Your Voice ดึงคนดูมีส่วนร่วม
ต่อมา ช่อง เวิร์คพอยท์ ทีวี ได้ซื้อรูปแบบรายการของประเทศเกาหลีใต้ และนำมาพัฒนาจนกลายเป็นรายการ I Can See Your Voice Thailand ออกอากาศในช่วงต้นปี 2559 ซึ่งรายการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นรูปแบบรายการวาไรตี้แบบใหม่ที่สร้างความบันเทิงและความสนุกสนานให้แก่ผู้ชมทุกเพศและทุกวัย โดยให้นักร้องที่เป็น Super Star ต้องลุ้นหาคู่ร้องเพลง (นักร้องปริศนา) ซึ่งเป็นผู้สมัครจากทางบ้าน โดยนักร้อง Super Star ไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าใครจะเป็นผู้ร้องเพลงได้ไพเราะหรือร้องเพลงเพี้ยน
นอกจากนี้ ทีมงานผู้สร้างยังเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้แก่คนดูโดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการใช้เสียงและดนตรี ตลอดจนดาราตลกมาร่วมเป็นกรรมการเพื่อให้ความเห็นและเรียกเสียงเฮฮาในการเลือกนักร้องปริศนา ความแปลกใหม่และความตลกขบขันของรายการ I Can See Your Voice Thailand สามารถทำให้รายการประสบความสำเร็จในการเรียกกระแสผู้ชมจากทั่วประเทศได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นหลังจากมีการเริ่มออกอากาศ
TVR เฉลี่ยของรายการ I Can See Your Voice Thailand
[3] TVR ของรายการตั้งแต่เริ่มออกอากาศ (13 มกราคม 2559) จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2560
จะเห็นได้ว่า รายการ I Can See Your Voice Thailand ใช้วิธีการสร้างความสนุกและเรียกเสียงเฮฮา โดยให้ผู้ชมทั่วประเทศ กรรมการ และนักร้อง Super Star ตัดสินความสามารถในการร้องเพลงของผู้เข้าแข่งขันจากหน้าตา ลีลาการแต่งตัว และบุคลิก ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้าง “จิตนาการ” ให้แก่ผู้ชม
เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดและสร้างมโนภาพในการรับชมรายการ วิธีการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในรายการได้อย่างแยบยล โดยอาศัยใช้วิจารณญาณและความคิดเห็นส่วนตัวของผู้รับชมที่มีต่อผู้เข้าแข่งขันเป็นปัจจัยสร้างความท้าทายและความตื่นเต้นในการรับชมรายการ
เป็นที่น่าสนใจว่า รายการ I Can See Your Voice Thailand มีการเจาะกลุ่มผู้ชมเป้าหมายแตกต่างจากรายการไมค์ทองคำ โดยจะเห็นได้ว่า รายการดังกล่าวเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้ชมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่าผู้ชมในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นไปได้ว่า การสร้างรายการวาไรตี้ให้มีความแตกต่างและมีรูปแบบที่หลากหลายของช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี เป็นความพยายามที่จะเข้าถึงความต้องการของผู้ชมที่มีความชอบและรสนิยมที่แตกต่างกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยให้รายการของช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี เป็นที่รู้จัก และมีคนเฝ้าติดตามรับชมจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตว่า TVR ของ Ep.19 (ออกอากาศวันที่ 18 พฤษภาคม 2559) และ Ep.41 (ออกอากาศวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการออกอากาศไม่ตรงตามเวลาของผังรายการ และการออกอากาศในช่วงเปลี่ยนผ่านจากผังรายการในช่วง 30 วันแรกของการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
TVR แยกตามพื้นที่ของรายการ I Can See Your Voice Thailand
The Mask Singer
ความสำเร็จของรายการวาไรตี้แบบ Talent Contest ของช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ได้เป็นแรงผลักดันให้ช่องพยายามสร้างสรรค์รูปแบบรายการบันเทิงใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงฐานผู้ชมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงปลายปี 2559 นั้น รายการหน้ากากนักร้อง หรือ The Mask Singer ได้กลายเป็นรายการน้องใหม่ล่าสุดที่ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี นำมาออกอากาศเพื่อหวังเรียกกระแสจากผู้ชม และรายการ The Mask Singer ก็ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญในวงการโทรทัศน์ไทย ทำเรตติ้งสูงกว่ารายการละครหลังข่าวรวมทั้งรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย (ทีมชาติไทยและซาอุดิอาระเบีย) ที่ออกอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน
TVR ของรายการ The Mask Singer เปรียบเทียบกับละครหลังข่าว (ช่อง 3 และ 7)
[4] ในวันที่มีการโยงสัญญาณออกอากาศจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ข้อมูล TVR จะอ้างอิงเฉพาะช่วงเวลาก่อนที่จะมีการคั่นรายการ
“ปัจจัยความสำเร็จของรายการ The Mask Singer คืออะไร ?” ได้กลายเป็นประเด็นคำถามสุดฮอตในวงการโทรทัศน์บ้านเราในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบรายการที่มีความโดดเด่น คาดเดาไม่ได้ และแปลกใหม่ โดยยังไม่มีรายการประเภทนี้เลยในเมืองไทย ได้ทำให้ The Mask Singer ติดตลาดตั้งแต่ตอนแรกในการออกอากาศ (6 ตุลาคม 2559)
นอกจากนี้ ความอลังการของเวทีในการร้องเพลง เสื้อผ้าและหน้ากากของผู้เข้าร่วมแข่งขัน ตลอดจนพลังเสียงและลีลาของ Super Star ที่อยู่ภายใต้หน้ากากเวลาร้องเพลง ยิ่งทำให้ The Mask Singer เป็นที่พูดถึงจนกลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ได้ในช่วงระยะเวลาอันรวดเร็ว
หากวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย (Target Audience) ของรายการ The Mask Singer อาจเข้าใจได้ในเบื้องต้นว่า น่าจะเป็นรายการที่ผลิตขึ้นเพื่อผู้ชมทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า รายการดังกล่าวน่าจะเจาะตลาดกลุ่มผู้ชมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อรายการดังกล่าวได้มีการออกอากาศจริงกลับพบว่า กลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ที่ติดตามและรับชม The Mask Singer ทางโทรทัศน์เป็นประจำทุกสัปดาห์ คือกลุ่มผู้ชมตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป และอยู่อาศัยในเขตต่างจังหวัด
จำนวนผู้รับชมรายการ The Mask Singer แบ่งตามอายุและพื้นที่ (หน่วย: พันคน)
[5] คำนวณจากจำนวนผู้ชม ตั้งแต่มีการเริ่มออกอากาศรายการ (6 ตุลาคม 2559) จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2560
จึงเป็นไปได้ว่า กลุ่มผู้ชมที่เป็นวัยรุ่นและอาศัยอยู่ในเขตเมืองมีพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์บนสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อโทรทัศน์ ซึ่งพฤติกรรมการรับชมสื่อที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้สร้าง “โจทย์ใหญ่” ให้เวิร์คพอยท์ ทีวี ต้องขบคิดและเร่งหาวิธีการที่จะทำให้ The Mask Singer สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนเมือง
ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากการออกอากาศ The Mask Singer ไปได้ระยะเวลาหนึ่ง เวิร์คพอยท์ ทีวี ได้วางนโยบายเชื่อมโยงคอนเทนต์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์กับแพลตฟอร์มดิจิตอล (Cross Platform) เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชม The Mask Singer ได้อย่างทันท่วงทีผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Live ซึ่งการถ่ายทอดสด The Mask Singer ผ่านทาง Facebook Live มีผู้เข้าชมสูงถึงนับล้านๆ คน นั่นหมายความว่า ความหวังของเวิร์คพอยท์ ทีวี ในการเข้าถึงผู้ชมให้ทั่วถึงทุกแพลตฟอร์มถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนเมืองที่มักจะติดตามสื่อและคอนเทนต์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสดใหม่ของรายการ และการสร้างช่องทางให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วม เช่น การโหวต หรือการร่วมเข้าแข่งขัน ตลอดจนเทคโนโลยีในการเข้าถึงผู้ชมได้ทุกแพลตฟอร์ม ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ The Mask Singer ติดตลาดและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากให้คนดูเข้าถึงได้ทุกแพลทฟอร์มแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้แก่ The Mask Singer มาจากจากการสร้างและพัฒนาคอนเทนต์ที่สามารถกระตุ้นความตื่นตัวในการรับชมรายการของผู้ชม
ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเลือกแขกรับเชิญ จนกระทั่งการออกอากาศ ที่ใช้ “ความลับ” เป็นจุดขายหลักของรายการ เช่น แขกรับเชิญ Super Star ที่อยู่ภายใต้หน้ากาก และขั้นตอนการเก็บความลับไม่ว่าจะเป็น การประชุมลับของทีมงาน การสร้างเสื้อผ้าและหน้ากาก ห้องแต่งตัวลับ การเซ็นสัญญาเพื่อรักษาความลับที่มีค่าปรับนับแสนบาท หรือแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเปลี่ยนรถของแขกรับเชิญเพื่อไม่ให้ผู้คนจำได้ ซึ่งสิ่งที่เป็น “ความลับ” เหล่านี้ได้กลายเป็นคอนเทนต์หลักที่เวิร์คพอยท์ ทีวี พยายามสื่อสารไปสู่ผู้ชม และ “ความลับ” ที่เกิดจากการรับชมคอนเทนต์ดังกล่าวก็ได้ค่อยๆ กระตุ้นความรู้สึกและสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ (Human Nature) ไว้อย่างแยบยล
สัญชาตญาณของคนส่วนใหญ่ เมื่อยิ่งลับ ก็ยิ่งสงสัย และอยากรู้ ก็ยิ่งอยากสืบค้น ทำให้ความลับของ The Mask Singer เป็นที่กล่าวขาน ผู้ชมพยายามคิดและสร้างมโนภาพว่านักร้องภายใต้หน้ากากคือใคร และเกิดความคาดหวังเมื่อหน้ากากถูกเปิดออก รวมทั้งเกิดความตกใจเมื่อรับรู้ว่าบุคคลภายใต้หน้ากากที่แท้จริงคือใคร จนท้ายที่สุด เกิดความตื้นตันและประทับใจเมื่อได้รับฟังแรงบันดาลใจและความฝันของแขกรับเชิญภายใต้หน้ากากที่อยากจะเป็นนักร้อง
โครงสร้างจิตวิทยาความลับของรายการ The Mask Singer
ในแง่นี้ The Mask Singer จึงเป็นรายการที่เข้าใจจิตวิทยาของผู้ชม สร้างความสงสัย ความคาดหวัง ความอคติ และความฝันให้แก่ผู้ชม แล้วนำอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้มากระตุ้น “ความอยากที่จะรับชมรายการ” ให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ “ความลับ” ภายใต้หน้ากากที่ถูกเก็บงำจากการแข่งขันครั้งแล้วครั้งเล่ายิ่งกระตุ้นสัญชาตญาณความอยากรู้และอยากค้นหาของผู้ชม โดยการแข่งขันของ The Mask Singer ที่ค่อนข้างยาวนานและต่อเนื่องได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีระยะเวลาเพียงพอที่จะรวบรวมและค้นหาข้อมูลว่านักร้องภายใต้หน้ากากคือใคร ซึ่งกระบวนการนี้เองได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิสัมพันธ์” (Engagement) ระหว่างรายการและคนดูให้เกิดขึ้น โดยผู้ชมจะค่อยๆ รู้สึกผูกพันจนอยากที่จะรับชมรายการอยู่เรื่อยๆ ส่งผลให้ในที่สุด เรตติ้งสะสมของ The Mask Singer จึงพุ่งสูงขึ้น และเป็นที่กล่าวขานในวงสังคมเพิ่มมากขึ้น
กรณีความสำเร็จของ The Mask Singer นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของช่องรายการในยุคสื่อดิจิตอลแล้ว ยังช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การผลิตและพัฒนาคอนเทนต์ในวงการโทรทัศน์ไทยจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อนและเข้าใจจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์ คอนเทนต์ประเภทที่เน้น “ดราม่า” เพื่อเรียกกระแสเรตติ้งแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่จะแข่งขันของรายการในยุคนี้
นอกจากกระบวนการทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับชมของคนดูแล้ว การวางแผนเพื่อเจาะกลุ่มผู้ชมเป้าหมายของแต่ละรายการที่ผลิตขึ้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
จะเห็นได้ว่า ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ได้วางแผนขยายฐานผู้ชมจากกลุ่มต่างจังหวัดที่ชื่นชอบรายการประเภทเติมเต็มโอกาสและความฝัน (เช่น รายการไมค์ทองคำ) มาสู่ผู้ชมในเขตเมืองที่ชื่นชอบรายการที่สร้างความตื่นเต้น ความสนุก และความท้าทาย (เช่น รายการ I Can See Your Voice Thailand) จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการขยายฐานผู้ชมรายการไปทั่วประเทศจากการออกอากาศรายการ The Mask Singer ซึ่งนอกจากจะสร้างความสนุกและเสียงหัวเราะแล้ว ยังกระตุ้นความต้องการเบื้องลึกของมนุษย์ทุกคน เช่น ความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็น โดยอาศัยความลับที่ซ่อนภายใต้หน้ากากเป็นเครื่องมือสำคัญ มากไปกว่านั้น ยังใช้ “การเติมเต็มฝัน” เป็นไม้ตายสุดท้ายในการเข้าถึงปมจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์
การใช้จิตวิทยาในการสื่อสารไปสู่ผู้ชมแม้ว่าจะมีความสำคัญ แต่การเลือกกลุ่มบุคคลเพื่อที่จะรับสารก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า นั่นหมายความว่า กระบวนการทางจิตวิทยาบางแบบอาจจะเหมาะกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนอีกประเภทหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ การผลิตรายการที่หลากหลายและแตกต่างเพื่อให้เหมาะกับผู้ชมในแต่ละกลุ่มจึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ The Mask Singer พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากกระบวนการทางจิตวิทยาที่ใช้สื่อสารไปยังผู้ชมมีความละเอียด ลุ่มลึก แยบยล และตรงกับสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ผู้รับสารทุกกลุ่มทุกประเภทจะสามารถเข้าใจและซึมซับความหมายของสารที่ส่งออกไปได้ ดั่งเช่นกรณีของ The Mask Singer ที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สามารถส่ง “สาร” หรือ “คอนเทนต์” ผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาที่ตนได้สร้างขึ้น ไปยังกลุ่มผู้ชมทุกวัย ทุกเพศ ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย
รายการอ้างอิง
- Mango Zero. (2560). เจาะลึกเบื้องหลัง The Mask Singer. สืบค้นจาก https://www.mangozero.com/under-the-mask-singer/
- Storylog. (2559). ความลับและความอยากรู้อยากเห็น. สืบค้นจาก https://storylog.co/story/580104ae4c1043847 632505