พอร์ต “เลแมนฯ ไทย” สะเทือน

“เลแมน บราเดอร์ส” วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกาล้มครืน และสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยที่รู้สึกว่าวิกฤตกำลังใกล้ตัวคนไทยมากยิ่งขึ้น เพราะ”เลแมนฯ” เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมานาน โดยได้ “โอกาส” แจ้งเกิดเต็มตัวในไทยหลังช่วง “วิกฤต” เศรษฐกิจปี 2540 ที่ “เลแมนฯ” ชนะประมูลบริหารสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ 56 ไฟแนนซ์จาก ปรส. ท่ามกลางข้อสงสัยมากมายและยังเป็นคดีความในปัจจุบัน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเลแมนฯ ในไทยเติบโตต่อเนื่อง จนปัจจุบันพอร์ตทรัพย์สินและการลงทุนในไทยงอกเงยถึง 5 หมื่นล้านบาท แม้เทียบไม่ได้กับมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของ “เลแมนฯ” แต่เมื่อ “ล้มละลาย” พอร์ตในไทยย่อมได้รับผลกระทบ แม้หลายโครงการจะมีแวลูพร้อมขาย แต่หลายโครงการในหลายบริษัทที่ “เลแมนฯ” มีหุ้นอยู่ และเป็นผู้บริหารเงินลงทุนก็ยังต้องการเงินทุนอีกมากเช่นกัน นี่คือช่วงวิกฤตของ “เลแมนฯ” และความยากลำบากของผู้ที่เกี่ยวพันกับ “เลแมนฯ” ตั้งแต่พันธมิตรธุรกิจจนถึงพนักงานของเลแมนฯ

“วิกฤตต้มยำกุ้ง” กรุยทางเลแมนฯ

“เลแมน บราเดอร์ส” (ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก คือ LEH) ก่อตั้งเมื่อปี 2393 หรือเมื่อ 158 ปีที่ผ่านมา เป็นธนาคารด้านการลงทุน (Invesment Banking) หรือที่เรียกกันว่า “IB” กลุ่มลูกค้าคือบริษัทเอกชน รัฐบาล องค์กรของรัฐ และบุคคลระดับสูง ด้วยบริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การขายตราสารหนี้ การขายและค้าหลักทรัพย์ และการวิจัย วิเคราะห์หลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน การให้บริการปรึกษาเพื่อร่วมทุน

ปี 2443 “เลแมน บราเดอร์ส” เริ่มเข้ามาในเอเชีย โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินแก่ธนาคารและรัฐบาลประเทศต่างๆ ตลอดจนองค์กรสำคัญหลายแห่งในเอเชีย โดยเป็นผู้จัดและรับประกันการจำหน่ายหุ้นและตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี และประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตทางการเงินของเอเชีย ยิ่งทำให้เลแมน บราเดอร์ส ขยายอาณาจักรได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ปี 2532 “เลแมน บราเดอร์ส” ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัททำธุรกิจในไทย โดยใช้ชื่อบริษัทว่าบริษัทเชียร์ซั่น เลแมน ฮัตตัน (ไทยแลนด์) จำกัด วันที่ 1 ตุลาคม 2533 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) ด้วยจุดประสงค์การทำธุรกิจคือ เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำบริหารการเงิน ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2550 ตามที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือบริษัทเลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ สหรัฐอเมริกา จำนวน 99.9976% มีกรรมการบริษัท 4 คน และมีบริษัทเกี่ยวโยงกันถึงประมาณ 40 บริษัท

ด้านฐานะการเงินของเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) ได้แจ้งว่าในปี 2549 มีรายได้ 253.22 ล้านบาท ขาดทุน 73.24 ล้านบาทสินทรัพย์ 677.15 ล้านบาท หนี้สิน 733.27 ล้านบาท

ชื่อของ “เลแมน บราเดอร์ส” เป็นที่รู้จักในไทยมานานในกลุ่มนักการเงิน มีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาศึกษาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่ง 2 แห่งหลังนี้ได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นที่ปรึกษาให้บริการเอกชนอย่างบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ในช่วงการปรับโครงสร้างหนี้

เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นเมื่อปรากฏเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี 2541 ที่เลแมน บราเดอร์สได้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังบาดเจ็บจากวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินของไทยล้มระเนระนาด โดยเฉพาะสถาบันการเงิน 56 แห่ง และหนี้ท่วมประเทศจากนโยบายการลอยตัวค่าเงินบาท ในปี 2540

ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย เป็นโอกาสของเลแมน บราเดอร์ส ที่กำลังรุกขยายธุรกิจไปทั่วโลก พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสถาบันการเงินไทยที่ล้มละลาย กลายเป็นของมีค่าสำหรับเลแมน บราเดอร์ส

เมื่อสถาบันการเงินไทยล้มลง พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ถูกรัฐนำมาบริหาร ผ่านองค์กรที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ คือองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)

เลแมน บราเดอร์ส ในช่วงนั้นเข้ามา 2 บทบาทท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะด้านหนึ่งเป็นที่ปรึกษาในการบริหารสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์ให้กับ ปรส. อีกด้านหนึ่งส่งบริษัทในเครือเข้าร่วมประมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัย และชนะไปในที่สุด ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกกว่าที่ควรเป็น คือ เลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ เสนอซื้อ11,520 ล้านบาท คิด 46.8% ของยอดคงค้าง 24,616 ล้านบาท

เมื่อชนะแล้วยังได้โอนสิทธิให้กับกองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ ทำสัญญากับ ปรส. เพื่อเลี่ยงภาษี และให้ลูกหนี้จ่ายเงินให้กับกองทุนรวม ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วประมาณ 10 ปี แต่ผู้คนก็ยังไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ต่างชาติเข้ามาช้อปของในไทยในราคาถูก ปัจจุบันยังคงมีคดีความฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มูลค่ามหาศาล คั่งค้างอยู่ในศาลตั้งแต่ผู้บริหาร ปรส. กลุ่มเลแมน บราเดอร์ส อดีตผู้บริหาร บลจ.วรรณ

และแน่นอนตลอดเวลาที่ผ่านมา คงไม่เคยมีใครคาดคิดว่าสถาบันการเงินที่เต็มไปด้วยแผนการหมุนเงินลงทุน และเข้ามาเติบโตในไทยอย่าง “เลแมน บราเดอร์ส” จะล้มละลาย จนเทขายทรัพย์สินที่มีอยู่

หรือนี่จะเป็นคำพิพากษาสำหรับ “เลแมน บราเดอร์ส”

เปิดพอร์ตเลแมนฯ 5 หมื่นล้านบาท

“เลแมน บราเดอร์ส” มีการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลักในไทยคือ 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2.ธุรกิจยานยนต์ และ 3.ธุรกิจสื่อสาร รวมมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทยภายใต้ชื่อ “บริษัทเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด

ลักษณะการลงทุนมีทั้งการซื้ออาคาร ที่ดิน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งคอนโดมีเนียม และโรงแรม การถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทที่ประกอบธุรกิจทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมเกือบ 50 บริษัท และการซื้อหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทต่างๆ หรือเทียบเท่าเป็นแหล่งทุนให้บริษัทนั้นๆ อีกหลายแห่ง

ตัวอย่างอาคารขนาดใหญ่ และที่ดินที่เลแมนฯ เป็นเจ้าของ
1. อาคารเมอร์คิวรี่ ตรงข้ามเซ็นทรัลชิดลม
2. อาคารแปซิฟิควัน และแปซิฟิคทู ถนนสุขุมวิท
3. อาคารอิตัลไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ที่ตั้งของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์)
4. อาคารเมืองไทยภัทร ถนนรัชดาภิเษก
5. ที่ดินเปล่า บนเกาะสมุย 2 แปลง ขนาด 131 ไร่ และเช่าอีก 7 ไร่ มูลค่ารวม 1,175 ล้านบาท จากบริษัท แปซิฟิค แอสเซ็ทส์ (มหาชน) หรือ PA

หุ้นบิ๊กล็อต 9 บิ๊กโปรเจกต์ใน “แกรนด์”

กลุ่มเลแมนฯ ยังเป็นเจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกหลายโครงการ และโรงแรมอีกหลายแห่ง ที่ว่ากันว่าหากนับจำนวนห้องพักจะครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดที่กลุ่มเลแมนฯ ถือหุ้นคือบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เลแมนฯ ไม่ได้ถือในแกรนด์ฯ โดยตรง แต่ถือผ่าน Giant Mauritius Holdings โดย ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2551 Giant Mauritius Holdings มีหุ้นในแกรนด์ฯ 43.23% ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทลูกของแกรนด์ฯ และของครอบครัว “นฤหล้า” รวมกันประมาณ 50%

แกรนด์ฯ ยังถือหุ้น 100% ในบริษัทย่อย 2 บริษัทคือ บริษัท ฮอนเนอร์ บิวซิเนส จำกัด และบริษัท แกรนด์ อีควิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งจากเอกสารทางการเงินที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 แกรนด์ฯ มีโครงอยู่ทั้งหมด 9 โครงการ ทั้งหมดเป็นโครงการโรงแรม คอนโดมิเนียม และพลาซ่าระดับหรู รวมมูลค่าก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีหลายโครงการที่ยังรอเงินทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท (ดูรายละเอียดกราฟิกโครงการก่อสร้างของกลุ่มแกรนด์ฯ / อ่านต่อเรื่องไทยพาณิชย์ปล่อยกู้จ่ายหนี้เลแมนฯ)

หุ้นที่เลแมนฯ ถือทางตรงและทางอ้อมในบริษัทไทย
1. ถือทางตรงบริษัทสยามสตีล อินเตอร์เนชั่นแนล ( SIAM ) สัดส่วน 2% จำนวน 13.29 ล้านหุ้น
2. ถือหุ้นบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND) ผ่าน Giant Mauritius Holdings สัดส่วน 43.23% จำนวน 540.87 ล้านหุ้น ดำเนินธุรกิจโรงแรม คอนโดมิเนียม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
3. ถือหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 7.5% ผ่านบริษัทเลแมน บราเดอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยุโรป) ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
4. ถือหุ้นบริษัทตากสิน โฮเทล โฮลดิ้ง จำกัด 25% ผ่านบริษัทเลแมน บราเดอร์ส บางกอก ริเวอร์ไซด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด พัฒนาโครงการ เดอะ ริเวอร์
5. สิทธิ์ในการถือหุ้น 25% ในบริษัทไรมอน แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทเลแมน บราเดอร์ส คอมเมอร์เชียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาโครงการ 185 ราชดำริ
6. ถือหุ้นผ่านทาง NVDR (แบบไร้ใบหุ้น) ได้แก่
-ไทยธนาคาร 17.78% จำนวน 20.843 ล้านหุ้น
-บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน 2% จำนวน 0.147 ล้านหุ้น
-บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น 99.76% จำนวน 22.5 ล้านหุ้น
-บริษัทหลักทรัพย์ภัทร 0.51% จำนวน 0.1929 ล้านหุ้น
-บริษัท ปตท. จำกัด 0.98% จำนวน 0.356 ล้านหุ้น

ที่มา : บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

ทรัพย์สินถูกรุมตอม

แม้ว่าเลแมน บราเดอร์สจะเข้าสู่กระบวนพิทักษ์ทรัพย์ และอยู่ในสถานะล้มละลายแล้ว แต่ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็กำลังถูกจับจ้องจากกลุ่มที่ยังมีเงินทุน รวมทั้ง “ทรัพย์สิน” ที่เลแมนฯ ลงทุนในไทย

ทันทีที่เลแมน บราเดอร์ส ประกาศล้มละลาย “กฤษดา กวีญาณ” ในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนประจำประเทศไทย บริษัทเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) แถลงข่าวโดยทันที โดยบอกว่า สิ่งที่ทีมผู้บริหาร และพนักงานของเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) กำลังรอคือ การเข้ามาของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น คือ กลุ่มโนมูระ ที่ตกลงซื้อธุรกิจของเลแมน บราเดอร์สในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจ และตราสารหนี้ หลังจากที่บาร์เคลย์ส ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอังกฤษ ได้ซื้อธุรกิจวาณิชธนกิจ และตราสารหนี้ ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา “กฤษดา” ให้สัมภาษณ์กับ “POSITONING” สินทรัพย์ที่มีอยู่ในเมืองไทยประมาณ 50,000 ล้านบาท มีมูลค่าและมีโอกาสทางธุรกิจสูง ซึ่งเขายังคงได้รับการติดต่อจากนักลงทุนอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของศาล มีเพียงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จากสหรัฐอเมริกาได้ส่งที่ปรึกษาเข้ามาตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งในเบื้องต้นสินทรัพย์ในเมืองไทยไม่มีความเสียหาย เพราะส่วนใหญ่มีคุณภาพและไม่มีปัญหา จึงขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหนี้ที่มาดูทรัพย์สินว่ามีสิทธิ์จะได้คืนเท่าไร และโนมูระจะประมูลสินทรัพย์เหล่านี้ด้วยหรือไม่

ในส่วนของลูกค้าของเลแมนฯ 2-3 ราย ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่จำเป็นต้องใช้เงินสภาพคล่องเพื่ออุดหนุนโครงการที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จนั้น ก็ได้สอบถามถึงการใช้วงเงินกู้ที่เหลือ ซึ่งทางบริษัทก็ได้ชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้เลแมนฯ อยู่ในภาวะสุญญากาศ และบอกให้ลูกค้าช่วยเหลือตัวเอง เรื่องแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการสนับสนุนโครงการที่เหลือ

สิ่งที่ “กฤษดา” ทำได้วันนี้คือการชี้แจง และให้ความมั่นใจ สินทรัพย์ทั้งหมดของเลแมนฯ ในไทย เป็นสิ่งที่มูลค่า เพราะส่วนใหญ่ผ่านการดีลโดยฝีมือของเขา บนหลักการ การเลือกลงทุนของเลแมนฯ คือ “ซื้อแล้ว ขายได้หรือไม่” เพราะฉะนั้นเลแมนฯ อาจไม่ใช่เจ้าของในระยะอันใกล้นี้ แต่สินทรัพย์เหล่านี้ก็ยังคงมีค่าแม้จะอยู่ในมือกลุ่มทุนอื่นๆ ก็ตาม

โครงการก่อสร้างของแกรนด์ฯ

โครงการ/ลักษณะ/มูลค่าก่อสร้าง(ล้านบาท)/ความคืบหน้า/เงินทุนที่ต้องใช้ในส่วนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ (ล้านบาท)

โรงแรม
1.เดอะเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ปากซอยสุขุมวิท 19/สิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ระดับ 5 ดาว ขนาด 362 ห้องพัก/-/เปิดบริการเมื่อปี 2536/-

2.คราวน์ พลาซ่า สุขุมวิท/ระดับ 5 ดาว ขนาด 342 ห้องพัก/2,850/32%/1,600

3.เดอะ รีเจ้นท์ แบงคอก ปากซอยสุขุมวิท 13/ระดับ 5 ดาว ขนาด 327 ห้องพัก/3,800/13%/2,700

4.เชอราตัน หัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ริมหาดหัวหิน/ระดับ 5 ดาว ขนาด 240 ห้องพัก/1,880/100%/-

5.เลอ เมอริเดียน พัทยารีสอร์ท ริมหาดจอมเทียน /ระดับ 5 ดาว ขนาด239 ห้องพัก/2,050/7%/1,750

อสังหาริมทรัพย์

1.หัวหิน บลู ลากูน รีสอร์ทชายหาดหัวหิน/มี 2 ส่วนคือคอนโดมีเนียม 3 ชั้น 18 หลัง หลังละ 6 ยูนิต และบ้านบนเกาะ 37 หลัง/ 1,200/99%/60

2.เดอะ เทรนดี้ คอนโดมิเนียมสุขุมวิท 13/แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.เทรนดี้ ออฟฟิศ สูง 32 ชั้น 2.เทรนดี้พลาซ่า 9,000 ตร.ม. และ 3.เทรนดี้ เรสซิเดนซ์ 18 ชั้น 530 ยูนิต/3,100/93%/130

3.เดอะ รีเจ้นท์ เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 13/คอนโดมิเนียม 2 อาคาร สูง 37 ชั้น และ 20 ชั้น รวม 346 ยูนิต/3,300/23%/2,000

4.เดอะ เซลส์ พัทยา คอนโดมิเนียม รูปใบเรือ หาดจอมเทียน/คอนโดมิเนียมสูง 43 ชั้น 151 ยูนิต/2,450/7%/2,100

รวม มูลค่าก่อสร้าง(ล้านบาท) 20,630 เงินทุนที่ต้องใช้ ในส่วนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ (ล้านบาท)10,340

ที่มา : ข้อมูลแกรนด์ฯ รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย