Android O มาแล้ว iPhone ต้องกลัวไหม?

ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอกูเกิล ขณะเปิดตัว Google Lens บริการที่ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลหลากหลายได้จากภาพถ่าย ซึ่งสถิติล่าสุดชี้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ถูกใช้งานบนอุปกรณ์มากกว่า 2 พันล้านเครื่องทุกวัน

ระบบปฏิบัติการใหม่ของกูเกิลอย่างแอนดรอยด์โอ (Android O) ถูกวิจารณ์ยับเยินว่าแม้จะดีกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้น ‘ว้าว’ โดยเฉพาะในอีกไม่กี่สัปดาห์ คู่แข่งอย่างแอปเปิลก็จะเปิดตัวระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) เวอร์ชันใหม่แล้วด้วย

จากเวอร์ชันปัจจุบัน iOS 10 นักวิเคราะห์ฟันธงว่าเจ้าพ่อแอปเปิลจะเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ iOS 11 ในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีที่บริษัทจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ โดยนอกจากระบบปฏิบัติการใหม่ หลายสื่ออ้างแหล่งข่าววงในยืนยันว่า แอปเปิลจะเปิดตัวคอมพิวเตอร์แมคเวอร์ชันใหม่เพิ่มเติมอีก 3 รุ่นในงานนี้ด้วย

iOS 11 ที่กำลังจะมา ทำให้สื่อนำไปเปรียบเทียบกับ Android O ซึ่งเปิดให้ทดสอบเมื่อวันที่ 17 พ.ค. เฉพาะบนสมาร์ทโฟน Google Pixel และเพิ่งถูกประกาศคุณสมบัติอย่างเป็นทางการ ในงานประชุมนักพัฒนา Google IO 2017 ช่วงวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา คุณสมบัติใหม่ของ Android O ถูกมองว่าไม่สามารถเทียบรัศมีของรุ่นพี่อย่างเวอร์ชัน N ที่ยกระดับระบบเสิร์ชให้การค้นหาทำได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ที่ถูกยกย่องว่าดีกว่าสิริ (Siri) รวมถึงการแจ้งเกิดของอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริง ‘เดย์ดรีม วีอาร์’ (Daydream VR) รุ่นใหม่ที่โดดเด่นในปีที่แล้ว

มาปีนี้ คุณสมบัติของ Android O ที่ถูกเปิดตัวออกมากลับได้รับคำวิจารณ์ว่า ไม่มีคุณสมบัติหลักใดที่เป็น killer feature สำหรับล้มยักษ์ใหญ่อย่าง iPhone 7 รุ่นปัจจุบันได้อย่างขาดลอย

เมื่อ iPhone 7 ยังล้มไม่ได้ นับประสาอะไรกับ iPhone 8 ในอนาคต ซึ่งจะเป็นไอโฟนรุ่นฉลอง 10 ปีที่คาดว่าแอปเปิลจะปฏิวัติใหม่หมดจดทั้งมุมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

***Android O ใหม่ที่ไหนบ้าง?

หนึ่งในคุณสมบัติหลักใน Android O ที่ถูกประกาศในขณะนี้ คือการเปิดให้ชาวแอนดรอยด์สามารถอ่านเอกสารหรือไฟล์นำเสนอโดยไม่ต้องดาวน์โหลด

บริการที่ทำให้ชาวแอนดรอยด์สามารถเปิดไฟล์โดยไม่ต้องดาวน์โหลดนั้นมีชื่อว่าอินสแทนแอปส์ (Instant Apps) คุณสมบัตินี้ ถูกเปิดตัวตั้งแต่งาน I/O 2016 ปีที่แล้ว วันนี้คุณสมบัตินี้ยังไม่พร้อมใช้บริการ แต่กำลังถูกผลักดันเต็มที่ให้ทันการเปิดตัวบน Android O ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

อีกคุณสมบัติเด่นของ Android O คือพิกเจอร์อินพิกเจอร์ (Picture-in-picture) ซึ่งจะรองรับทั้งการใช้งานวิดีโอและแอปพลิเคชันอื่นเช่น แผนที่ ทำให้ชาวแอนดรอยด์สามารถชมวิดีโอ หรือทำวิดีโอแชตไปด้วยขณะทำงานอื่นบนสมาร์ทโฟน รวมถึงการเปิดแผนที่ซ้อนหน้าต่างขณะอ่านอีเมล

หนึ่งในคุณสมบัติหลักใน Android O ที่ถูกประกาศในขณะนี้ คือการเปิดให้ชาวแอนดรอยด์สามารถเปิดไฟล์เอกสารโดยไม่ต้องดาวน์โหลด

เหตุที่ทำให้คุณสมบัติ Picture-in-picture ไม่ค่อยเรียกเสียงว้าว คือคุณสมบัตินี้แจ้งเกิดแล้วในสมาร์ทโฟนตระกูลแกแล็กซี่ของซัมซุงบางรุ่นแล้วเรียบร้อย

คุณสมบัติใหม่ที่พอจะเชิดหน้าชูตาได้บ้างคือระบบ copy/paste แบบใหม่ จุดเด่นคือความสามารถพยากรณ์ หรือคาดเดาได้อัตโนมัติ ว่าข้อความใดที่ผู้ใช้อาจต้องการคัดลอก เช่น ข้อมูลที่อยู่ หรือข้อความอื่นที่ระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) พบว่าผู้ใช้มักคัดลอกข้อมูลนี้บ่อยครั้ง

ดูไปแล้วระบบ copy/paste แบบใหม่ก็มีเปอร์เซ็นต์มอบความสะดวกสบายให้ผู้ใช้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่นั่นไม่ถูกเรียกว่าเป็น killer feature ที่แท้จริง

เช่นเดียวกับอีกคุณสมบัติใหม่ของ Android O อย่างการใส่ข้อมูลอัตโนมัติในเบราว์เซอร์โครม (Chrome autofill) ที่ระบบสามารถจดจำรหัสผ่านและข้อมูลอื่น ช่วยให้ผู้ใช้กดลงชื่อใช้งานแอปพลิเคชันได้ในคลิกเดียว นี่ก็ไม่ใช่ killer feature

ทั้งหมดนี้ถือว่าผิดฟอร์ม เพราะ Android O ไม่เพียงถูกคาดหวังว่าจะเป็นก้าวกระโดดของแอนดรอยด์ แต่ Android เวอร์ชันใหม่ยังมีภาพแฝงถึงพลังที่กูเกิลจะเปลี่ยนวิถีการทำงานและการใช้ชีวิตของชาวโลกในอนาคตด้วย แถม Android O ยังแบกรับภาระเรื่องการเป็นแรงกดดันให้แอปเปิลต้องเร่งพัฒนาความสามารถ อย่างที่หลายเวอร์ชันก่อนหน้านี้เคยทำได้

***อย่างอื่นน่าสนใจกว่า Android O?

ในขณะที่ Android O ถูกมองว่าไม่ว้าว กูเกิลกลับประกาศบริการอื่นที่กลบรัศมีของ Android O เสียมิดในงาน I/O ปีนี้ เรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่าไม่ใช่เพราะกูเกิลไม่สนใจพัฒนาสมาร์ทโฟนให้ดี แต่เป็นเพราะข้อจำกัดของอุปกรณ์โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรี่ที่ทำให้ระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนต้องสงวนไว้สำหรับบริการที่จำเป็น

บริการอื่นที่ไม่ใช่ Android O ซึ่งกูเกิลเรียกเสียงฮือฮาจากงาน I/O นั้นมีหลากหลาย เช่น ‘กูเกิลเลนส์’ (Google Lens) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของบริการผู้ช่วยส่วนตัว Google Assistant สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน Android โดย Lens สามารถวิเคราะห์วัตถุรอบตัวผู้ใช้ ทำให้สามารถประยุกต์บริการได้หลากหลายน่าสนใจ

machine learning ทำให้ Google Lens สามารถรู้จักวัตถุอย่างดอกไม้ หมายเลขเราท์เตอร์ไว-ไฟ หรือสถานที่ ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับข้อมูลนั้นได้ตามใจ บริการ Google Lens จะเปิดให้ใช้ผ่านบริการเก็บภาพกูเกิลโฟโตส์ (Google Photos) และบริการผู้ช่วยส่วนตัวกูเกิลแอสซิสเทนต์ (Google Assistant)

Google Lens สามารถวิเคราะห์วัตถุอย่างดอกไม้ หมายเลขเราท์เตอร์ไว-ไฟ หรือสถานที่

บริการ Google Assistant ปรับให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์คำถามเข้าสู่ระบบ แทนที่จะเอ่ยด้วยเสียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน กูเกิลก็เปิดกว้างให้ Google Assistant ถูกนำไปใช้บนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการใดก็ได้ แปลว่า Google Assistant กำลังจะแจ้งเกิดบน iPhone ในอนาคต จากเดิมที่นักพัฒนาแบรนด์อื่นหรือ third-parties สามารถสร้างหน้าที่ หรือ action ให้กับสินค้ากลุ่มลำโพงอัจฉริยะ ‘กูเกิลโฮม’ (Google Home) เท่านั้น

Google Home นั้นเป็นสินค้ากลุ่มลำโพงออนไลน์แบรนด์กูเกิลที่ผู้ใช้สามารถคุยโต้ตอบกับระบบได้โดยไม่ต้องพิมพ์หรือใช้หน้าจอ ล่าสุดกูเกิล ประกาศว่า ได้เพิ่มความสามารถให้ระบบ Assistant ใน Home ให้สามารถแจ้งเตือนงานได้หลากหลายมากขึ้น และจะเปิดให้ผู้ใช้สามารถโทร.ฟรีถึงใครก็ได้ในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา คุณสมบัตินี้เหนือกว่าคู่แข่งจากแอมะซอน (Amazon) อย่างเอคโค (Echo) ลำโพงอัจฉริยะประเภทเดียวกันที่สามารถโทร.ได้ระหว่าง Echos หรืออุปกรณ์ที่ใช้แอปพลิเคชัน Alexa ของ Amazon เท่านั้น

นอกจากนี้ กูเกิลยังเพิ่มความสามารถให้บริการเก็บภาพออนไลน์ Google Photos ให้ระบบสามารถแนะนำภาพที่ผู้ใช้อาจอยากแชร์ให้เพื่อน โดยใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ใบหน้า และข้อมูลอื่นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกภาพที่ดีที่สุด ขณะเดียวกัน Google Photos ยังมีคุณสมบัติใหม่ที่ทำให้การพิมพ์ภาพในคลังทำได้สะดวกขึ้น

ยังไม่หมดแค่นั้น กูเกิลยังแจ้งเกิดบริการ Google for Jobs เพื่อให้ทุกคนสามารถค้นหาประกาศสมัครงานได้ง่ายแบบระบุได้ว่าต้องการงานที่มีเงื่อนไขประเภทไหน หรือรูปแบบงาน และสวัสดิการเป็นอย่างไร

***ทีมพัฒนาชี้ ‘ไม่เน้นว้าว’

ประเด็นที่ว่า คุณสมบัติของบริการเหล่านี้ดูล้ำหน้าน่าสนใจมากกว่า Android O ผู้บริหารของกูเกิลให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะจุดประสงค์หลักของทีมพัฒนาคือการมอบประสบการณ์ที่ลื่นไหล ใช้งานง่ายเป็นหลัก

Google Assistant กำลังจะแจ้งเกิดบน iPhone

ฮิโรชิ ล็อกไฮเมอร์ (Hiroshi Lockheimer) ประธานฝ่ายธุรกิจแอนดรอยด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเน็ต ว่าบางครั้งคุณสมบัติที่แปลกใหม่จะเรียกเสียงว้าวจากผู้ใช้ได้ครู่เดียว จากนั้นผู้ใช้ก็จะลืม เพราะมันคือ ‘กิมมิก’ ที่ไม่มีใครใช้งานต่อเนื่อง

คำให้สัมภาษณ์นี้เป็นไปแนวทางเดียวกับสเตฟานี แซด คูธเบิร์ตสัน (Stephanie Saad Cuthbertson) ประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ของแอนดรอยด์ ที่บอกว่า ‘หากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือหมดลงช่วง 4 โมงเย็นของวัน ก็ไม่สำคัญเลยว่าในเครื่องเรามีคุณสมบัติอะไรบ้าง’

ขออภัยที่ต้องบอกว่า ‘ฟังกี่รอบก็ดูเป็นคำแก้ตัว’ เพราะหากมองข้ามศีรษะ Android O ไปทางแอปเปิล นักวิเคราะห์ก็ยังเชื่อมั่นว่า แอปเปิลมักหาโอกาสที่จะพัฒนาคุณสมบัติเก๋ไก๋ที่จะโดนใจผู้ใช้ได้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สาวกแอปเปิลยอมควักเงินหลายหมื่นซื้อไอโฟนมาใช้งานหลายรุ่นต่อเนื่อง

ไม่เช่นนั้น Android O อาจต้องเป็นฝ่ายกลัว iOS เสียเอง.

ที่มา : http://manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000053846