กะเทาะดรามาธุรกิจ “ฟิตเนส” ธุรกิจอันหอมหวาน แต่สุดหินถ้าจะอยู่รอด

เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ “ฟิตเนส” เมื่อ “ทรู ฟิตเนส” ลอยแพลูกค้าไม่ไยดี ซ้ำรอยแคลิฟอร์เนีย ว้าว ที่ปิดบริษัท หอบเงินหนี อะไรคือต้นตอของปัญหา

ธุรกิจฟิตเนสในช่วง 1-2 ปีมานี้ เรียกว่ามีแต่กราฟขึ้นเอาๆ มีการเติบโต และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็มีผู้เล่นล้มหายตายจากไปเช่นกัน โดยคาดกันว่า มูลค่าตลาดราว 9,000-10,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% โอกาสในการเติบโตก็ยังมีสูง เพราะเมื่อเทียบอัตราการออกกำลังกายของคนไทยถือว่ายังต่ำมาก และจำนวนฟิตเนสในไทยก็ยังไม่เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เคยมีรายงานเมื่อปี 2558 ของ International Health Racquet & Sports Club Association ที่ระบุไว้ว่า คนไทยเล่นฟิตเนสเพียงแค่ 0.6% ของประชากรทั้งหมดซึ่งถือว่ายังน้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชียที่เล่นฟิตเนสอยู่ที่ 8%

แต่ธุรกิจฟิตเนสก็เริ่มมีภาพติดลบกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนหนังฉายซ้ำเหตุการณ์เดียวกันกับเมื่อหลายปีก่อนที่ แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้ปิดกิจการแบบกะทันหัน ไม่บอกกล่าวสมาชิกล่วงหน้า ลอยแพสมาชิก ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะจ่ายค่าสมาชิกไปล่วงหน้าแล้ว

เหตุการณ์มาซ้ำรอยกับ ทรู ฟิตเนส ที่ทำตลาดในประเทศไทยมา 11 ปี ตั้งแต่ปี 2549 มีธุรกิจทั้งทรู ฟิตเนส, ทรู สปา และทรู เอส เป็นเดจาวูภาพเดียวกัน ปิดสาขาที่เหลืออยู่ 2 แห่ง เอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย และสาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศกโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ที่ผ่านมา ทรู ฟิตเนสมีปัญหาเรื่องการเงินมานานแล้ว ไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานและเทรนเนอร์ รวมถึงค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ทางอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ได้มีการส่งหนังสือแจ้งว่าทรู ฟิตเนสได้ค้างชำระของเดือน พ.ค. และ มิ.ย. รวมถึงค่าสาธารณูปโภคเป็นยอดค้างชำระรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.6 ล้านบาท

หลังจากที่มีการปิดสาขาในประเทศไทย ทรู ฟิตเนส กรุ๊ป ก็ทำการปิดบริการในประเทศมาเลเซียตามมาติดๆ ลูกค้าก็ถูกลอยแพเช่นเดียวกัน ทางทรู ฟิตเนสได้แถลงผ่านทางเว็บไซต์บอกถึงสาเหตุที่ต้องปิดตัวลงเพราะการแข่งขันที่สูง แต่ได้ทำการตกลงกับฟิตเนสอีกที่หนึ่งก็คือ Chi Fitness ให้ลูกค้าฟิตเนสไปเล่นได้ แต่สำหรับทรู สปากำลังมองหาที่อื่นรองรับอยู่ แต่สำหรับเรื่องเงินส่วนต่างค่าสมาชิก และค่าเทรนเนอร์ไม่สามารถคืนให้ได้

ส่วนในไทย มีสมาชิกทั้งทรู ฟิตเนส, ทรู สปา และทรู เอส เสียหายจากเหตุการณ์นี้เยอะมาก สมาชิกทรู เอสท่านหนึ่งเพิ่งต่อสมาชิกไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมร่วมหลายหมื่นบาท ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร มีแค่สัปดาห์ก่อนตอนจะนัดเข้ามาทำสปา พนักงานได้ยกเลิกบอกว่าครีมหมด ต้องสั่งสินค้าเข้ามาใหม่ และเมื่อมาที่สาขาวันที่ 9 มิถุนายนก็พบว่าปิดทำการแล้ว โทรหาพนักงานก็ไม่ติด

สมาชิกทรู ฟิตเนสอีกท่านหนึ่งเป็นสมาชิกมานาน 4-5 ปีแล้ว ทำสมาชิกรวมทั้งตนเอง และลูกสาวได้ทำสัญญาล่วงหน้า 2 ปี พร้อมกับจ่ายค่าเทรนเนอร์เพิ่มเติม รวมๆ แล้วหมดไปเป็นแสน

ส่วนบนโลกออนไลน์มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เสียหาย ทั้งในเฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์กว่า 500 คน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าค่าเสียหายจะอยู่ที่ประมาณหลายล้านบาท โดยพบว่ามีสมาชิกที่เสียหายมากที่สุดคืออยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท เพราะซื้อทั้งคอร์สฟิตเนส สปาความงาม และอื่นๆ รวมกัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วสมาชิกแต่ละคนจะมีค่าเสียหายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณหลักพันถึงหลักแสนบาท

สมาชิกทั้งหมดได้ช่วยกันพยายามติดต่อกับทางบริษัททรู กรุ๊ป จำกัด แต่ปรากฏว่ายังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดออกมารับผิดชอบ โดยสมาชิกบางส่วนได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันรวบรวมรายชื่อและค่าเสียหายเพื่อยื่นจดหมายร้องเรียนไปยังหน่วยงาน สคบ. เพื่อให้ดำเนินการกับทางทรู ฟิตเนสต่อไป

“เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” สวมบทฮีโร่ หวังดึงเข้าสมาชิก

เพื่อนร่วมวงการอย่าง “เวอร์จิ้นแอ็คทีฟ” ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยไม่กี่ปี ใช้โอกาสนี้เพิ่มสมาชิก ด้วยการประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าให้สมาชิกของทรู ฟิตเนสมาใช้บริการเวอร์จิ้น แอ็คทีฟได้ฟรีทุกสาขา และไม่มีเงื่อนไขใดๆ ใช้ได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกปัจจุบันของเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ จนเกิดกระแสต่อต้านในออนไลน์ ไม่คำนึงถึงลูกค้าเก่าได้รับผลกระทบ ยิ่งในช่วงเวลาพีคๆ อย่างช่วง 17.00-20.00 น. หรือเป็นช่วงเวลาเลิกงาน ภายในคลับคนจะเยอะเป็นพิเศษ เมื่อมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มก็ยิ่งเหมือนเบียดเบียนสมาชิกเดิม กระทบเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานเข้า ไปอีก

เมื่อกระแสตีกลับ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ จึงแก้ประกาศใหม่ ยังคงให้สมาชิกทรู ฟิตเนสเข้าใช้บริการได้ฟรีเหมือนเดิม เพียงแต่มีกำหนดเงื่อนไข โดยกำหนดระยะเวลาในการใช้บริการ เพื่อไม่ให้กระทบกับสมาชิกของเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ และใช้บริการได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนเช่นเคย

กะเทาะปัญหาฟิตเนสล้ม

หลังจากการล้มของทรู ฟิตเนส ในตลาดยังมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอยู่ 3 รายได้แก่ ฟิตเนส เฟิรส์ท, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ และวี ฟิตเนส แต่ละรายมียุทธศาสตร์แตกต่างกันออกไปรวมถึงมีฟิตเนสรายเล็กๆ ที่ไม่มีสาขาอีกมากมายตามแหล่งชุมชน

เมื่อมาดูถึงชนวนของปัญหา ทำไมธุรกิจฟิตเนสที่เป็นแบรนด์ใหญ่ถึง 2 ราย ถึงอยู่รอดได้ยาก ในมุมมอง อรวรรณ เกลียวปฏินนท์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ตลาดฟิตเนสดีมานด์ในตลาดสูงมาก ยังมีลูกค้าอีกมาก จะเห็นว่ามีทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้ามาในตลาด บางรายก็ไม่ยั่งยืน ตลาดนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินทุนต้องหนาอย่างเดียว แต่อยู่ที่ Operation ล้วนๆ ทั้งเรื่องการบริหารการเงิน โมเดลธุรกิจ และเรื่องวัฒนธรรมองค์กร แต่ละที่ไม่มีใครผิดถูก แต่ขึ้นอยู่ว่าบริหารจัดการให้อยู่รอดอย่างไร

โมเดลธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนเป็นจุดยืนของแบรนด์ ทั้งในเรื่องกลยุทธ์ การเงิน การจัดการต่างๆ หลายแบรนด์ที่มีปัญหาเกิดจากการเลือกที่จะเก็บค่าสมาชิกล่วงหน้าเป็นปี หรือตลอดชีวิต ทำให้ได้เงินก้อนแรกมาก็จริง แต่มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนในระยะยาว ทำให้อยู่รอดยาก

ลองคิดดูว่าในแต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกเยอะแยะ ทั้งค่าเช่าที่ ค่าพนักงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟ เพราะฉะนั้นการหมุนเงินเป็นเรื่องสำคัญ ฟิตเนส เฟิรส์ทเลือกใช้วิธีการเก็บค่าสมาชิกเป็นรายเดือนและเป็นสัญญาปีต่อปี ทำให้บริการจัดการเงินได้ง่ายกว่า ลูกค้าก็ไม่มีความเสี่ยงด้วย ทำให้ลูกค้ามั่นใจในแบรนด์

ช่องว่างฟิตเนสรายย่อยแจ้งเกิดในตลาด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจ เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ประสบปัญหา เป็นโอกาสให้แบรนด์เล็กได้แจ้งเกิดได้ ปัญหาใหญ่ๆ ของแบรนด์ใหญ่ก็คือเรื่องการแบกรับต้นทุน แม้จะมีทุนหนาแต่เรื่องการบริหารจัดการให้คุ้มค่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า แต่ละแบรนด์ใช้พื้นที่ใหญ่โตเฉลี่ย 3,000-4,000 ตารางเมตร

หากเทียบกับรายกลางรายย่อยที่มักใช้ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งทำให้การบริหารจัดการรายได้ต่อตารางเมตรง่ายกว่ากันมาก และเสียค่าบริการแบบรายวันเป็นส่วนใหญ่ หรือแบบรายเดือน ทำให้การตัดสินใจใช้บริการง่ายกว่า และเป็นต้นเหตุที่ทำให้สมาชิกของรายย่อยมีเพิ่มขึ้น กลายเป็นการแย่งสมาชิกจากเชนใหญ่ไปโดยปริยายเพราะมีความยืดหยุ่นมาก และมีทำเลที่สะดวกด้วย เป็นปัจจัยทำให้รายกลางและรายเล็กอยู่รอดได้

จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้รายกลางรายเล็กเกิดขึ้นมาด้วยการเปิดตามชานเมือง แต่เป็นย่านคนพลุกพล่านและใช้พื้นที่เฉลี่ยห้องแถว 2 ห้องและสแตนด์อโลน หรือไม่ก็เปิดในคอมมูนิตี้มอลล์เช่นแมกซ์ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ หรือเอ็ม ฟิตเนส บลิส บอดี้โยคะแอนด์มี เป็นต้น

อย่างกรณีของเอ็ม ฟิตเนสใช้กลยุทธ์พื้นที่ขนาดเล็กเจาะชุมชนชานเมือง เช่น สาขามหาชัย พระรามสองและตากสิน วางเป้าหมายในปี 2562 จะมีรวม 10 สาขา สมาชิก 5,000 ราย ไต่ระดับรายได้จาก 12 ล้านบาทจาก 2 สาขาในปี 58 เป็น 60 กว่าล้านบาท ปีนี้ ด้วยพื้นที่เฉลี่ย 400-1,200 ตารางเมตร ค่ารายเดือนเฉลี่ย 1,000 กว่าบาท

เป็นตลาดที่ยังต้องจับตามองกันไปยาวๆ เพราะมีการเติบโตสูงก็จริง แต่แบรนด์จะบริหารให้รอดได้อย่างไร รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคนับจากวันนี้ด้วย

เร่งร่างข้อปฏิบัติ ไม่บังคับจ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้า

จากเหตุการณ์ ผู้ประกอบการให้สมาชิกผูกสัญญาล่วงหน้าหลายปีและจ่ายเงินล่วงหน้าจำนวนมาก เมื่อธุรกิจล้มทำให้เรียกร้องค่าเสียหายค่อนข้างยาก เวอร์จิ้น แอ็คทีฟจึงลุกขึ้นมาเสนอให้อุตสาหกรรมฟิตเนสและสุขภาพในประเทศไทยร่างข้อปฏิบัติไม่ให้สถานประกอบการฟิตเนสบังคับสมาชิกให้คงสภาพสมาชิกอย่างน้อยเป็นเวลา 12 เดือนและไม่บังคับให้จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเกินสมควร

เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้นกรุ๊ป กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่วงการฟิตเนสและสุขภาพกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบยังเดินหน้าลงทุนสร้างคลับใหม่ๆ ทำให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบซึ่งทำให้วงการนี้เสียชื่อเสียง การกระทำแบบนี้ควรจะหยุดลง ซึ่งเรากำลังร่างข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”

สอดคล้องกับ ฟิตเนส เฟิรส์ท เองก็มองว่า โมเดลธุรกิจที่ให้สมาชิกจ่ายล่วงหน้าเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ยั่งยืน ทำให้มีปัญหาทั้งผู้ประกอบการและสมาชิก