แกร็บ (Grab) ถือเป็นสตาร์ทอัปที่มีอัตราการเติบโตที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับการให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถโดยสารมาได้ 5 ปี มีจุดกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย ก่อนจะขยายไป 55 เมืองใน 7 ประเทศ
แกร็บ เพิ่งครบรอบ 5 ปีในเดือนมิถุนายน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จับกลุ่มผู้ใช้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ด้วยการนำความเข้าใจรูปแบบวัฒนธรรม และพฤติกรรมของผู้ใช้ในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกันมาปรับใช้ในการให้บริการ
แอนโธนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ระบุถึง ช่วงแรกของการเริ่มต้นให้บริการ แกร็บวางตัวเป็นแพลตฟอร์มในการเรียกรถแท็กซี่ในมาเลเซีย ที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ ว่าจะได้รับความปลอดภัยจากพนักงานขับที่มีการยืนยันตัวตนชัดเจน และให้ความสะดวกในการเรียกบริการผ่านแอปพลิเคชัน
การเติบโตของแกร็บในช่วงแรกจึงเพิ่มขึ้นตามจำนวนรถแท็กซี่ที่เข้ามาร่วมให้บริการ จนได้รับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสขยายบริการออกมาสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พร้อมไปกับการรีแบรนด์ในช่วงปีที่ผ่านมา จากแกร็บ แท็กซี่ (Grab Taxi) มาเป็นแบรนด์ ‘แกร็บ’ พร้อมกับการขยายรูปแบบบริการเรียกรถโดยสารให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ยึดบริการแท็กซี่เพียงอย่างเดียว เช่น ในไทยมี แกร็บ แท็กซี่ (Grab Taxi) แกร็บ คาร์ (Grab Car) แกร็บ ไบค์ (Grab Bike)
ในขณะเพื่อนบ้าน จะมี แกร็บ โค้ช (Grab Coach) แกร็บ ชัตเทิล (Grab Shuttle) ที่เป็นบริการเดินทางแบบหมู่คณะ, แกร็บ ฟู้ด (Grab Food) บริการสั่งซื้ออาหาร, แกร็บ แชร์ (บริการแชร์รถโดยสาร) ซึ่งบางบริการยังไม่สามารถนำเข้ามาให้บริการในไทยได้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่รองรับ
แน่นอนว่า ถ้าสังเกตทิศทางในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่า แกร็บ พยายามที่จะเพิ่มรูปแบบบริการให้หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เข้าไปทำความเข้าใจกับภาครัฐ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยล่าสุด ได้เพิ่มบริการอย่าง แกร็บ นาว (Grab Now) ไว้ใช้ในการเรียกรถโดยสารประเภทใดก็ได้ ที่เร็วที่สุด โดยจะเริ่มให้บริการกับรถมอเตอร์ไซค์ก่อนในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อพนักงานขับเข้ามาอยู่ในระยะที่ใกล้กัน ตัวแอปจะเชื่อมระบบผ่านบลูทูธ เมื่อเดินทางถึงที่หมายก็หักเงินจากบัญชีแกร็บ เพย์ได้ทันที
หรือ การเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Grab Chat มาให้ผู้โดยสารสามารถติดต่อสื่อสารกับพนักงานขับรถในการระบุตำแหน่งเพิ่มเติม หรือบอกเวลานัดหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เริ่มให้บริการมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และพบว่าอัตราการยกเลิกโดยสารลดน้อยลง
หัวใจแกร็บ พนักงานขับ ผู้โดยสาร และสังคม
เมื่อดูถึงระบบนิเวศในการให้บริการของแกร็บในปัจจุบันพบว่า หัวใจหลักของ แกร็บ ในตอนนี้อยู่ที่ 3 ส่วนหลักๆ คือในเรื่องของ พนักงานขับรถ หรือพาร์ตเนอร์ ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 9.3 แสนราย เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายได้เฉลี่ยที่พนักงานได้รับ
พนักงานขับของแกร็บสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึง 32% ในแต่ละชั่วโมงที่ทำงาน (ในไทยอยู่ที่ราว 19%) ขณะเดียวกัน แกร็บยังช่วยให้พนักงานขับกว่า 6.4 แสนราย ได้เข้าสู่ระบบการฝากเงินในธนาคาร รวมถึงทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดอบรม การให้ความรู้ สอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พนักงานขับรถในประเทศไทย และสร้างความสัมพันธ์กับสังคมผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ
ฝั่งของผู้โดยสาร แกร็บ ระบุว่า ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ 5 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุบัติเหตุจากรถยนต์ส่วนบุคคลในภูมิภาค Ffp8 ใน 10 ของผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อเรียกใช้งานแกร็บ ขณะเดียวกัน แกร็บยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้สูงสุดถึง 50% เมื่อเทียบกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ
ภาคของสังคม แกร็บ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วเกือบ 3.2 ล้านกิโลกรัมต่อปี จากการช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน
ในสิงคโปร์ แกร็บยังมีการร่วมมือกับภาครัฐ นำข้อมูลการเดินทางต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่จราจรติดขัดในแต่ละช่วงเวลา ทำแผนบริหารจัดการระบบขนส่ง แกร็บสามารถลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในสิงคโปร์ลงกว่า 1.3 หมื่นคันในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
เพิ่มชำระออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต
ทิศทางที่เริ่มเห็นชัดได้มากขึ้นในปัจจุบัน คือ แกร็บพยายามทำให้ทั้งผู้ขับ และผู้ใช้มีการเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อนำมาใช้งานระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ด้วยการให้บริการ แกร็บ เพย์ (Grab Pay) ที่เป็นรูปแบบการชำระเงินของแกร็บที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ
แต่จุดที่ทำให้แกร็บได้รับความนิยมในการใช้บริการ คือ การที่เปิดให้ลูกค้าสามารถชำระค่าบริการด้วยเงินสดได้ ก่อนที่จะขยายการชำระเงินด้วยการผูกบัตรเข้ากับบัญชีผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพื่อชำระเงินผ่านระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที
ล่าสุด ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แกร็บเพิ่มบริการ แกร็บ เพย์ เครดิต เพื่อใช้เป็นอีวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ใช้เติมเงินเข้าไปในระบบ เพื่อใช้จ่ายค่าโดยสารโดยไม่ต้องพกเงินสด ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 90% ในทุกเดือนตั้งแต่เปิดให้บริการ
สำหรับในประเทศไทย รูปแบบการชำระเงินผ่าน แกร็บ เพย์ เครดิต กำลังอยู่ในช่วงขอใบอนุญาตในการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถ้าได้ใบอนุญาตจะผูกระบบเข้าด้วยกัน และเชื่อมการโดยสารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ง่ายขึ้น
สู่แพลตฟอร์ม เชื่อมโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ (O2O)
เมื่อยกระดับรูปแบบของการชำระเงินแล้ว ในระยะยาว แกร็บจึงมุ่งเป้าที่การเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจ O2O แบบเต็มรูปแบบ เพราะจากข้อมูลการสำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียผ่านรูปแบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17 ล้านล้านบาทในปี 2025
โดยแกร็บวางเป้าเพิ่มยอดพนักงานขับอีก 5 เท่าภายในปี 2025 พร้อมกับอัตราการเติบโต 5 เท่าต่อเนื่อง จึงทำให้วางเป้ารายได้ในปี 2025 ไว้ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 4.4 แสนล้านบาท) ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 20% หรือราว 2 พันล้านเหรียญ (ราว 6.8 หมื่นล้านบาท)
สิ่งสำคัญที่จะทำให้แกร็บแข็งแรงในการให้บริการ O2O ในการเป็นแพลตฟอร์มที่จะกลายเป็นตัวกลางในแง่ของการจัดส่งสินค้า คือเรื่องของความน่าเชื่อถือ จากปริมาณของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และระบบรับชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับทั่วภูมิภาคเอเชีย
ฝ่ากำแพง สานสัมพันธ์ภาครัฐ
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้แกร็บยังไม่สามารถนำบริการต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายของระบบขนส่งในแต่ละประเทศ ซึ่งอย่างในสิงคโปร์ แกร็บสามารถให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีการกำหนดขั้นตอนในความร่วมมือ อย่างการทำใบอนุญาตเพิ่มเติม
โฮย หลิง ตัน ผู้ร่วมก่อตั้ง แกร็บ กล่าวเสริมว่า ในเวลานี้ แกร็บได้เข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้บริการของแกร็บเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าต้องรอดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหนที่จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000061412