เมื่อเงิน 20 บาทเป็นมูลค่าที่คนไทยส่วนใหญ่ตัดสินใจจับจ่ายได้ง่าย ทำให้ ร้านทุกอย่าง 20 บาท ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่สำหรับ ‘Bear Store’ (แบร์ สโตร์) ขอแหวกแนวด้วยสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น เน้นคุณภาพเทียบเท่าสินค้า 40-60 บาท แต่ขาย 20 บาททั้งร้าน ว่าแต่เขาขายได้อย่างไร? กำไรยังคงมีไหม? มาหาคำตอบและที่มาของธุรกิจนี้กัน
เรียกว่ากระแสตอบรับหลังจากการเปิดตัวของร้าน Bear Store ได้เพียง 1 เดือนดีเกินคาด ชนิดที่ว่าเจ้าของธุรกิจ
“ปภาดา ชัยพันธุ์” และ “วุฒิชัย สารยศ” ผู้จัดการฝ่ายบริหารงานทั่วไป ก็ตั้งตัวไม่ทันกับคลื่นมหาชนที่เข้ามาอุดหนุนสินค้าเป็นจำนวนมาก จากสินค้าที่สต๊อกไว้สำหรับการขายใน 1 เดือนกลับเกลี้ยงภายใน 10 วันแรกที่เปิดร้าน ต้องสั่งของลอตใหม่เข้าแทบไม่ทัน
เป็นเครื่องการันตีได้ว่าการดำเนินธุรกิจนี้พวกเขาเดินมาถูกทาง จากการจับจริต! คนไทยได้ถูกจุดด้วยสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น สอดรับความต้องการลูกค้าได้พอเหมาะพอเจาะ แต่กว่าจะมาเป็น Bear Store ไม่ใช่ใครจะทำได้ง่ายๆ เพราะพวกเขาใช้เวลาเตรียมการนานถึง 6 ปี! ด้วยการศึกษาหาข้อมูลในเรื่องเทรนด์สินค้า หาโรงงานผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการเน้นในเรื่องต้นทุนและคุณภาพเป็นสำคัญ เพื่อให้สินค้าทุกชิ้นขายในราคา 20 บาทได้เทียบเท่าราคา 40-60 บาทเลยทีเดียว อย่างขวดน้ำพลาสติก จะใช้พลาสติกเกรดเดียวกับขวดนมเด็ก แต่ขายในราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น
แต่ต้องบอกก่อนว่าแม้สินค้าจะเป็นสไตล์ญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ผลิตและนำเข้ามาจากแดนปลาดิบ
สินค้าทุกชิ้นของ Bear Store นำเข้ามาจากหลากหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซียและไต้หวัน ที่พวกเขาต้องลงพื้นที่ตระเวนไปดูสินค้าใหม่ๆ จากโรงงานแต่ละประเทศเป็นประจำ รวมถึงมีทีมงานด้านการตลาดประจำที่ประเทศญี่ปุ่นทำการสำรวจตลาด และเทรนด์สินค้าใหม่ในแต่ละซีซัน เพื่อนำมาปรับปลี่ยนสินค้าของพวกเขาไปเรื่อยๆ
“โจทย์แรกที่คิดก่อนจะมาเป็น Bear Store คือเราคิดว่าทำไมสินค้าราคา 20 บาทจะขึ้นห้างไม่ได้ เพราะราคานี้ผู้คนพร้อมจับจ่าย และหากยิ่งเน้นคุณภาพ ประโยชน์ใช้สอยยิ่งทำให้ผู้คนตอบรับเป็นเท่าตัว ทำให้เราตัดสินใจเลือกทำเลเปิดสาขาแรกที่ ‘เมเจอร์ ปิ่นเกล้า’ เพราะผู้คนพลุกพล่าน และใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง”
15 พ.ค. 2560 ฤกษ์ดีสำหรับการเปิดร้าน ‘Bear Store’ ย่านปิ่นเกล้า ระดมสินค้า 800-1,000 ไอเท็ม กับ 12 หมวดหมู่ ให้ลูกค้าได้เลือกชอป ซึ่งความหลากหลายนี้โดนใจเหล่านักชอปเต็มๆ เริ่มจาก 1. หมวดสินค้าไอเดีย เช่น ที่แขวนแว่นตาในรถ 2. หมวดอุปกรณ์ในครัว เช่น ที่ขูดกะหล่ำปลีให้เป็นฝอย (ขายดี) ที่ฝานแครอท ที่ขูดข้าวโพด ซึ่งเป็นสินค้าที่หายากตามท้องตลาด 3. หมวดของใช้ในบ้าน เช่น ตัวล็อกผ้าคลุมโต๊ะไม่ให้ผ้าเลื่อน ที่เกี่ยวประตู ตัวแขวนต่างๆ 4. หมวดสินค้าเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น ตัวล็อกตู้เย็น ชุดฝึกจับตะเกียบ ช้อน ส้อม ที่กันกระแทก กันมุม แปรงขนาดเล็กสำหรับล้างหลอดในกระติกน้ำ 5. หมวดเครื่องเขียน เช่น เทปตกแต่ง สมุดลายน่ารัก แฟ้ม กรรไกร คลิปหนีบกระดาษ ที่เน้นลวดลายเป็นสำคัญ
6. หมวดกิฟต์ชอป ที่มัดผมตกแต่งด้วยอะคริลิกอย่างดี เน้นความน่ารักสดใส และต่างหู ลูกค้าส่วนใหญ่มักซื้อไปเป็นของขวัญของฝาก 7. หมวดสินค้าประเภทกระเป๋า เริ่มตั้งแต่กระเป๋าขนาดเล็กสำหรับใส่เหรียญ กระเป๋าชอปปิ้ง กระเป๋าใส่ปากกาดินสอ ซึ่งกระเป๋าที่ออกแบบมาคล้ายกล่องนมจะขายดีเป็นพิเศษ 8. หมวดไอที เช่น สายชาร์จมือถือ ที่วางมือถือ แท็บเล็ต นาฬิกาแอลอีดี อุปกรณ์ไอทีที่ใช้ในรถยนต์ 9. หมวดของใช้ในห้องน้ำ เช่น ที่เสียบแปรง กล่องเก็บแปรง 10. หมวดงานพลาสติก เป็นตะกร้าหลากหลายรูปแบบ เน้นพลาสติกเกรดเอ และสีสัน 11. หมวดงานเครื่องแก้ว ได้แก่ แก้วทรงขวดโหล และขวดต่างๆ 12. หมวดสติกเกอร์ และ DIY เช่น สติกเกอร์รีดติดเสื้อ
สติกเกอร์ตกแต่งเล็บ แป้งโดว์
จากความหลากหลายของสินค้า ทำให้ลูกค้าเกือบ 100% ทำใจไม่ได้ที่จะซื้อสินค้าเพียงชิ้นเดียวแล้วเดินออกจากร้านไป เพราะอย่างน้อยๆ ต้องซื้อไม่ต่ำกว่า 8 ชิ้นแทบทุกราย ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ Bear Store ต้องเติมสินค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลสต๊อกสินค้าที่เตรียมขายใน 1 เดือนก็หมดภายใน 10 วัน ซึ่งกระแสดังกล่าวโด่งดังไปถึงต่างจังหวัด มีลูกค้านั่งเครื่องเพื่อมาชอปที่ Bear Store โดยตรงเลยก็มี
เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสคลั่งสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นในราคาเพียง 20 บาทนั้น คุณปภาดาเผยว่า นอกจากคุณภาพสินค้าต้องดีแล้ว เรื่อง ‘การจัดวาง’ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเรียงให้สวยงาม แยกเป็นหมวดหมู่ และต้องมีพื้นที่ด้านหน้าสำหรับโชว์สินค้าไฮไลต์เพื่อดึงดูดลูกค้า ขณะเดียวกันสินค้าต้องมีความแปลกใหม่แต่ใช้งานได้จริง ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งเคล็ดลับเหล่านี้สุดท้ายก็จะตอบโจทย์ในเรื่องการจดจำร้าน Bear Store ได้ในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงยังมีการปรับเปลี่ยนสินค้าเรื่อยๆ มีสินค้าใหม่เข้าร้านทุก 2-3 วัน ดังนั้นหากชอบสินค้าชิ้นไหน ทางร้านแนะนำให้ซื้อไปเลย เพราะถ้ามาครั้งหน้าอาจ ‘ชวด’ ของที่หมายปอง
Bear Store มีดีอย่างนี้ เห็นทีใครหลายคนคงอยากเปิดร้านแบบนี้บ้าง ซึ่งเจ้าของธุรกิจก็วางแผนในเรื่องนี้ไว้แล้ว คอนเซ็ปต์คร่าวๆ คือ ทำเลต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์สโตร์เท่านั้น บนพื้นที่ตั้งแต่ 140 ตร.ม.ขึ้นไป รวมถึงการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจะขยายให้ครบ 30 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเงินลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 3-6 ล้านบาท เร็วๆ นี้จะเปิดที่บิ๊กซี จ.เพชรบุรี และเมเจอร์ สาขาเซ็นทรัล พระราม 2 เมเจอร์ สาขาปากเกร็ด และห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ ต่อไป
“สิ่งที่มากกว่ากำไร คือรอยยิ้มของลูกค้าที่เห็นสินค้าของเราแล้วมีความสุข นั่นแหละคือความสำเร็จของธุรกิจนี้ เราดีใจที่ผู้คนชื่นชอบสินค้าเหมือนกับเราชอบสินค้าที่เราเลือกมาจำหน่าย” เจ้าของธุรกิจ Bear Store กล่าวทิ้งท้ายแฝงรอยยิ้ม
ที่มา : http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000061241