“ต้องปรับให้ทัน” แรงผลักดัน ทำไมยอดขาย ‘โออิชิ’ ยังโต

ดูเหมือนว่า การปรับตัวอย่างหนักหน่วงของ “โออิชิ” ในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้ค่ายผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายนี้ สามารถฟันฝ่าวิกฤติและความต้องการของผู้บริโภคได้ ด้วยยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นสวนกระแสตลาด

อย่างที่รู้กันว่า ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แถมเทรนด์การบริโภคยุคนี้ก็เปลี่ยนเร็วมาก แต่โออิชิประกาศออกมาแล้วว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในช่วงไตรมาสที่สองตามรอบปีบัญชีของบริษัทฯ* (ม.ค. – มี.ค. 60) เติบโตขึ้น ทั้งในด้านยอดขายและกำไร

โดยผลประกอบการไตรมาสสอง ตามรอบปีบัญชีของบริษัทฯ* (ม.ค. – มี.ค. 2560) มีรายได้รวม 3,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากงวดก่อน โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 1,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และจากธุรกิจอาหาร 1,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

กำไรสุทธิในไตรมาสสอง ตามรอบปีบัญชีของบริษัทฯ* เท่ากับ 417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นกำไรจากธุรกิจเครื่องดื่ม 368 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรจากธุรกิจอาหาร 49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ตลาดรวมชาพร้อมดื่มติดลบ 12.7-14.3%

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดชาพร้อมดื่มในไตรมาสสองของปีนี้* (ม.ค. – มี.ค. 60) ติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าตลาดลดลงจาก 3,650 ล้านบาทในไตรมาสสองของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 3,187 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ หรือติดลบ 12.7% ส่วนในแง่ปริมาณ ลดลงจาก 111 ล้านลิตร เหลือ 95 ล้านลิตร หรือติดลบ 14.3% (ข้อมูลจาก : Nielsen ณ สิ้น มี.ค.60)  สาเหตุหลักมาจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

3 Key Success ดันส่วนแบ่งตลาด 46.2%

แต่ที่โออิชิยอดขายและกำไรยังเพิ่มขึ้นสวนทางตลาดชาเขียว มาจากกลยุทธ์การตลาด 3 ข้อหลักๆ คือ (1) นำนวัตกรรมมาใช้ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟรุตทีอย่างโออิชิองุ่น เคียวโฮ ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขายและภาพลักษณ์ (2) ทำการตลาดและการสื่อสาร ผ่านช่องทางที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นวัยรุ่น (3) การขยายกำลังการผลิต การบริหาร สามารถรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของโออิชิในไตรมาสสองของปีนี้ ตามรอบปีบัญชีของ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป* เพิ่มขึ้น จาก 43.1% (ม.ค. – มี.ค. 59) เป็น 46.2% (ม.ค. – มี.ค. 60) (ข้อมูลจาก : Nielsen ณ สิ้น มี.ค. 60) ครองความเป็นอันดับหนึ่งในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย”

เพิ่มความ Premiumisation ใช้กับธุรกิจอาหาร

ส่วนธุรกิจอาหาร ความท้าทายในการทำตลาดธุรกิจอาหารไม่ได้มีแค่การแข่งขันที่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่นวัตกรรมใหม่ๆ ของสินค้า เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

เสริมแนวคิด Premiumisation หรือการมุ่งเน้นนำสินค้าและบริการที่ตอบสนองเรื่องของอารมณ์ และมีนวัตกรรม ทั้งฟังก์ชันและดีไซน์ เข้าไปในการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหาร ที่ไม่ได้เน้นแค่ Functional เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความประทับใจด้วย อย่างเช่น OISHI EATERIUM อาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ ซึ่งแตกต่างจากบุฟเฟ่ต์ที่คุ้นเคย เมนูใหม่ๆ ให้มีความพิเศษมากขึ้น และบรรยากาศภายในร้านให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปย่านร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับดีเกินคาดตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขยายไปแล้ว 2 สาขา

แนวคิดนี้จะนำไปใช้ ส่วนแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ พัฒนาและปรับภาพลักษณ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ยุคใหม่ และโดนใจกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น

* รอบปีบัญชีของ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป คือ วันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 30 กันยายน ของทุกปี

รายได้ โออิชิ ไตรมาส 2 ปี 2560