รวมกันได้มาก ก็ยิ่งเสนอบริการให้ลูกค้าได้หลากหลาย อย่างATM SIM กำลังพัฒนาไปอีกขั้น ให้เข้าถึงคอบันเทิง ทำให้มือถือสามารถจองและจ่ายค่าตั๋วหนังได้ทันใจ ไม่ต้องรีบเร่งไปโรงหนังเพื่อจ่ายค่าตั๋วก่อนหนังเข้าถึง 1 ชั่วโมง นี่คือความลงตัวทางธุรกิจระหว่าง 3 พันธมิตรล่าสุด “ เคแบงก์ เอสเอฟซีเนม่า และดีแทค”
เคแบงก์กับดีแทค เปิดตัว ATM SIM เมื่อปีที่แล้ว ให้ผู้ใช้มือถือดีแทคสามารถโอน เช็กยอดเงินเฉพาะบัญชีเคแบงก์เท่านั้น แต่ปีนี้พัฒนาให้ลูกค้าสามารถโอนเงินจากเคแบงก์ไปยังธนาคารอื่นได้ 7 แห่ง และ ATM SIM และยังให้จ่ายค่าตั๋วหนังเอสเอฟได้ เพิ่มมูลค่าให้ดีแทคกับเอสเอฟ ที่เคยเปิดตัว “SF Happy Movie SIM” ที่ทำได้แค่ชมหนังตัวอย่างและส่วนลดค่าตั๋วหนัง
มารอบนี้จึงทำให้การสร้างฐานลูกค้าจากแต่ละฝ่ายเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบตามกลยุทธ์ Cross CRM (Customer Relationship Management) ที่ทำให้รู้จักและดูแลลูกค้าของตัวเองได้ใกล้ชิดมากขึ้น
“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค บอกว่า นี่คืออีกก้าวของโมบายแบงกิ้ง เพื่อฐานลูกค้าทั้งของดีแทคและเคแบงก์ที่มีรวมกันกว่า 24 ล้านคน จากจุดนี้ทำให้สามารถจับมือเพื่อต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างการดูหนัง ซึ่งดีแทคเป็นพันธมิตรกับเครือเอสเอฟอยู่แล้ว
“ปกรณ์ พรรณเชษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มบริการเสริม ดีแทค บอกว่า จากสถิติพบยอดจองตั๋วหนังทางโทรศัพท์มีประมาณ 20% ของผู้ชมทั้งหมด หากผู้ใช้ ATM SIM จองและจ่ายค่าตั๋วประมาณ 2% ของจำนวน 20% นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ดีแทคมั่นใจว่าการจองและจ่ายค่าตั๋วหนังผ่านมือถือจะได้รับความนิยมมากกว่าการจองและจ่ายผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะผู้ใช้บริการมีความสะดวกในการใช้ผ่านมือถือมากกว่าหากเทียบกับการเปิดคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก เพราะมือถือสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา หรือแม้แต่ขณะอยู่ในรถ
การจับมือ 3 ฝ่ายครั้งนี้สำหรับดีแทค คือการเพิ่มแวลูให้กับซิมมือถือ มีรายได้จากค่าโทรส่วนหนึ่ง ส่วนเอสเอฟ คือความสะดวกสำหรับผู้ดูหนัง การได้รับเงินจากลูกค้าทันที ทำให้รับรู้รายได้เร็วขึ้น และบริหารจัดการเรื่องที่นั่งในโรงหนังได้แม่นยำ เพราะระบบเดิมต้องรอลูกค้ามาจ่ายค่าตั๋วก่อนหนังฉาย 1 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถปล่อยขายตั๋วล่วงหน้าได้ สำหรับเคแบงก์ คือได้ค่าธรรมเนียมในการจ่ายโอนเงินแต่ละครั้ง
ดีแทคคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมี ATM SIM เพิ่มเป็น 1 ล้านรายจาก 7 แสนในช่วงกลางปี 2551ส่วนเอสเอฟ คือเป้าหมายการสร้างแบรนด์ให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มยอดขายในอนาคต ดันส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีอยู่ 40% จากมูลค่ารวมของธุรกิจโรงหนังปีหนึ่งประมาณ 4,000 ล้านบาท
ตัวเลขมากขึ้นแบบนี้ เพื่อย้ำกว่ายุคนี้ต้องร่วมมือ เพื่อต่อยอด ธุรกิจถึงจะเติบโตได้
Did you know?
คนไทยเฉลี่ยดูหนังคนละ 2 เรื่องต่อคนต่อปี คนอเมริกันดูเฉลี่ย 8 เรื่องต่อคนต่อปี