ผู้ดื่มกาแฟจะรู้สึกได้ทันทีว่าลาเต้ของ Starbucks ขนาด Tall จะมีราคาถูกหรือแพง อย่างในสหรัฐอเมริกา โดยเฉลี่ยแล้ว “ลาเต้ร้อน” ขนาด Tall ของ Starbucks จะมีราคาแพงกว่ากาแฟของร้านกาแฟ หรือร้านอาหารทั่วๆ ไป แต่จะถูกกว่าอาหารซักมื้อ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
แต่สุดท้ายแล้ว Starbucks คือเครื่องดื่มระดับทั่วๆ ไป หรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยกันแน่? เว็บไซต์ Value Penguin ได้เปรียบเทียบกาแฟของร้านแฟรนไชส์ชื่อดังใน 39 ประเทศทั่วโลก เพื่อสะท้อนถึงราคาของสินค้าในประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา
ซึ่งผลปรากฏว่าแทบจะทุกประเทศในโลก ต้องจ่ายเงินมากกว่าคนสหรัฐฯ สำหรับการดื่ม Starbucks หนึ่งแก้ว บางประเทศก็มากกว่าแค่นิดหน่อย เช่น ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เป็นเครื่องดื่มราคากลางๆ ที่ทุกคนสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ใช่เครื่องดื่มที่จะ “พิเศษ” อะไรนัก
แต่บางประเทศราคาของ Starbucks ก็มากกว่าในสหรัฐฯ หลายเท่าตัว กาแฟลาเต้แก้วเดียวอาจจะมีราคาเท่ากับมื้ออาหารทั้งมื้อ หรือรายได้ขั้นต่ำทั้งวันกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในรัสเซีย ที่ Starbucks ที่นั่นแทบจะแพงที่สุดในโลก เช่นเดียวกัน อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยที่ปัจจุบันลาเต้ขนาด Tall มีราคาอยู่ที่ 110 บาท ซึ่งก็ถือว่าแพงกว่ากาแฟของร้านทั่วๆ ไปอยู่พอสมควร
Value Penguin เลือกใช้ข้อมูลจากเดือน ม.ค. 2016 ของบริษัทวิจัย Euromonitor International ที่รวบรวมราคาของ Starbucks ใน 44 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวไม่ได้เป็นราคาของ Starbucks ในประเทศนั้นๆ โดยตรง เพราะ Value Penguin เลือกที่จะปรับราคาด้วยค่าภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) เพื่อให้ออกมามีมาตรฐานเดียวกัน
แน่นอนว่าตัวเลขราคาของ Starbucks ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ คือการสะท้อนถึงราคาสินค้า และบริการของแต่ละประเทศ แต่นอกจากนั้นนี่ยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มเป้าหมายของ Starbucks ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป และในแต่ละประเทศยังมอง Starbucks แตกต่างกันออกไปด้วย บางประเทศเห็นเป็นเพียงกาแฟระดับพื้นๆ ทื่ดื่มได้อย่างไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่สำหรับบางประเทศ Starbucks คือสินค้าระดับบน ที่บ่งบองสถานะของผู้ดื่มได้ว่าน่าจะ “ไม่ธรรมดา”
ที่มา : https://www.valuepenguin.com/countries-where-buying-starbucks-most-and-least-extravagant