10 ล้านวิว !! คือตัวเลขการเข้าชม Official Mv. เพลง “คนละชั้น” ของศิลปินใหม่แกะกล่อง “เจ้านาย-จิณเจษฎ์ วรรธนะสิน” ลูกชายคนโตของเจ้าพ่อเพลงแร็ป “เจ-เจตริน” กับ “ปิ่น-เก็จมณี วรรธนะสิน” ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เรียกว่าเป็นความสำเร็จ แบบเอกอุสำหรับการประเดิมการเป็นศิลปิน ภายใต้สังกัด “เจมีดี” (Jaymidi) ที่เจตั้งใจเปิดขึ้นมาเพื่อผลักดันลูกชายโดยตรง !!
ความสำเร็จที่นอกจากจะผ่านแรงหนุนของพ่อ (และแม่) แล้ว ยังได้มาจากฐานแฟนคลับทีมสะใภ้มโนทั้งหลาย ที่เคยถึงกับปวารณาตน ….. #ยอมแล้วทูนหัว อยากมีผัวเป็นลูกเจ-เจตริน ….. มาแล้ว
เอาจริงๆ ก็ไม่แปลกที่สาวๆ กว่าค่อนประเทศจะชูมือเชียร์เจ้านาย เพราะเรียกว่าเกิดมาครบเครื่อง ทั้งรูปร่าง หน้าตาที่หล่อเหลา จากส่วนผสมที่ลงตัวของเจ-ปิ่น ไหนจะเรื่องของความสามารถ อายุอานามเพียงแค่ 17 ปี แต่เก่งรอบด้าน ทั้งร้องเพลง ตีกลอง เล่นเปียโน เต้น รวมทั้งเล่นกีฬา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทั้งพรสวรรค์ และพรแสวงที่ถอดแบบมาจากผู้เป็นพ่อทุกกระเบียดนิ้ว
แต่ท่ามกลางแรงเชียร์ชองฝ่ายสนับสนุน คือบรรดาติ่งสาวๆ อีกฟากหนึ่งก็มีฝ่ายค้าน ออกมาจับผิดว่าทั้งเพลง ทั้ง มิวสิกวิดีโอ ช่างละม้ายคล้ายกับเพลง “ I’ll Show You” ของ “จัสติน บีเบอร์” ราวกับแกะ
ในส่วนของเพลง คนที่รับไปเต็มๆ ก็น่าจะเป็นหน้ากากทุเรียน “ทอม Room 39” ที่มานั่งแท่นโปรดิวเซอร์ของเพลงนี้ โดยในเว็บไซต์พันทิป มีคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นว่า มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการ Cover เพลงดังๆ อยู่แล้ว จึงไม่นึกแปลกใจ หากว่าเพลงนี้ จะบังเอิญไปมีกลิ่นไอคล้ายเพลงดังๆ ของศิลปินระดับโลก
ส่วนในเรื่องของมิวสิกวิดีโอ เจ-เจตรินเองก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงของจัสติน ที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2558 และมีผู้เข้าชมแล้วกว่า 370 ล้านครั้ง
ว่ากันตามจริง เรื่องของการลอกเลียน กับการได้แรงบันดาลใจ ก็ยังคงเป็นเรื่องราวที่ถกเถียงกันมาทุกยุคทุกสมัยของวงการเพลงบ้านเรา เพราะที่สุดแล้ว มันก็ห่างกันแค่เส้นบางๆ กั้นอยู่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่มองในประเด็นว่าลอกหรือไม่ลอก !!?? แต่มองในโมเดลธุรกิจ ความสำเร็จของเจ้านาย ก็นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
โมเดลของค่าย “เจมีดี” (Jaymidi) กับยอดวิวกว่า 10 ล้านวิวของเพลง “คนละชั้น” โดยอาศัยเพียงแค่การยิงโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ ไมได้มีสื่ออื่นในมือให้โหมกระหน่ำนั้น สะท้อนให้เห็นถึงยุคเสื่อมถอยของค่ายเพลงใหญ่ๆ ในยุคก่อน
ยุคนี้เพลงจะดัง ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ร่มใบบุญของค่ายเพลงยักษ์ ไม่จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินมหาศาลในการทุ่มซื้อสื่อโปรโมต แต่อาศัยการขายคอนเทนต์ที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และโดนความรู้สึกของผู้บริโภคจังๆ
“ก้อง ห้วยไร่” ที่โด่งดังจากเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” น่าสนใจในแง่ของภาษาเพลง ที่งดงาม สละสลวย
“ลำไย ไหทองคำ” ก็ดังเป็นพลุแตกด้วยยอดวิว 270 ล้านวิว เพราะท่าเต้นที่สร้างการจดจำ และกระแสวิพากษ์วิจารณ์
ขณะที่เจ้านายลูกพ่อเจ ที่มาไกลได้ถึงขนาดนี้ เพราะมีการสั่งสมฐานแฟนคลับมาก่อนหน้านี้ พอมีการปล่อยผลงานออกมา ฐานแฟนคลับเหล่านี้เอง ที่เป็นแรงเชียร์สำคัญ ที่ดันไปสู่เส้นชัย ลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าไม่ใช่เจ้านาย ต่อให้ร้องเพลงเพราะกว่านี้ หรือมิวสิกวิดีโอเจิดกว่านี้ ก็อาจจะไม่มียอดคนดูมากมายขนาดนี้
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามูลค่าของตลาดวัยรุ่นนั้น สูงมาก ไม่แปลกที่จะมีแต่คนกระโจนลงมาเล่นในตลาดนี้ แต่เจ-เจตริน ได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องไปควานหาคอนเทนต์ที่ไหน เพราะมีของดีอยู่ในมืออยู่แล้ว เพียงแต่แค่หาวิธีในการแปลงสินทรัพย์ให้มีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ซึ่งการทำงานในรูปแบบของ Independent Individual คือเป็นค่ายเพลงเล็กๆ ที่ทำเอง ขายเอง แบบรัฐอิสระ ไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของค่ายใหญ่แบบนี้ นั่นหมายถึงสามารถกอบโกยไปเต็มๆ แบบไม่ต้องแบ่งใคร
ที่สำคัญเจไม่มีมีเจ้านายแค่คนเดียว สินทรัพย์ในมือยังหมายรวมถึงลูกชายอีก 2 คน คือ “เจ้าขุน” และ “เจ้าสมุทร” ที่มีการกรุยทาง สร้างฐานของแฟนคลับไปล่วงหน้าแล้วเช่นเดียวกัน
ว่าไปแล้ว โมเดลความสำเร็จของเจ้านาย (และอาจจะรวมถึงอีก 2 เจ้าที่เชื่อว่าน่าจะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้) ก็ไม่แตกต่างจากโมเดลที่สร้างความสำเร็จให้กับจัสติน บีเบอร์ ที่สร้างฐานแฟนคลับจากการโพสต์วิดีโอของตัวเองผ่านเว็บไซต์ยูทูป จนไปเข้าตา “สกูเตอร์ เบราน์” (Scooter Braun) นักการตลาดของ So So Def ในตอนนั้น กระทั่งนำพาสู่การเซ็นสัญญากับ Island Def Jam Music Group และ Island Records ในเวลาต่อมา กระทั่งกลายเป็นศิลปินที่โด่งดัง มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นแรงบันดาลใจของใครต่อใคร รวมไปถึงเจ้านายด้วย
และด้วยโมเดลของธุรกิจที่เดินทางมาสู่ยุคแห่งการล่มสลายของค่ายเพลงใหญ่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สองยักษ์ในตำนานอย่างแกรมมี่ และอาร์เอส ต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนผ่าน
แกรมมี่ ลดความสำคัญกับการปั้นศิลปินหน้าใหม่ แต่หันมาให้ความสำคัญกับการ “ต่อยอด” จากคอนเทนต์เดิมๆ โดยการแปลงเพลงมาสร้างเป็นซิรี่ส์ ซึ่งคนที่รับผิดชอบโมเดลนี้โดยตรง ก็คือ “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” ในนามของ GMM BRAVO รวมถึงการพยายามผลักดัน 2 ช่องทีวีในมืออย่างช่อง One และ Gmm25 ที่ชิงชัยอยู่ในสมรภูมิทีวีดิจิตอล
ขณะที่ อาร์เอส แม้จะมีช่อง 8 อยู่ในมือ แต่ธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำ กลับกลายเป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งมีทั้งสกินแคร์และครีมบำรุงผม ที่ผลิตออกมาในหลากหลายแบรนด์ แต่อาจจะมาได้ออกตัวว่าเป็นของ อาร์เอส เพราะทำในนามของ บริษัท ไลฟ์ สตาร์ จำกัด และล่าสุดยังมีการทุ่มเงินซื้อธุรกิจ Shop 1781 ซึ่งเป็นธุรกิจการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ครีม เซรั่ม และอาหารเสริมทั้งหลาย โดยตอนนี้มีการตั้งกติกาไว้ว่า สินค้าใดที่ไม่ได้จำหน่ายผ่านช่องทาง 1781 จะไม่สามารถมาซื้อโฆษณาในช่อง 8 ได้
ว่ากันว่าโมเดลธุรกิจของ อาร์เอส ในตอนนี้ ไม่ใช่ค่ายเพลง ไม่ได้วางตัวเป็นเจ้าของสื่อ แต่เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง ที่มีสื่ออยู่ในมือ ไว้โปรโมตสินค้าของตัวเอง
โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ยุคนี้ไม่ใช่ยุคทองของค่ายเพลงอย่างแกรมมี่ และอาร์เอส อีกต่อไป !!
ที่มา : http://manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9600000069220