Facebook ลุยโฆษณา Messenger ทั่วโลก ด้านอินสตาแกรม อ่วมพิษโฆษณาสินค้าปลอม

เฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศขยายพื้นที่ทดสอบบริการโฆษณาบนแอปพลิเคชันสนทนา “แมสเซนเจอร์” (Messenger) ให้รองรับทุกประเทศทั่วโลก หลังจากทดสอบเฉพาะออสเตรเลีย และไทย ด้านอินสตาแกรม (Instagram) กำลังพบปวดหัวกับโฆษณาแสดงสินค้าปลอม ซึ่งจงใจใช้สัญลักษณ์แบรนด์สินค้าดัง และตัวเลขลดราคาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

Messenger แชตพร้อมโฆษณา

โฆษณาบนแอปพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนา Messenger จะปรากฏในในส่วนโฮม หรือหน้าแรกของแอปพลิเคชัน เมื่อผู้ใช้แตะที่โฆษณา ระบบจึงจะแสดงข้อมูลที่อาจเป็นเว็บไซต์ของแบรนด์โดยตรง หรือเข้าสู่การสนทนากับแบรนด์ผ่าน Messenger ก็ได้ นักการตลาดจะสามารถสร้างโฆษณาเหล่านี้ผ่านระบบซื้อขายจัดการโฆษณาแอดส์แมเนเจอร์ (Ads Manager) และพาวเวอร์อิดิเตอร์ (Power Editor) โดยสามารถเลือกให้โฆษณาแสดงเพิ่มเติมบน Facebook และสามารถรวมโฆษณา Messenger ในแคมเปญ พร้อมตัวเลือกที่มากขึ้น

รูปแบบการโฆษณาบน Messenger มีทั้งการโฆษณาผ่านระบบตอบอัตโนมัติ หรือบอต (bot) และส่วนแสดงเนื้อหาที่จะถูกลบหายไปในเวลา 24 ชั่วโมง เหมือนบริการสตอรีส์ของสแนปแชต (Snapchat Stories) เบื้องต้น Facebook ระบุว่า โฆษณาบน Messenger สามารถรองรับธุรกิจทุกขนาด คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักการตลาดทั่วโลก เพราะวันนี้ชาวโลกกว่า 1.2 พันล้านคนลงมือใช้งาน Messenger ทุกเดือน

Instagram อ่วมพิษโฆษณาสินค้าปลอม

สำนักข่าวออนไลน์ “ดิจิเดย์” (Digiday) ตีพิมพ์รายงานจากผู้อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกอเมริกันว่า Instagram กำลังเร่งมือหาทางแก้ปัญหาโฆษณาแสดงสินค้าปลอม ซึ่งอาจเป็นบ่อนทำลายธุรกิจของ Instagram เหมือนที่ Facebook เคยถูกโจมตีเข้าขั้นวิกฤติ เพราะแก๊งข่าวปลอมระบาด

Digiday ระบุว่า ทะเลโฆษณาสินค้าปลอมบน Instagram มีทั้งสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และรองเท้า โฆษณาเหล่านี้จะเป็นประตูนำผู้ใช้เข้าสู่เว็บไซต์หลอกลวง โดยจงใจใช้สัญลักษณ์แบรนด์สินค้าชื่อดังให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

จำนวนโฆษณาสินค้าปลอมบน Instagram นั้นแพร่หลาย ทำให้ Instagram กำลังเร่งมือหาทางแก้ปัญหาหลังจากรับรู้ปัญหานี้แล้ว ด้วยการเร่งตรวจสอบความถูกต้องของโฆษณาบนฟีดของผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าในเร็ววันนี้ Instagram อาจมีการประกาศมาตรการเข้มงวด เพื่อแสดงตัวว่าไม่ได้นิ่งนอนต่อปัญหาโฆษณาสินค้าปลอมที่เกิดขึ้น


ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000072712