เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ “มาลี กรุ๊ป” ได้ผลัดใบสู่ทายาทยุคเจนเนอเรชั่น 2 โดยมี “รุ่งฉัตร บุญรัตน์” ขึ้นมาเป็นแม่ทัพใหญ่ ต้องพบกับความท้าทายรอบด้านจากเทรนด์ความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามาลีได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่มากมาย กับโจทย์ใหญ่ที่ต้องปั๊มรายได้ และส่วนแบ่งการตลาดให้เพิ่มขึ้น ทั้งการเปลี่ยนขื่อบริษัทจาก “มาลีสามพราน” เป็น “มาลี กรุ๊ป” เพื่อยกภาพลักษณ์ให้ดูอินเตอร์ขึ้น และมีการออกสินค้าใหม่ๆ ต่อเรื่อง
ในปีนี้ถือเป็นภารกิจยักษ์ใหญ่ของมาลี กรุ๊ป ในการจัดทัพครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี ใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการรีแบรนด์ ปรับโครงสร้างองค์กร สำนักงานใหม่ ต้องการลบภาพลักษณ์ที่แต่เดิมเป็นแค่ “ผู้ผลิตน้ำผลไม้” สู่การเป็น “ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก” ภายในปี 2564
รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของมาลีจากการเป็น ‘ผู้ผลิตน้ำผลไม้’ ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับรู้กันดีอยู่แล้ล้ว ไปสู่การเป็น ‘ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก’ ให้ได้ภายใน พ.ศ. 2564 นับเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของบริษัทฯ ในรอบเกือบ 40 ปีที่ได้ดำเนินธุรกิจ
นอกจากธุรกิจในประเทศแล้ว ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจส่งออกหรืออินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส ที่มาลีได้ผลิตและส่งผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายทั้งในแบรนด์มาลีและการรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing หรือ CMG) ไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ เช่น ภูมิภาค CLMV จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการเติบโตถึง 30-40% โดยธุรกิจต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตของมาลี กรุ๊ปเช่นกัน
ชูกลยุทธ์ 4 R
Rebrand
ก่อนหน้านี้ มาลี เป็นที่รู้จักในตลาดเมืองไทยมาเกือบ 40 ปี ในชื่อของ “มาลีสามพราน” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “มาลี กรุ๊ป” ใน พ.ศ. 2559 การปรับภาพลักษณ์ของบริษัทในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยน Brand Identity ใหม่ ที่ได้รับการออกแบบให้ดูทันสมัย สื่อถึงความเป็นสากล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Growing Well Together” ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ที่ประกอบด้วย ผู้บริโภค พนักงาน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม
นอกจากการปรับ Brand Identity ใหม่ของมาลีกรุ๊ปแล้ว ในส่วนของผลิตภัณฑ์แบรนด์มาลี ก็ได้มีการปรับ Product Portfolio ใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทที่มุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เป็นเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค
รีออแกไนซ์ (Reorganize)
โดยปรับโครงสร้างองค์กรภายในทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดทัพทีมผู้บริหารใหม่ รวมถึงการคัดสรรและผลักดันบุคลากรเดิมของมาลีสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถ เพื่อให้เกิดการผสมผสานของทักษะและประสบการณ์ รวมทั้งการปรับโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร ที่ประกอบด้วย 1.เพิ่มศักยภาพและทักษะการทำงานให้แก่พนักงานทุกระดับ โดยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น 2.จัดตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น Business Development และ International Business เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก
รีโนเวต (Renovate)
ลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ปรับปรุงออฟฟิศและโรงงาน เครื่องจักรและกระบวนการทำงานต้างๆ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยพัฒนา และควบคุมคุณภาพสินค้า รวมไปถึงระบบหลังบ้าน
- การวาง Master Plan โรงงานใหม่ทั้งหมดให้ทันสมัยขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
- ลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตจาก 300 ล้านลิตรเป็น 330 ล้านลิตรต่อปี รองรับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- ระบบ Back Office ด้วยการพัฒนาระบบ IT ระบบ CRM รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลมาใช้
- ปรับปรุงออฟฟิศใหม่ ผ่านแนวคิดในการออกแบบ “ให้ออฟฟิศเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2” มีการแบ่งโซนระหว่างทำงานและผ่อนคลาย รวมทั้งการนำระบบปรับอากาศที่มีการถ่ายเทอากาศออกไปสู่ข้างนอก
รีคอนเนก (Reconnect)
ในเรื่องของการตลาด และการสื่อสารกับผู้บริโภค ต้องเน้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายผ่านสินค้า โดยร่วมมือกับบริษัทพาร์ตเนอร์ในด้านต่าง ๆ พัฒนาสินค้าใหม่ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต
การพัฒนาช่องทางขายและการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Monde Nissin Corporation ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคประเทศฟิลิปปินส์, Mega Lifesciences ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น