วิถี CEO ในวิกฤต

ทุกเช้าซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบทุกบริษัทต้องเดินเข้าห้องประชุมพร้อมกับทีมผู้บริหารจากทุกฝ่าย ใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงพูดคุยกัน เพราะเวลานี้ไม่ใช่ช่วงของการนั่งนิ่งๆ อยู่ในห้องทำงานของตัวเอง แต่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมอนิเตอร์ความเปลี่ยนแปลงโลก เจาะลึกถึงปัญหา ความเสี่ยงในธุรกิจทั้งหมดของตัวเอง และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้ยอดขายหลุดร่วง จนไม่สามารถอยู่ได้ นอกเหนือจากนี้กลยุทธ์การบริหารธุรกิจยังต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเร่งลงทุนโครงการใหม่ เนื่องจากยังไม่เห็นกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมาย เกือบทั้งหมดคือ Play Safe แต่ก็ไม่ใช่การพักรบ เพียงแต่คิดหนักขึ้นตั้งแต่การลงทุน จนถึงกลยุทธ์การตลาด มีโอกาสเมื่อไหร่ต่างพร้อมรุกทันที

“ก้องเกียรติ โอภาสวงการ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน)
ผลกระทบ-ตลาดหุ้น และการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ของลูกค้าลดลง
แนวทางแก้ปัญหา
1. 2-3 ปีที่ผ่านมาจ้างคนมาเทรนพนักงาน เสริมความรู้ เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพมากขึ้น
2. ปรับลดสาขาที่ไม่จำเป็น และเอามารวมกัน
3. ต้องยอมขายบริษัทที่กำไรไม่ดี
4. จ้างคนข้างนอก เป็นเลือดใหม่เข้ามาในบริษัท และปรับเลือดเก่าที่เข็นไม่ขึ้นหรือไม่ปรับตัวออก
5. เทรนความรู้ให้คู่ค้า และลูกค้า เพื่อสามารถตอบสนองกับสินค้าใหม่ ๆ ของบริษัทได้
6. มองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ มีอะไรที่ราคาถูกก็ซื้อ

“ฟูคูจิโร่ ยามาเบะ” ประธานบริษัทมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด
ผลกระทบ-ยอดขายลดลง
แนวทางแก้ปัญหา
1. เน้นกระแสเงินสดให้มากที่สุด
2. ดูแลปริมาณหนี้ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
3. เน้นประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น
4. พยายามมองหาโอกาสในธุรกิจ หรือในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด
ผลกระทบ-จำนวนผู้โดยสารลดลง
แนวทางแก้ปัญหา
1. รักษาเงินสด ลดต้นทุน ทำตัวให้เล็กที่สุด
2. นำระบบไอทีมาใช้มากที่สุด เช่นระบบการจองตั๋วโดยสาร
3. หารายได้เพิ่มจากส่วนอื่น เช่น การจำหน่ายอาหาร ของที่ระลึกบนเครื่อง
4. “วอร์รูม” มีผู้บริหารทุกฝ่ายทั้งแต่นักบิน จนถึงฝ่ายบุคคล การตลาดประชุมทุกเช้าวันอังคาร
5. ทีมผู้บริหารระดับสูง 5 คน คุยกันทุกเช้าทั้งในรูปแบบเจอตัว หรือประชุมผ่านโทรศัพท์
6. Put the right man on the right job.
7. การตลาดจัดจ้าน ถ้าหาลูกค้าใหม่ไม่ได้ ต้องพยายามรักษาลูกค้าเดิม และให้ลูกค้าเดิมซื้อมากขึ้น

“อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเข้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (เอพี)
ผลกระทบ-กำลังซื้อผู้บริโภคลด และแบงก์เข้มงวดเรื่องปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดขายลดลง
แนวทางแก้ปัญหา
1. บริหารจัดการเรื่องกระแสเงินสด
2. หมุนเวียนสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ทำงานละเอียด หรือลงในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกระจายสินค้าในหลากหลายประเภทที่เหมาะสม และการเช็กซัพพลายดีมานด์อย่างใกล้ชิด
4. การใช้คนอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนพนักงานสำหรับส่วนต่างๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
5. ไม่เน้นลดต้นทุน เพราะเกรงกระทบต่อความรู้สึกลูกค้าว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์คุณภาพลดลง
6. ปลูกจิตสำนึกพนักงานในเรื่องการประหยัดด้านต่างๆ
7. เตรียมรับบุคลากรที่อาจตกงานจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารระดับกลาง (Middle Management)
8. เป็นเวลา 2 ปีแล้วที่มีการเทรนพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทักษะของ Thinking Management เพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางมีความสามารถผสมผสานระหว่างทักษะเดิมกับหลักในการบริหาร
9. ด้านการตลาด การขาย และโฆษณา เน้นการสื่อสารที่ก่อให้เกิดยอดขายมากขึ้น โดยเฉพาะ Below the line

“วิเชียร เมฆตระการ” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส)
ผลกระทบ-สภาพคล่องทางการเงินลด ทำให้ต้นทุนการเงินในการลงทุนโครงการใหม่สูงขึ้น
แนวทางแก้ปัญหา
1. ทำงานระมัดระวังมากขึ้น ประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด
2. ลดแผนลงทุน 3G จากเดิมครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด เหลือ 5 จังหวัด เน้นพื้นที่ที่มีโอกาสทางธุรกิจ

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค)
ผลกระทบ– ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น
แนวทางแก้ปัญหา
1. ในคอนเซ็ปต์ของดีแทค ที่ต้องการเน้นให้ทำงานอย่างสนุกสนาน จึงทำโครงการ Cost Cutting Competition เพื่อจูงใจให้ผู้บริหาร หรือพนักงานที่สามารถเสนอโครงการลดต้นทุนอย่างได้ผล แล้วได้ผลตอบแทนจำนวนหนึ่ง
2. งบการตลาด การขาย หากยอดขายเท่าเดิมก็จะลดลง หากขายได้มากขึ้นจะใช้งบเท่ากับปี 2008 โดยมีการใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น
3. ยังไม่มีแผนลดงบลงทุนในโครงการใหม่ รวมทั้ง 3G