ทุกเช้า 7 โมงครึ่ง “เจริญศักดิ์” บุรุษไปรษณีย์ประจำศูนย์หลักสี่ขะมักเขม้นกับการทำหน้าที่คัดแยกจดหมายและกล่องพัสดุต่างๆ รวมทั้งกล่องอาหารดีลิเวอรี่จากภาคต่างๆ ของไทย เพื่อนำส่งถึงประชาชนย่านหลักสี่ แจ้งวัฒนะ แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ “เจริญศักดิ์” ก็พึงพอใจ เพราะแต่ละวันที่ผ่านไป เขามองเห็นอนาคตตัวเองที่ก้าวหน้าไปพร้อมกับองค์กร
จากสถานการณ์ “หลังผิงฝา” ของ “เจริญศักดิ์” และคนไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งมีทางเลือกเดียวเท่านั้นคือต้องเดินไปข้างหน้า ท่ามกลางเสียงบอกว่าเป็นเส้นทางของธุรกิจที่ไร้อนาคต แต่วันนี้เหมือนหนังคนละม้วน จากองค์กรที่เคยประสบปัญหาขาดทุน ต้องได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือ วันนี้บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กลายเป็นรัฐวิสาหกิจดีเด่น เป็นองค์กรที่ทำกำไรเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อปี และมีช่องทางอีกมากมายที่จะทำรายได้มากขึ้น
แม้บริการที่มีมานานอย่างโทรเลขจะหายไป แต่ทุกวันนี้ไปรษณีย์ยังมีบริการส่งธนาณัติ จดหมาย พัสดุกล่องเล็กๆ และยังขยายบริการออกไปมากมาย ทั้งส่งเงินออนไลน์ เติมเงินมือถือ ส่งไส้อั่ว ส่งสินค้าตัวอย่าง ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ ตู้เย็น และอีกไม่นานอาจไปถึงบริการย้ายบ้าน
ไปรษณีย์เคยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนนัก แต่วันนี้พร้อมลงทุนนำระบบไอทีใหม่ๆ อย่าง Radio-Frequency Identification หรือ RFID เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่บริษัทขนส่งข้ามชาติใช้งาน นำเข้ามาติดตั้ง เพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
จากอาชีพที่หลายคนเดินอาจเมินหน้า หรือถ้าเข้ามาก็ด้วยเหตุผลเดียวคือเพราะความมั่นคง วันนี้กลายเป็นเป็นอาชีพที่หลายคนแย่งกันสอบแข่งเข้ามาทำงาน
แบรนด์ที่เคยดูไร้สีสัน ไม่เคยมีตัวตน วันนี้กลายเป็นแบรนด์ ที่โดดเด่น มีคอนเซ็ปต์ “แรง” รับกับ Positioning ที่กำลังเปลี่ยนไป จากแค่คนส่งจดหมาย มาเป็นผู้ให้บริการขนส่ง (Logistic) อย่างครบวงจร
ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากองค์ประกอบของความสำเร็จ ที่เริ่มตั้งแต่ผู้นำ ใจที่มุ่งมั่นของพนักงาน การวางแผนอย่างมีระบบ การนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ ไปจนถึงขั้นตอนการสร้างแบรนด์ ความสำเร็จเดินทางมาถึงระดับหนึ่ง แต่เพราะการแข่งขันที่มากขึ้น ท่ามกลางกระแสกดดันเรื่องการเปิดเสรี วันนี้บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จึงยังแผนงานอีกมากที่ต้องทำ
ขณะที่คนภายนอก และคนในกลุ่มของกิจการโทรคมนาคม มองว่ากิจการไปรษณีย์ไร้อนาคต ต้องพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจึงอยู่รอด แต่ทีมผู้บริหารระดับสูงกลุ่มหนึ่งที่เติบโตในกิจการไปรษณีย์มาตลอดชีวิตกลับมองตรงข้าม
10 ปีที่แล้ว คนเหล่านี้มีใจพร้อมแยกตัวเองออกจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยตลอดเวลา แม้ว่าต้องออกจากกงสีที่ใช้ร่วมกันกับกิจการโทรศัพท์ระหว่างประเทศมานานกว่า 20 ปี เพราะมั่นใจว่ากิจการไปรษณีย์มีอนาคตไกลกว่าที่คนนอกมอง พวกเขารู้ว่าจุดแข็งที่มีอยู่คือสำนักงานไปรษณีย์ที่เข้าถึงชุมชนมากกว่าสาขาของธนาคารขนาดใหญ่ทั่วไปจะทำให้บุรุษไปรษณีย์เป็นได้มากกว่าคนส่งจดหมาย จะทำให้กิจการไปรษณีย์เป็นได้ถึงบริษัทขนส่งสินค้า (โลจิสติกส์) แทนองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ที่ปิดตัวลง
แต่ความมั่นใจนี้ ต้องถ่ายทอดให้กับคนไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนให้ได้