“หมัดต่อหมัด” รถอัตโนมัติ โตโยต้า vs นิสสัน

ถึงจะมีกลยุทธ์และแนวทางในการทำตลาดที่แตกต่างกันแต่ทั้ง2 สองค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นอย่างนิสสันและโตโยต้า ก็มุ่งหน้าไป จุดหมายเดียวกันคือการก้าวไปสู่อนาคตของยานยนต์ที่ไร้คนขับหรือรถอัตโนมัติ

ถึงแม้ก่อนหน้านี้โตโยต้าจะปั้นรถยนต์เลกซัสแอลเอส 2018 ซึ่งเป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองออกมาแต่ด้วยความที่โตโยต้ายังไม่กล้าที่จะเรียกเทคโนโลยีของตัวเองว่า “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” ได้เต็มคำจึงทำให้นิสสันที่มาทีหลังแแต่กล้าพูดได้เต็มปากว่าตัวเองเป็นรถยนต์ “ระบบขับขี่อัตโนมัติ”

สามารถดึงดูดความสนใจและทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าโตโยต้าเป็นฝ่ายไล่ตาม

ทาคากิ นากานิชิ นักวิเคราะห์ยานยนต์อิสระ ในโตเกียวบอกว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าโตโยต้าเป็นฝ่ายไล่ตามแต่ความจริงก็คือทั้งสองบริษัทเลือกเดินกันคนละทาง

โดยฝั่งนิสสันจะออกแนวรุกเลือกใช้กลยุทธ์ตลาดมวลชนด้วยการจับระบบขับขี่อัตโนมัติขั้นพื้นฐานใส่ในรถหลากหลายรุ่นพร้อมชูจุดขายระบบขับขี่อัตโนมัติเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความประทับใจ

ขณะที่โตโยต้ามาในมาดสุขุมลุ่มลึกเปิดตัวเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนี้ในรถรุ่นท็อปและวางแผนว่าจะรอให้ราคาขยับลงก่อนจึงค่อยขยายไปยังรุ่นอื่นๆต่อไปโดยโตโยต้ายังเลือกที่จะโฆษณาจุดเด่นด้านความปลอดภัยมากกว่าความสะดวกสบาย

เคน โคอิบูชิ ผู้จัดการทั่วไประดับบริหารที่รับผิดชอบแผนกการขับขี่อัตโนมัติของโตโยต้าออกตัวว่าบริษัทไม่อยากให้ลูกค้าเข้าใจผิดและเชื่อมั่นมากเกินไปว่าระบบขับขี่อัตโนมัติทำแทนคนขับได้ทุกอย่างแต่เลกซัสอวดอ้างด้วยความมั่นใจว่าแอลเอสใหม่“เป็นรถที่ปลอดภัยที่สุดในโลก” ในขณะนี้

โดยนักวิเคราะห์มองว่ากลยุทธ์ของทั้งสองบริษัทมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง

โดยนิสสันนั้นถึงแม้ออกตัวก่อนทำให้แบรนด์ได้รับการยอมรับและกวาดยอดขายได้อย่างรวดเร็วแต่ก็มีสิทธิ์จะตกม้าตายได้ถ้าเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเหล่านี้มีปัญหาขึ้นมา

ในทางกลับกันโตโยต้าอาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการโน้มน้าวให้ลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับเทคโนโลยีสุดล้ำถ้ายังเน้นย้ำแค่เรื่องประสิทธิภาพความปลอดภัยเท่านั้น

และในขณะที่นิสสันหมายมั่นปั้นมือว่าจะพยายามลดต้นทุนทันทีเพื่อนำระบบเหล่านี้ไปติดตั้งในรถรุ่นต่างๆต่อไปแต่ถ้าเทคโนโลยีไม่ดีจริงและไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าก็อาจกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

ส่วนโตโยต้าที่ติดตั้งเทคโนโลยีนี้เฉพาะในรถหรูเพื่อดูดซับต้นทุนก็อาจกลายเป็นว่าการผลิตออกมาในจำนวนน้อยทำให้ต้นทุนยังสูงลิ่ว

ในขณะที่แนวทางของโตโยต้านั้นเลือกแนวทางช้าแต่ชัวร์เป็นโรดแมประยะยาวโดยบริษัทตั้งเป้าเผยโฉมรถไร้คนขับที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองบนทางหลวงประมาณปี 2020 และระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 ที่สามารถวิ่งในเมืองได้ในช่วงต้นทศวรรษ 2020

นิสสันเตรียมส่งรถไฟฟ้า “ลีฟ” โชว์ระบบโปรไพล็อตรุ่นอัพเกรดเดือนกันยายนนี้

แต่สำหรับนิสสันได้กำหนดเป้าหมายเร็วกว่านั้นโดยคาดว่าโปรไพล็อตรุ่นอัพเกรดจะพร้อมใช้งานตั้งแต่ปีหน้าด้วยคุณสมบัติในการขับขี่อัตโนมัติบนถนนหลายเลนส่วนระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบในเมืองที่สามารถขับผ่านทางแยกและทางร่วมต่างๆรวมทั้งการจราจรที่คับคั่งโดยที่คนขับไม่จำเป็นต้องแทรกแซงใดๆจะเผยโฉมราวปี 2020

ทั้งนี้โคอิบูชิกล่าวว่าไม่คิดว่าเทคโนโลยีของโตโยต้าล้าหลังแต่อธิบายว่าการขับขี่ในเมืองครอบคลุมสมรรถนะหลายอย่างเป็นต้นว่าการหยุดอัตโนมัติหรือการเลี้ยวซ้าย-ขวาอัตโนมัติเมื่อเจอสัญญาณไฟแดงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ง่ายๆ

ดังนั้นก็คงต้องยอมรับว่านิสสันกำลังอยู่ในจังหวะขึ้นนำเพราะในช่วงต้นเดือนกันยายนค่ายรถแห่งนี้จะได้ฤกษ์ปล่อยรถไฟฟ้าลีฟรุ่นใหม่ออกมาโชว์สมรรถนะระบบโปรไพล็อตล่าสุด

ซึ่งลีฟรุ่นใหม่จะมีฟังก์ชันการตรวจจับช่องทางและควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางอัตโนมัติรวมทั้งปุ่มกดใหม่สำหรับการจอดอัตโนมัติทั้งแบบการจอดเทียบข้างการถอยเข้าจอดริมถนนเดินหน้าหรือถอยหลังเข้าซองซึ่งหมายความว่าระบบจะควบคุมคันเร่งเบรกและพวงมาลัยเองทั้งหมด

เลกซัส แอลเอส 2018 ที่โตโยต้าภูมิใจนำเสนอว่า เป็นรถที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

แต่อย่างไรก็ตามมิชิฮิโตะชิมาดะผู้จัดการทั่วไปแผนกระบบช่วยจอดของเลกซัสโตโยต้าบอกว่าบริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับนิสสันแต่โฟกัสที่ความปลอดภัยคือป้องกันไม่ให้รถชนคนเดินถนนเป็นอันดับแรกส่วนความสะดวกสบายเป็นเป้าหมายรองลงมา


ที่มา : manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9600000083165