ใครจะไป ใครจะปัง ? เมื่อ Spotify ลุยตลาดมิวสิก สตรีมมิ่งในไทย ท้าชน JOOX-Apple Music

เข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับบริการมิวสิก สตรีมมิ่งสัญชาติสวีเดน Spotify ที่ต้องเจอความท้ายทายในตลาดมิวสิก สตรีมมิ่งในไทย ที่มีผู้ให้บริการเข้ามาในตลาดตลอดเวลา แต่อำลาไปแล้ว KKBox ที่ยุติการทำตลาดในไทยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ส่วน Deezer เอง ดูจะแผ่วไป ไม่ออกตัวแรงเหมือนช่วงแรกที่เปิดตัว ยังคงมีผู้เล่นรายใหญ่ที่มีบทบาท JOOX , Apple Music 

คอเพลงในประเทศไทยต่างตื่นเต้นกับการมาของ Spotify พอสมควร หลังจากที่ได้ร่อนจดหมายเชิญสื่อมวลชน และมีการแชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์ว่าจะมีการทำตลาดแบบเต็มรูปแบบ หลายคนก็ได้ให้ความสนใจ เพราะบางคนก็รู้จักกับ Spotify มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว บางคนได้เปิด VPN ในมือถือเป็นประเทศอื่นเพื่อให้ได้ใช้บริการอีกด้วย

การมาของ Spotify ถูกคาดหมายว่าจะทำให้ JOOX และ Apple Music หายใจได้ไม่ทั่วท้อง ในขณะที่อุตสาหกรรมเพลงยิ้มร่า เพราะ Spotify คือตัวจริงที่จะช่วยให้ค่ายเพลงทั้งใหญ่น้อยสามารถลืมตาอ้าปากได้
จากการที่สร้างความนิยมจนมีผู้ใช้ 140 ล้านราย จ่ายค่าสมาชิก 60 ล้านรายทั่วโลก สร้างรายได้มากกว่า 5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.66 แสนล้านบาท นับตั้งแต่เปิดตัวในปี พ.. 2551 โดยการเปิดตัวในประเทศไทยจะทำให้ Spotify ให้บริการรวมทั้งสิ้น 61 ตลาดทั่วโลก

ในทางกลับกัน ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับ Spotify เช่นกัน เพราะ JOOX และ Apple Music ก็เป็นค่ายใหญ่ ทุนหนา และคลังเพลงจำนวนมากเช่นกัน แถมทำตลาดมาก่อน คนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

ดังนั้น Spotify พยายามนำเสนอคือ “คลังเพลง” 30 ล้านเพลง พร้อมกับ 2 พันล้านเพลย์ลิสต์ และเพิ่มเพลงใหม่ 30,000 เพลงต่อวัน แต่ส่วนมากยังเป็นเพลงสากล ส่วนเพลงไทย และเพลงเกาหลีน้อย ซึ่งกรณีของประเทศไทย Spotify มีบริการเพลงทั้งที่มีค่ายและไม่มีค่าย โดยเบื้องต้นจะมีเพลงจากทางแกรมมี่มาร่วมด้วย แต่ยังไม่มีค่ายอาร์เอส

จุดเด่นสำคัญ ที่มองว่าจะสร้างแตกต่างจากบริการออนไลน์อื่นคือ Playlists ส่วนตัวหรือการจัดหาเพลงตามสไตล์และอารมณ์ของผู้ฟังเป็นรายบุคคล โดยการรวบรวมจากระบบ API ที่เก็บข้อมูลเพลงของผู้ใช้งานในทุกช่วงเวลามาวิเคราะห์ และคำนวณการฟังเพลงของแต่ละคน และนำมาจัดเป็น Playlists โดยจะปรับเปลี่ยน Playlist ใหม่ทุกๆ วันจันทร์

โดยก่อนหน้านี้ JOOX ก็ประสบความสำเร็จจากการจัด Category และ Playlist เพลงตามอารมณ์และโอกาสต่างๆ ให้กับผู้ฟังมาแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ Spotify เลือกใช้วิธีทำเป็น Playlist รายบุคคลซึ่งจะให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า

สำหรับโมเดลธุรกิจในการหารายได้ของ Spotify จะมีทั้งแบบฟังฟรี แต่มีโฆษณาคั่น และแบบจ่ายค่าสมาชิก ซึ่งค่าบริการเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนพูดถึง เพราะค่าบริการไม่แพงมากเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่น อยู่ที่ 129 บาท/เดือน และมีแพ็กเกจแบบครอบครัว 199 บาท/เดือน สามารถใช้ได้ 6 คน กลุ่มเพื่อนๆ สามารถรวมกลุ่มกันแล้วแชร์สมาชิกได้

เปิดโมเดล หารายได้ Spotify ในไทย

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นความท้าทายของ Spotify ก็คือคนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมฟังเพลงฟรีและไม่ผูกติดกับแพลตฟอร์มใดเป็นหลัก ดังนั้นแผนการปั้มรายได้ของ Spotify จึงต้องมาจากทั้ง 2 ทางหลัก คือ การขายค่าสมาชิกรายเดือนและขายพื้นที่โฆษณาให้กับแบรนด์สินค้า

คิดง่ายๆ ก็คือ สำหรับลูกค้าที่เสียค่าบริการรายเดือนก็จะไม่ต้องชมโฆษณา ก็จะมีรายได้จากค่าบริการรายเดือนโดยคิดราคาเริ่มต้นที่เดือนละ 129 บาทต่อสมาชิก1 คนต่อเดือน และมีแพ็กเกจแบบครอบครัว 199 บาท/เดือน สามารถใช้ได้ 6 คน กลุ่มเพื่อนๆ สามารถรวมกลุ่มกันแล้วแชร์สมาชิกได้

ผู้ฟังฟรีที่ไม่เสียค่าบริการ จะได้ฟังโฆษณาเสียง 6 ตัวต่อชั่วโมง มีความยาวรวมกับไม่เกิน 2-4 นาทีต่อชั่วโมงระหว่างเพลง ผู้ฟังจะเข้าถึงได้ 30 ล้านเพลงเหมือนกัน ฟังออฟไลน์ไม่ได้ ข้ามเพลงไม่ได้ กรณีมีสปอนเซอร์หรือแบรนด์ที่ซื้อโฆษณาใน Playlists ผู้ฟังสามารถฟังโฆษณาเพื่อฟังเพลงต่อได้ตามเวลาที่กำหนด เช่น หากไม่กดสคริปโฆษณาที่มีความยาว 25-30 วินาที จะได้ฟังเพลงยาวๆ ถึง 1 ชั่วโมงต่อโฆษณา 1 ครั้ง

ในการหารายได้จากโฆษณานั้น Spotify ดูจะอุ่นใจไม่น้อย เพราะได้ “มายด์แชร์” มีเดียเอเยนซี่รายใหญ่ เพราะการร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียและในระดับโลก ก็ร่วมมือกับ WPP และ Group M ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดย 6 แบรนด์แรกที่จะโฆษณา คือ ยูนิลีเวอร์ ซึ่งมีแบรนด์แม็กนั่ม แชมพูเคลียร์และเรโซนา, เป๊ปซี่ , ไนกี้และมาสด้า เข้าร่วมเป็นแบรนด์กลุ่มแรกที่ลงโฆษณาบน Spotify ในประเทศไทย

ซี เยน อ็อง รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายขายระดับภูมิภาคของ Spotify ทวีปเอเชีย ระบุว่า สิ่งที่จะทำให้ Spotify น่าสนใจสำหรับแบรนด์ในการลงโฆษณา รองรับได้ทั้งเพลง ภาพเคลื่อนไหว บนหน้า “อุปกรณ์” หลากหลาย ผ่านแอปบนมือถือ, แท็บเล็ตและเดสก์ท็อป เช่น Brandner Display ก็อาจจะเหมาะกับฟังบนเดกส์ท็อป ส่วน Audio Advertising เหมาะสำหรับบนมือถือ และ Video Advertising เหมาะสำหรับแท็บเล็ต เป็นต้น

ส่วนคอนเทนต์โฆษณา แบรนด์ จะเลือกร่วมมือกับศิลปินค่ายเพลง ทำเพลงประกอบโฆษณาให้ หรือหากเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชา อาจจะทำ Playlist เพลงที่ศิลปินชอบฟังในขณะดื่มชา

นอกจากนี้ ยังใช้ “ดาต้า” ให้เป็นประโยชน์ ผ่านการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ผ่านโปรแกรม API  ซึ่งจะเข้าถึงพฤติกรรมของผู้ฟังเพลงในทุกๆ ช่วงเวลา โดยข้อมูลจะถูกส่งให้กับแบรนด์ เพื่อเลือกโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย

ด้วยรูปแบบโฆษณา และเงื่อนไขในการให้คนฟังฟรี Spotify ถึงกับการันตีว่า 85% ของผู้ใช้งาน Spotify จะสามารถเห็น content โฆษณาของแบรนด์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยหากโฆษณาตัวไหนที่ผู้ใช้งานดูไม่จบ Spotify ก็จะไม่คิดค่าโฆษณา

ต้องรอดูกันต่อว่า Playlist ของใครจะขึ้นไปอยู่บนหน้าจอของคนฟังได้มากที่สุด ระหว่าง Spotify หรือ JOOX จากค่ายเทนเซ็นต์ จากจีน ที่บุกตลาดอย่างหนัก ด้วยโมเดลคล้ายกัน คือฟังฟรีแต่มีโฆษณาคั่น และแบบจ่ายค่าบริการราย มีคลังเพลงอยู่ 5 ล้านเพลง มีผู้ใช้ 25 ล้านดาวน์โหลด เป็นผู้ใช้แอคทีฟ 7-8 ล้านรายต่อดือน และแชร์เพลงเพื่อรับสิทธิ์วีไอพีในแต่ละวันด้วย รวมทั้งคู่แข่งอย่าง Apple Music ที่มีคลังมากกว่า 40 ล้านเพลง แต่ที่แน่ๆ สงคราม มิวสิก สตรีมมิ่ง เริ่มขึ้นแล้ว