สุดท้าทาย! “พีแอนด์จี” ปรับแพ็กไซส์-ดันสินค้าพรีเมี่ยมหนีสงครามราคา

พีแอนด์จีหรือ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หนึ่งในผู้เล่นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อีกรายในประเทศไทย ที่ทำตลาดในประเทศไทยมาแล้วครบ 30 ปี

ไทย ถือเป็นตลาดสำคัญของพีแอนด์จี เพราะเป็นฐานส่งออกไปทั่วโลก เป็นห้องทดลองเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมีจุดแข็งของช่องทางขายที่มีความหลากหลาย ประเทศต่างๆ จึงมักใช้ไทยเป็นกรณีศึกษา และพีแอนด์จีในไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาบุคลากรสู่ระดับผู้นำในรีจีนัล

ปัจจุบันตลาดไทยจัดอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับเอเชียแปซิฟิก แต่ถ้าในอาเซียนไทยอยู่ในระดับท็อป 3 ส่วนอันดับหนึ่ง คือ ฟิลิปปินส์

ราฟฟี่ ฟาร์ฮาโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด อกว่า 30 ปีที่ทำตลาดในประเทศไทยถือว่ามีพื้นฐานที่ดี แต่จากนี้ไป พีแอนด์จี ต้องเพิ่มสปีดในการทำตลาดมากขึ้น จะเน้นการลงทุน พัฒนาทั้งนวัตกรรมสินค้า บุคลากร คู่ค้า/พันธมิตร และเป็นองค์กรที่เป็นที่ต้องการของนักศึกษาจบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการเติบโตปีละ 50% ภายในปี 2563  

อยางไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา พีแอนด์จี ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน จากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้โตตามเป้าหมายมากนัก อีกทั้งเรื่องการแข่งขันในตลาดที่ค่ายอื่นต่างเล่นสงครามราคาทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม

พีแอนด์จี จึงได้การปรับกลยุทธ์ โดยเน้นที่ “นวัตกรรม” เพื่อผลักดันสินค้า กลุ่มพรีเมี่ยม” มากขึ้น เพราะเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต และผู้บริโภคยุคนี้ยอมจ่ายเงินที่มากขึ้นเพื่อแลกกับสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น แบรนด์ดาวน์นี่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผ้า มีน้ำยาปรับผ้านุ่มในกลุ่มพรีเมี่ยม ล่าสุดได้แตกไลน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ซักผ้าสูตรน้ำ และสูตรผง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ที่ชอบความสะดวก

รวมถึงมีการใช้กลยุทธ์เรื่อง “แพ็กไซส์” สินค้า ที่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้นิยมซื้อสินค้าในขนาดใหญ่ เพราะคำนึงถึงความคุ้มค่ามากขึ้น ขวดขนาดใหญ่ในยุคนี้จะมาพร้อมขวดปั๊มทำให้ใช้งานง่ายขึ้นอีกด้วย ทำให้พีแอนด์จีมีการทำแพ็กไซส์หลายขนาดเพื่อตอบโจทย์ในหลายช่องทางการขาย และผู้บริโภคในหลายๆ กลุ่ม

ในด้านบุคลากรได้มีการปรับทัพครั้งใหญ่เช่นกัน โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาได้เห็น ผู้หญิง นั่งแท่นผู้บริหารหญิงคนแรกของประเทศไทยอยู่หลายตำแหน่ง เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัท ผู้จัดการโรงงาน และล่าสุดคือ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย เป็นผู้หญิง และเป็นคนไทยคนแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยมา 30 ปี

เป็นการสนับสนุนความก้าวหน้าของพนักงานหญิงในระดับผู้บริหาร ถือเป็นนโยบายในการพัฒนาบุคลากรอย่างเท่าเทียมทั้งชายและหญิง ชี้ให้เห็นว่าพีแอนด์จีมีการปรับตัวอยู่พอสมควร เพื่อให้องค์กรยืดหยุ่นเข้ากับตลาดโลคอลแต่ละประเทศ

ขณะเดียวกันได้งบลงทุนสำหรับการจัดฝึกอบรมบุคลากรมากขึ้น เพื่อพัฒนาคนภายในองค์กรเอง และมีเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องการเป็นองค์กรที่เด็กจบใหม่ หรือคนภายนอกอยากเข้ามาทำงาน

ส่วนช่องทางออนไลน์ เป็นกลยุทธ์ใหญ่ในอนาคต จึงได้นำร่องนำสินค้า อย่างผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง “แพมเพิร์ส” เข้าไปจำหน่ายในเว็บไซต์ลาซาด้าบ้างแล้ว ตามมาด้วย “โอเลย์” เพราะเหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่สนใจซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง สกินแคร์ผ่านออนไลน์

ปัจจุบัน พีแอนด์จี ประเทศไทย มีสินค้าที่จำหน่าย 15 แบรนด์ รวมทั้งหมด 1,000 รายการ จากผลวิจัยของทางนีลเส็น คอมปะนี พบว่า ในกลุ่มแฮร์แคร์ พีแอนด์จี มีแชร์ 40% และดาวน์นี่ มีแชร์ 25-30% ของกลุ่มทำความสะอาดและถนอมผ้า และยังเป็นแบรนด์ดาวรุ่ง ที่การเติบโตมากสุด เพราะมีการสินค้าใหม่ตลอดเวลา