กลายเป็น New Symbol ของคนรุ่นใหม่ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับกระแสโลกร้อนที่ยังอิน ยังฮิตไม่สร่างซามาตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และถูกคาดหมายว่ายังคงเป็น Trend ที่สำคัญในปีหน้า เพราะเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและไม่ตกกระแสระดับโลกนี้
งานสัมมนา Disruption ของ initiative เปิดเผยข้อมูลว่า วัยรุ่นไทยเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อนมากที่สุดในเอเชีย แม้ว่าส่วนใหญ่จะแสดงออกผ่าน “ถุงผ้า” เป็นหลักก็ตาม ขณะที่ ACNielsen Global Consumer ที่รายงาน คนไทยมีตอบรับกระแสโลกร้อนเหนือชาติใดในเอเชีย คือ 26% ตามมาด้วยอินเดีย 16% และออสเตรเลีย 13%
ทุกวันนี้ถุงผ้ากลายเป็นของใช้ที่แทบทุกคนมี บ้างได้มาฟรี เป็นของแจก เป็นของแถม บ้างซื้อหามาในราคาแพงเรือนพันเรือนหมื่นก็มี เพราะแบรนด์เนม อาทิ Hermes, Stella McCartney ก็แห่กันมาทำถุงผ้าขายกับเขาด้วย
ด้านสยามดิสคัฟเวอรี่ ยังคงเป็นศูนย์การค้าที่หยิบยกเอาโลกร้อนมาเป็นเครื่องมือการตลาดอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 รายการ นับตั้งแต่ต้นคริสต์มาสที่ประดิษฐ์จากถังน้ำเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีงานแสดงนิทรรศการของ ดร.สิงห์ อินทรชูโตในชื่อ Siam Discovery Presents OSISU Exhibition รวมถึงโครงการ 7กิจกรรมรักษ์โลก Eco Project ที่จัดเป็นซีรี่ส์ตั้งแต่กรกฎาคม-ธันวาคม 2551
สอดรับกับ Positioning ของศูนย์การค้าที่ทันสมัย เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักในงานดีไซน์ และมีไลฟ์สไตล์ที่ฉลาดคิดฉลาดทำ
ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล กลับเป็นผู้นำในเรื่องของการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก โดยสามารถนำถุงผ้าของเซ็นทรัลมาใส่สินค้าที่ซื้อใหม่ได้ โดยจะได้ส่วนลดและยังได้รับแต้มสะสมจากเดอะวันการ์ด นับเป็นกลยุทธ์ที่นอกจากจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีแล้วยังได้ผลในแง่ของ CRM อีกด้วย
ยุวดี จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด บอกว่า ภายใน 3 ปีนับจากปี 2551 ห้างเซ็นทรัลฯ ทุกสาขาจะใช้งบสำหรับรณรงค์การใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติกทั้งสิ้น 200 ล้านบาท
ด้านการประกวดออกแบบเกี่ยวกับการลดปัญหาโลกร้อน หรือ Green Design มีให้เห็นอยู่ต่อเนื่อง ทั้งจากหน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน
เรื่องน่ารู้ของ Green Marketing
1. ผู้บริโภคไม่น้อยยินดีจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าลดโลกร้อน วรรณี รัตนพล บอกในงานสัมมนา Disruption ของ Initiative ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ Wall Street Journal ที่บอกว่าผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อยสำหรับสินค้าที่มีคุณธรรม เช่น รักษ์โลก ยิ่งแสดงความรับผิดชอบมากเท่าใด ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเม็ดเงินที่มากขึ้นเท่านั้น เช่น หากเป็นเสื้อยืดผ้าฝ้าย 100% ผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างยอมจ่าย ที่ราคา21.21เหรียญสหรัฐ ส่วนเสื้อยืดผ้าฝ้าย 50% ยอมจ่ายที่ราคา 20.44% เป็นต้น
2. บอกว่าตัวเองเป็น Green Product แต่เวลาทำโปรโมชั่นทีแจกใบปลิวตะพึดตะพือแบบนี้ก็คงไม่เกิด
ส่วนใหญ่เขาใช้สื่อ Digital กัน
3. แพ็กเกจจิ้งของ Green Product ถ้าไม่ได้ใช้วัสดุรีไซเคิลก็ดูจะไม่งาม ถ้าจะให้ดีนำแนวคิดโอริกามิมาใช้จะพบว่าประหยัดและลดต้นทุนไปในตัวได้ด้วย
4. ถึงแม้จะเป็นปัญหาใหญ่แต่เวลาทำการตลาดอย่าเครียดเกินไป เพราะ Green Marketing สามารถนำไปผสมผสานกับเรื่องบันเทิง สนุกสนานได้ไม่ยาก
5. ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหนก็ช่วยลดโลกร้อนได้ทั้งนั้น จะปิดทองหลังพระ หรือป่าวประกาศเปรี้ยงๆ ก็ไม่มีใครว่ากัน…ขอให้ทำเป็นพอ