บริษัทโตชิบา ซึ่งเผชิญกับการขาดทุนมหาศาลจากธุรกิจนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ตัดสินใจขายธุรกิจผลิตโทรทัศน์ให้กับกลุ่มไฮเซนส์จากประเทศจีน
โตชิบาประกาศว่าจะขายหุ้นร้อยละ 95 ในธุรกิจผลิตโทรทัศน์และอุปกรณ์รับภาพให้กับกลุ่มไฮเซนส์ หรือ Hisense รัฐวิสาหกิจของเมืองชิงเต่าของประเทศจีน นับเป็นกรณีล่าสุดที่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าของแดนอาทิตย์อุทัยต้องยอมศิโรราบให้กับกลุ่มทุนจีน เพื่อกอบกู้กิจการของตนเอง
ข้อตกลงระหว่างโตชิบาและไฮเซนส์มีมูลค่าสูงถึง 12,900 ล้านเยน หรือราว 113 ล้านดอลลาร์ จะบรรลุผลในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 เนื่องจากต้องขออนุมัติจากหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น
โตชิบาเผชิญผลขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จนเข้าข่ายเกือบล้มละลาย และต้องขายธุรกิจในเครือเพื่อกอบกู้สถานะของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจผลิตชิปหน่วยความจำ ซึ่งโตชิบาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจาก “ซัมซุง” ของเกาหลีใต้
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงการขายธุรกิจชิปหน่วยความจำของโตชิบา โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้เทคโนโลยีตกไปอยู่ในมือต่างชาติ จนในที่สุดชาร์ปได้ปิดดีลขายธุรกิจชิปหน่วยความจำให้กับบริษัทร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่น, สหรัฐ และเกาหลีใต้
ไฮเซนส์ หรือชื่อในภาษาจีน คือ “ไห่ซิ่น” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 48 ปีก่อนจากโรงงานผลิตเครื่องรับวิทยุในเมืองชิงเต่า มณฑลซันตง โดยเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ไฮเซนส์ได้ขยายกิจการจนเป็นบริษัทข้ามชาติ ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า มีโรงงานในจีน 13 แห่ง และมีฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น แอฟริกาใต้, ฮังการี, ฝรั่งเศส, แอลจีเรีย, อียิปต์ และเม็กซิโก
นอกจากผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง คือ Combine, Kelon และ Ronshe ยังรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่นๆ ด้วย ในปี 2015 ไฮเซนส์ได้สิทธิ์ผลิตและจำหน่ายโทรทัศน์ของ “ชาร์ป” ในสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาได้เกิดการฟ้องร้องว่าไฮเซนส์ได้ทำให้แบรนด์ “ชาร์ป” เสียหาย ด้วยการผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและขายในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น.
ที่มา : mgronline.com/japan/detail/9600000115272