ผลประกอบการสามค่ายโทรคมนาคม ไตรมาส 3 ปีนี้ สะท้อนรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องของผู้ให้บริการที่ให้บริการทั้งมือถือ เอไอเอส และทรู ที่มีรายได้และจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
ทรู ใช้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ นำโพรดักส์ทั้งหมดในเครือมาทำตลาดด้วยกัน จึงเป็นเจ้าเดียวที่มีรายงานลูกค้ามือถือแบรนด์ ทรูมูฟ เอช สูงขึ้นประมาณ 5 แสนราย จากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มียอดลูกค้ารวมเป็น 26.7 ล้านราย
รายได้จากการให้บริการมือถือ 736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า โดยรายได้หลักมาจาก “บริการนอนวอยซ์” เติบโต 22.2% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้านี้ โดยมีรายได้อยู่ที่ 10,754 ล้านบาท เป็นผลจากความต้องการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต และบริการ 4G ที่เติบโตมาก
รายได้จากบริการ “นอนวอยซ์” กินสัดส่วนไปถึง 63% ของรายได้จากการให้บริการมือถือทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 59% ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า
ส่วนรายได้จากบริการบรอดแบนด์ หรือเน็ตบ้าน หลังจากเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยี FTTH มีรายได้ 5,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ทำให้ทรูออนไลน์มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ รายใหม่รวม 78,100 ราย ในไตรมาส 3 ปี 2560 ซึ่งผลักดันให้ฐานลูกค้าบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของทรูเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย
รายได้รวม 3 เดือนของไตรมาส 3 อยู่ที่ 24,533 ล้านบาท ดีขึ้น 8.7% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ที่อยู่ที่ 22,566 ล้านบาท ยังคงขาดทุน 691 ล้านบาท แต่ดีขึ้น 72.9% จากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ที่ขาดทุน 2,540 ล้านบาท
แต่รวม 9 เดือน ยอดขาดทุนสะสมอยู่ยังคงสูงขึ้นอยู่ที่ 3,088 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 569.41% จากยอดขาดทุนของปีที่แล้ว ที่ขาดทุน 461.37 ล้านบาท ซึ่งทรูชี้แจงว่า เป็นผลจากการรับรู้มูลค่าเงินลงทุนในกองทุน DIF จำนวน 2,900 ล้านบาทในปี 2560 ทำให้ยอดขาดทุน 9 เดือนสูงขึ้น
เอไอเอสรายได้นอนวอยซ์ พุ่ง 21%
ในขณะที่เอไอเอส มีจำนวนลูกค้ารวมอยู่ที่ 40.186 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 39.9 ล้านราย แต่หากเทียบกับไตรมาสสองของปีนี้ จำนวนลูกค้าลดลงจาก 40.5 ล้านราย
แต่ก็ยังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากยอดใช้บริการ 4 จี โดยรายได้นอนวอยซ์อยู่ที่ 19,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน โดยจำนวนผู้ใช้ 4G ที่เพิ่มขึ้นเป็น 42% ของฐานลูกค้า ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการข้อมูลเติบโตเป็น 60% ของรายได้จากการให้บริการเทียบกับ 53% ในปีก่อน
บรอดแบนด์ มีรายได้ 886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 282% จากปีก่อน เนื่องจากฐานลูกค้าที่เพิ่มเป็น 481,500 ราย โดยมียอดเฉลี่ยรายได้ลูกค้าต่อเดือน (ARPU) อยู่ที่ 637 บาท เติบโต 28% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีลูกค้าเพิ่มขึ้นจำนวน 35,600 ราย ลดลง 72,000 รายในไตรมาสก่อน
รายได้จากนอนวอยซ์และ บรอดแบนด์ส่งผลให้เอไอเอสมีกำไรเติบโตเทียบปีต่อปีสูงขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558
โดยมีรายได้รวมของไตรมาส 3 อยู่ที่ 38,580 ล้านบาท สูงขึ้น 4% จากปีที่แล้ว กำไร 7,469 ล้านบาท สูงขึ้น 14% ส่วนรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 116,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากการตัดค่าใช้จ่ายค่าการตลาด การ subsidy เครื่องลง 38% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน
ดีแทคเตรียมเงินประมูลชิงคลื่นรอบใหม่
ดีแทคเพียงรายเดียวที่มีแต่บริการมือถือ ไม่มีบริการบรอดแบนด์ และนโยบายสำคัญของดีแทคจะให้ความสำคัญในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เพื่อรักษาสถานะทางการเงินให้มีความคล่องตัวเพื่อให้มีความพร้อมรองรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และการประมูลคลื่นความถี่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 ซึ่งสัญญาสัมปทานดีแทคกับ กสท. โทรคมนาคมหมดอายุลง
ดีแทคมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA 0.8 เท่า ในขณะที่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ ลดลงมาเหลือ 23,989 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินสดเพิ่มขึ้น
ในไตรมาส 3/2560 ดีแทคมีรายได้รวม18,809 ล้าบาท ลดลง 3.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 601 ล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (คำนวณจาก EBITDA หักด้วยเงินลงทุน) อยู่ที่ 4,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 125% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ ดีแทคสามารถสร้างกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน 10,477 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 54% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 นี้ ยอดลูกค้าโดยรวมลดลงถึง 509,000 ราย ลดลง -283.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าแบบรายเดือนเพิ่มขึ้นได้ จาก 4.8 ล้านรายในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว มาเป็น 5.5 ล้านรายในไตรมาสนี้ ทำให้รักษายอด ARPU เพิ่มขึ้นจาก 217 บาทในไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 228 บาทต่อเดือน มีผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 23.1 ล้านราย ลดลงจาก 24.8 ล้านราย หรือ – 6.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน.