“MBK” โกออนไลน์ ควัก 80 ล้านลุย อี-เอ็กซ์ซิบิชัน ปั้น “ชอปดีล” รับตลาดพุ่ง 3 ล้านล้านบาท

ยศสันธ์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม บี เค ดิจิตอล จำกัด ในเครือเอ็ม บี เค กรุ๊ป

ลูกค้าเวลานี้มี “อีมาร์เก็ตเพลส”มาให้เลือกอีกรายแล้ว เมื่อห้าง MBK เลือกโกออนไลน์  ยกธุรกิจเครือรวมทั้งพันธมิตรต่าง ๆขึ้นเว็บ เอ็มบีเคโกดอทคอม  เป็น อี-เอ็กซ์ซิบิชัน ในรูปแบบของชอปดีล

การโก อีคอมเมิร์ซของเอ็มบีเอ มองเห็นโอกาสจาก แนวโน้มการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง

  • ปี  2557  มูลค่าประมาณ 2,033,493 ล้านบาท
  • ปี 2558 มูลค่า 2,245,147 ล้านบาท เติบโต 10.4%,
  • ปี 2559 มูลค่า 2,560,103 ล้านบาท เติบโต 14%,
  • ปี 2560 มูลค่า 2,812,592 ล้านบาท เติบโต 9.8%
  • คาดว่าในปี 2561 จะมีมูลค่า 3,133,729 ล้านบาท เติบโต 11.4%

กลุ่มค้าปลีกและค้าส่ง เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซ โตต่อเนื่องมาตลอด

  • ปี 2558 มีมูลค่า 569,203 ล้านบาท
  • ปี 2559 มูลค่า 623,367 ล้านบาท เติบโต 9.5%
  • คาดการณ์ว่าในปีหน้า (2561) จะมีมูลค่า 739,714 ล้านบาท เติบโต 9.1%
  • กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ยังเป็นรอง มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่สอง ประมาณ 677,847 ล้านบาท เติบโต 8.7% ในปี 2560

เอ็มบีเคกรุ๊ป จึงตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่ทำธุรกิจด้านดิจิตอลโดยเฉพาะ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 80 ล้านบาท

เริ่มจากธุรกิจ เอ็ม บี เค โก (MBKgo.com) ลักษณะอี-เอ็กซ์ซิบิชัน ซึ่งเป็น “ชอปปิ้งดีล”รูปแบบใหม่ที่เป็นงานอี-เอ็กซ์ซิบิชันออนไลน์ ที่ไม่ใช่การจัดอีเวนต์ในพื้นที่จริงเหมือนที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่ 3 หมวดใหญ่ คือ การท่องเที่ยว กิจกรรม และร้านอาหาร เจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยก่อน และในอนาคตจะขยายกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยด้วย

ก่อนเปิดจริงใช้เวลาทดลอง 3 เดือน จนพบว่าได้ผลตอบรับดี ยอดขายเติบโต 100% ทุกเดือน ลูกค้ามาซื้อซ้ำ 40% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่มี 20-30%

ประเภทร้านค้าและบริการ ประเภทโรงแรมที่พัก 25% กิจกรรมสันทนาการ 25% และอีก 50% เป็นหมวดร้านอาหาร จากทั้งหมด มูลค่าการซื้อเฉลี่ย 900-1,000 บาทต่อครั้ง แยกเป็น การจ่ายผ่านบัตรเครดิต 80% ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 10% ผ่านการโอนเงิน 8% และผ่านบัตรเดบิต 2% เป็นลูกค้าผู้หญิง 65% และผู้ชาย 35%” เป็นการชอปปิ้งผ่านมือถือ 80% ผ่านคอมพิวเตอร์ 20 %

เป้าหมายต่อไปในปี 2561 จะเพิ่มอีเวนต์ในอีคอมเมิร์ซเป็น 100 อีเวนต์ตลอดทั้งปี เพิ่มจำนวนร้านค้าเป็น 1,500 รายหรือบูทต่องาน เพิ่มปริมาณคนเข้าชมงานผ่านเว็บเป็น 500,000 คนต่ออีเวนต์ และการเพิ่มพันธมิตรร้านค้าบริการต่างๆ จากปัจจุบันนี้มีร้านค้าและบริการในเครือเอ็มบีเคทั้งหมดทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก สนามกอล์ฟ รวมกว่า 10% และร้านค้าบริการนอกเครืออีก 90% จากจำนวนทั้งหมด และมากกว่า 30% ที่เป็นพันธมิตรที่ไม่เคยร่วมมือแบบนี้กับใครมาก่อน

ถือเป็นจุดเริ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิตอลออนไลน์ของเอ็มบีเคกรุ๊ปอย่างเต็มรูปแบบ จากนั้นจะผสมผสานระหว่างตลาดออฟไลน์กับออนไลน์ให้กับธุรกิจในเครือเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน

รายได้ของบริษัทฯ จะมาจาก “ค่าธรรมเนียม”ที่เกิดการซื้อขายระหว่างลูกค้ากับร้านค้า และอนาคตจะมีรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์ด้วย

ที่มา : mgronline.com/business/detail/9600000118447