อีสปอร์ต เรียลิตี้ โชว์ เรื่องจริงที่กันตนา-การีนาไม่ยอมพลาด

กีฬาที่อยู่ตรงไหนก็เล่นได้ ขอเพียงแค่มีอุปกรณ์คือ คอมพิวเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง มีซอฟท์แวร์เกมเป็นสนาม เชื่อมต่อเน็ตได้ นักกีฬาต้องฝึกซ้อม วางแผนแข่งมาเต็มที่ เพื่อชิงแชมป์ และเงินรางวัลทั้งระดับในประเทศ และระดับโลก นี่คือ อีสปอร์ต  ที่พลิกเกมธุรกิจเกมให้เติบโตมากขึ้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และกำลังแรงจนฉุดไม่อยู่

เมื่อกระแสอีสปอร์ตมาแรง จนเล่นได้สะดวกบนมือถือ บรรจบมาเจอความลงตัวทางธุรกิจของ 3 ฝ่าย คือ 1.เจ้าของคอนเทนท์ อีสปอร์ต 2.ผู้ผลิตที่อยากฉีกแนวเดิมๆ และ 3.ช่องทีวีที่อยากมีรายการทันกระแส ดึงคนรุ่นใหม่ ดีลรูปแบบรายการใหม่จึงเกิดขึ้น ที่ชื่อว่า King of Gamers

การีน ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ RoV มีเป้าหมายอยากให้คนเข้าใจ และเล่นอีสปอร์ตมากขึ้น เพราะจะนำมาซึ่งรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเป้าหมายทั้งคนเล่น และรายได้มากขึ้นเท่าตัวในปีหน้า จากปัจจุบันมีคนไทยดาวน์โหลดแอพเกมนี้ 15 ล้านครั้ง และมีรายได้จากไอเทม และสปอนเซอร์เป็นหลัก

อีกฝ่ายที่สำคัญ คือผู้ผลิต อย่างกันตนา ที่ต้องการเพิ่มคอนเทนท์ใหม่ๆ และช่องทีวีอย่างพีพีทีวี ที่พยายามมองหารายการใหม่ มาสร้างเรตติ้ง

กัลป์ กัลย์จาฤก กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา โมชั่นพิคเจอร์ส จำกัด

กัลป์ กัลย์จาฤก กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา โมชั่นพิคเจอร์ส จำกัด และผู้อำนวยการผลิตรายการ เล่าว่า King of Gamers เป็นฟอร์แมท หรือรูปแบบรายการที่กันตนาคิดขึ้นมาเอง และหากสำเร็จจะขายฟอร์แมทให้ต่างประเทศด้วย เพราะไทยคิดรูปแบบนี้เป็นที่แรก

ลักษณะรายการไม่ใช่แค่ดูการแข่งขันเล่นเกม แต่จะมีการถ่ายทอดชีวิตของคนเล่นเกม มีเรื่องราว อารมณ์ความรู้สึก ทั้งดราม่า ตื่นเต้น จากผู้เข้าแข่งขัน ที่ต้องซ้อม วางแผน วางกลยุทธ์  ในรูปแบบ อีสปอร์ต เรียลิตี้ ที่สำคัญ มีการดึงผู้ชมทีวีเข้ามาร่วมเล่นเกมได้ พูดคุย หรือแข่งขันกับเกมเมอร์ที่เป็นไอดอล เพื่อสร้างปรากฎการณ์ดึงคนรุ่นใหม่สนใจ และมีส่วนร่วมรายการที่กำลังออนแอร์ในจอทีวี รวมถึงเชื่อมต่อผู้ชมทีวี กับจอมือถือ ตามกลยุทธ์  Seamless Multiscreen

สำหรับโปรดักชั่น กัลป์ เปิดเผยว่า จัดได้ว่าเป็นรายการใหญ่ ใช้งบลงทุนประมาณตอนละ 1 ล้านบาท ไม่รวมเงินรางวัล โดยมีทั้งหมด 9 ตอน โดย 8 ตอนแรกเป็นเทป แต่ตัดเสมือนดูสดๆ ส่วนตอนที่ 9 เป็นการถ่ายทอดสดการแข่งขันที่ไบเทค ที่คาดว่าจะมีคอเกมมาร่วมนับหมื่นคน ผู้ชนะได้เงินรางวัล 1 ล้านบาท

ดีลนี้อาจไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าไม่มีความชอบ ที่ กัลป์ หรือเต้นท์ ทายาทเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของกันตนา ที่หลงใหล และชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก จนต่อยอดคิดรายการนี้ ด้วยความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากคุณพ่อ คือ จาฤก กัลย์จาฤก

อัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่ดีลนี้ ทำให้ การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) หวังว่าจะทำให้คนเข้าใจคนเล่นอีสปอร์ตมากขึ้น และสร้างคอเกมใหม่ โดย อัลเลน ชู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม การีนา เปืดเผยว่า ดีลนี้ไม่ได้มีการขายลิขสิทธิ์ แต่เป็นความร่วมมือกับกันตนา และช่องพีพีทีวี เพื่อทำให้อีสปอร์ต เป็นที่รู้จัก และคนในวงกว้างเข้าใจมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการีนา พยายามสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะการจัดแข่งขันและมีเงินรางวัล รวมถึงก่อนหน้านี้มีการแข่งขันที่ถ่ายทอดสดผ่านทางเวิร์คพอย์ททีวี

ในปี 2016 ได้แจกเงินรางวัลให้นักกีฬาอีสปอร์ตสในไทยแล้ว 17 ล้านบาท และมีการจัดอีเวนท์การแข่งขันหลายคน เพื่อสร้างชุมชนคนเล่นเกมอีสปอร์ต

มูลค่าตลาดเกมโดยรวมทั่วโลกปีที่แล้ว สูงถึง 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 20 มีมูลค่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดปีหน้าจะเติบโตประมาณ 20%.