หากพูดถึงการปรับตัวใช้งานดิจิทัลของคนไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าก้าวกระโดดมาก เพราะได้ COVID-19 เป็นตัวเร่ง แต่แค่นั้นจะเพียงพอหรือเปล่า หากพูดถึงการอยู่รอดอย่างยั่งยืนในอีก 10 ปีข้างหน้า Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ได้ออกมาเผยถึงมุมมองภาพอนาคตยุคดิจิทัลหลัง COVID-19 ผ่านงาน Sea Story 2021: Digital Visionary ในงานเสวนาหัวข้อ “Accelerated Transitions to the Digital Nation”
เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโต แต่ขาดแรงงาน
เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Internet Penetration ในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 96.5% และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม แม้การมาของ COVID-19 จะทำให้การปรับใช้ดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ฉุดเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีผู้ตกงานกว่า 2.5 ล้านคน และผู้ว่างงานแฝงกว่า 4 ล้านคน กว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอาจต้องรอไปถึงกลางปีหน้า
ขณะที่ความต้องการจ้างงานในอนาคตก็มองหากลุ่มที่มีทักษะงานทางดิจิทัลมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน รวมถึงต้องการสกิลเซตที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงทักษะทางดิจิทัลที่ 55% หรือกว่า 17 ล้านคนที่ยังขาดทักษะ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมีเฉลี่ยที่ 66% โดยสิงคโปร์มีสูงสุดที่ 75%
และเมื่ออ้างอิงรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021 พบว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 38 จาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยด้าน Technology (อันดับที่ 22) เป็นจุดแข็ง และมีปัจจัยด้าน Knowledge (อันดับที่ 42) และด้าน Future Readiness (อันดับที่ 44)
“นี่ถือเป็นความน่ากังวล จะทำอย่างไรให้คนเพิ่มทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมให้คนครึ่งประเทศ ถ้ายังละเลยจะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น ต้องรีเลิร์น รีสกิลแรงงาน ไม่เช่นนั้นจะถูกแทนที่ด้วยออโตเมชั่น” มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าว
Aging Society โอกาสและปัญหาสำคัญในอีก 10 ปี
การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือ Aging Society เป็นสิ่งที่หลายคนเริ่มตระหนักแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ประชากร 40% เป็นวัยเกษียณ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะมีความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อในประเทศจะลดลง เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ถือเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น จะเพิ่มคุณภาพของแรงงานที่น้อยลงอย่างไร
อย่างไรก็ตาม อาจจะเห็นธุรกิจที่โตก้าวกระโดดในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น Healthtech, Medtech เพราะจะมาตอบโจทย์ผู้สูงวัย เพราะแม้ว่ากลุ่มผู้สูงวัยจะระวังเรื่องการจับจ่าย แต่เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น
ตอบโจทย์ Segment of One ด้วยดิจิทัล
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร Future Tales Lab by MQDC กล่าวว่า ในอดีต ธุรกิจจะคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขัน 3 ด้าน ได้แก่ ความเร็ว คุณภาพที่สูง ต้นทุนที่ต่ำ แต่ปัจจุบันและใน 10 ปีข้างหน้าจะต้องขับเคลื่อนองค์กรด้วยดาต้าหรือข้อมูลให้ได้ เพราะความต้องการคนที่เปลี่ยนไปไม่สามารถแบงเป็นกลุ่มหรือ Segment ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่เป็น Segment of One นอกจากนี้ต้อง ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ นี่คือความต้องการใหม่ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น Digital Adoption จะเป็นตัวช่วยสำคัญ เพราะปัจจุบันองค์กรเริ่มเห็นเรื่องข้อมูล เนื่องจากทุกอย่างออนไลน์ ขณะที่ 62% ของคนไทยต้องการนำดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าสะดวก ดังนั้น จะเห็นว่ามี Digital Tools มาเสิร์ฟความต้องการผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ต่อจะไปเห็นการทำงานของออฟไลน์ออนไลน์ (O2O) ที่ไร้รอบต่อ มีการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง business landscape ที่เป็นไปได้มากขึ้น เพราะโอกาสเปิดกว้างมากขึ้น เนื่องจากโลกไม่มีพรมแดนอีกต่อไป”
นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านของแรงงานรุ่นใหม่ องค์กรก็ต้องปรับตัวสู่ Hybrid Work Place หรือแม้กระทั่งการทำงานในโลกเสมือนจริง (Metaverse) เพราะ COVID-19 ทำให้แรงงานรู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศ ดังนั้น องค์กรก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่การลาออกครั้งใหญ่ของ Gen Z ที่ต้องการ Work-Life Balance
ตั้งเป้าสร้าง Digital Talent 10 ล้านคน ใน 10 ปี
ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา Sea (Group) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ 10 in 10 ตั้งเป้าสร้าง ‘Digital Talent’ 10 ล้านคน ใน 10 ปี โดยปัจจุบัน Sea (ประเทศไทย) สามารถเข้าไปเสริมสร้างทักษะดิจิทัลด้านต่าง ๆ ให้แก่คนไทยได้ราว 3.8 ล้านคน โดยในปีนี้ Sea (ประเทศไทย) จัดโครงการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นที่ Mega Trends คือ “E-commerce for All” หรือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและเพิ่มศักยภาพ SMEs ด้วยอีคอมเมิร์ซ
เนื่องจากอีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยจะเห็นว่าตอนนี้การค้าขายบนโลกออนไลน์เป็นช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซที่เป็นนักเรียนนักศึกษา แม่บ้าน และพนักงานบริษัทที่มีงานประจำอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบัน การใช้จ่ายเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จำนวนมาก
ทั้งนี้ ช้อปปี้ (ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ) มีการเติบโตทั้งในแง่คำสั่งซื้อและความเข้มแข็งของฐานผู้ใช้งาน โดยมีกว่า 1,400 ล้าน Gross Order ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เติบโตราว 127% จากช่วงเดียวกันของปี 2563