คลายล็อกดาวน์เร็ว KBANK ปรับจีดีพี ปี64 เป็น 0.2% ปีหน้าโต 3.7% ระวังราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ

Photo : Shutterstock
KBANK ปรับเป้าตัวเลขจีดีพีไทยปีนี้ ‘ดีขึ้น’ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -0.5% มาเป็นบวก 0.2% หลังรัฐคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศเร็วขึ้น ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน เป็น 1.8 แสนคน จับตาความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ กระทบค่าครองชีพ 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวอยู่ที่ 0.2% จากเดิมที่ -0.5% หลักๆ มาจากอัตราการฉีดวัคซีนและการคลายล็อกดาวน์โควิด-19 ได้เร็วขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ ก็เห็นว่ายังมีการเบิกจ่ายเท่ากับปีงบประมาณปกติ

“การเปิดประเทศที่เร็วขึ้นนี้ ทำให้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน มาเป็น 1.8 แสนคน”

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วมและค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงความเสี่ยงที่การแพร่เชื้ออาจจะกลับมาหลังเปิดประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้คาดการณ์จีดีพีของปี 2564 เป็นไปอย่างจำกัด ในกรณีเลวร้ายหากมีการระบาดระลอกใหม่อีก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของปี 2565 ด้วย

ราคาน้ำมันพุ่ง เพิ่มต้นทุนธุรกิจ กระทบค่าครองชีพ

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2564 กระทบต่อภาคเกษตรประมาณ 6-7 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตร อย่างภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวัน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงบางพื้นที่ในกว่า 30 จังหวัด

เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น้ำท่วมรอบดังกล่าวสร้างเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 0.16% ของ GDP น้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2551, 2553 และ 2560 ที่ผ่านมา (รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการจีดีพีปี 2564 แล้ว)

ด้านผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงต่อธุรกิจในปี 2564 คาดว่า ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปีนี้ อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาทต่อลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1% โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทยโดยตรง ได้เเก่ เหมืองเเร่ ประมง โลจิสติกส์ ค้าปลีกเเละค่าส่ง เป็นต้น

ราคาพลังงาน ประเด็นคอขวดภาคการผลิต และการคาดการณ์เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยสําคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหลักเผชิญ แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ โน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ก็ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ เเละยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อในปีหน้าด้วย

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับสูงขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าครองชีพสูงตามไปด้วย

จากผลสำรวจครัวเรือนไตรมาส 3/64 พบว่า ครัวเรือนไทยประมาณ 73% รายได้ปรับลดลง และส่วนใหญ่มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางรายได้ที่ลดลง ต้องเเบกภาระหนี้บ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นได้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของครัวเรือนหรือสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนให้เปราะบางมากขึ้น

จับตาเงินเฟ้อ 

โดยรวมจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวก 3.6% เทียบจากไตรมาส 3 แต่หดตัว -0.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนไตรมาสที่ 3 นับเป็นจุดต่ำสุด โดยเทียบไตรมาสก่อนหน้าจะหดตัว -3% และหดตัว -4.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ากลับมาฟื้นตัวได้ที่ 3.7% จากการที่ประชาชนได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลงและการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ เเละคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2 ล้านคนในปีหน้า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ราคาพลังงานที่พุ่งสูงและเงินเฟ้อ

“มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation โดยมองเงินเฟ้อในปี 2565 จะอยู่ที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง”

โดยประเมินราคาน้ำมันน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปีนี้ และในไตรมาส 1/2565 จะในกรณีเลวร้ายที่ OPEC และสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตต่ำกว่าคาด ฤดูหนาวที่ยาวกว่าคาด และวิกฤตพลังงานในจีนยังไม่คลี่คลาย อาจปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อัตราเงินเฟ้อของไทย น่าจะยังอยู่ในกรอบ 1-3% ส่วนภาวะ Stagflation นั้นที่ผ่านมาเงินเฟ้อจะต้องเพิ่มขึ้นไปเป็นดับเบิลดิจิต ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็คงมีไม่มากนัก

ด้านค่าเงินบาท ส่วนที่เหลือของปีนี้ จะเริ่มเเข็งค่าขึ้นอยู่ในกรอบ 32.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเฉลี่ยที่ 32.75) ซึ่งปีหน้าคาดว่าค่าเงินบาทจะเเข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ เเต่ยังคงมีความไม่เเน่นอนสูง ซึ่งหากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลายลงก็จะมีเเนวโน้มออ่อนค่าได้อีกในปีหน้า