โควิดฉุดการฟื้นตัว IMF ลดคาดการณ์ ‘เศรษฐกิจเอเชีย’ เหลือ 6.5% ไทยขยายตัวเเค่ 1%

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้ เหลือ 6.5% หลังโควิดระลอกใหม่ ลุกลามในหลายประเทศสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เเละการกระจายฉีดวัคซีนล่าช้าเป็นอุปสรรคใหญ่

รายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าปี 2021 ตัวเลขเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะเติบโตที่ระดับ 6.5% ลดลงกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนเมษายน ที่ 7.6%

ปัจจัยหลักๆมาจากยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การบริโภค ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และแรงกดดันจากเงินเฟ้อ 

อย่างไรก็ตาม เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของเอเชียในปี 2022 จากเดิมที่ระดับ 5.3% มาอยู่ที่ 5.7% เนื่องจากประเมินว่าในเวลานั้นคงมีการกระจายวัคซีนโควิดเป็นวงกว้างเเล้ว

ปีที่ผ่านมา เหล่าประเทศในเอเชียค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสกัดการเเพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในปีนี้ หลายประเทศอย่าง อินเดีย มาเลเซีย ไทยและเวียดนาม ต้องต่อสู้กับการติดเชื้อจำนวนมาก อีกทั้งการฉีดวัคซีนยังเริ่มดำเนินการได้ช้า ดังนั้นการเข้าถึงวัคซีนจึงมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเอเชียเเละประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับเศรษฐกิจจีนในปีนี้ คาดว่าจะมีการเติบโตราว 8.0% และ 5.6% ในปี 2022 แต่การฟื้นตัวยังไม่สมดุลนัก เพราะการระบาดของโควิดที่ยังไม่เเน่นอน บวกกับการคุมเข้มทางการคลัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศของจีน

Photo : Shutterstock

IMF ประเมินว่าเมียนมาจะมีการหดตัวของ GDP มากที่สุดถึง -17.9% ส่วนฟิลิปปินส์ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% และมาเลเซียอยู่ที่ 3.5%

ขณะที่เศรษฐกิจไทย คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ 1.0% ในปีนี้และ 4.5% ในปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนเมษายนที่ระดับ 2.6% และ 5.7% ตามลำดับ

“5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ยังต้องเผชิญกับความท้าทายกับการระบาดหนักของโควิดระลอกใหม่ ทำให้การบริโภคในภาคบริการอ่อนแอลง

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5.2% มาอยู่ที่ 6% เละเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จะเพิ่มขึ้นจาก 4.3% มาอยู่ที่ 6.4%

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ IMF เตือนว่า การกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

 

ที่มา : CNBC , Reuters