ความหวังคนทำงานในปีหน้า หรือปี 2561 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เริ่มสดใสเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะมีแนวโน้มได้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 5-5.8% หรือเฉลี่ย 5.5% โบนัส 1.8-5.5 เดือน พอๆ กับปีที่แล้ว
จากการเปิดเผยผลสำรวจของ วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งสำรวจข้อมูล 245 บริษัทในไทย โดย 90% เป็นบริษัทข้ามชาติในไทยเกี่ยวกับการบริหารบุคคลในองค์กร
พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ วิลลิสฯ เปิดเผยว่า ปีหน้าธุรกิจต่าง ๆ เฉลี่ยจะปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 5.5% โดยหลังหักเงินเฟ้อ 1.1% แล้ว จะมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% โดยมีธุรกิจได้ปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุดประมาณ 5.8% ต่ำสุดคือ 5% มากกว่าปีที่แล้วที่ปรับขึ้นสูงสุด 5.2% ต่ำสุด 4% หรือเฉลี่ย 5.2%
กลุ่มธุรกิจที่จะได้ปรับขึ้น 5.8% คือกลุ่มยา ส่วนที่ปรับขึ้น 5.5% คือ ประกันภัย ประกันชีวิต เคมิคอล ค้าปลีก และกลุ่มอื่น ๆ อย่างโรงแรม งานบริการเพื่อสุขภาพ
กลุ่มที่ปรับขึ้น 5.4% คือธนาคารและการเงิน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับขึ้น 5.3% กลุ่มบริหารความมั่งคั่ง สินทรัพย์ และกลุ่มไฮเทค 5.2% กลุ่มที่ปรับขึ้นน้อยที่สุดคือกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง 5% เกือบทั้งหมด ได้ปรับขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว แต่ยังน้อยกว่าปี 2559 ที่เฉลี่ยปรับ 5-6% โดยปีหน้าสรุปการขึ้นเงินเดือนในประเทศไทยถือว่าอยู่ในอัตรากลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก
ประเทศที่ปรับเงินเดือนระดับสูง แต่เงินเฟ้อสูง จนทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเงินเดือนที่ปรับขึ้น คือ อินเดีย ปรับขึ้น 10% แต่เงินเฟ้อ 4.7% ทำให้มีเงินได้จริง 5.3% ปากีสถาน ปรับขึ้น 10% แต่เงินเฟ้อ 3.8% เงินได้จริง 6.2% และเมียนมา ปรับขึ้น 8% แต่เงินเฟ้อ 8.2% เงินได้จริงติดลบ 0.2%
สำหรับการจ่ายโบนัสในปี 2559-2561 นั้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ต่างกันในแต่ละปี โดยธุรกิจที่จ่ายโบนัสสูงสุดคือธุรกิจบริหารสินทรัพย์และความมั่งคง เช่นที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนต่าง ๆ จ่ายปีนี้และปีหน้า 5.5 เดือน กลุ่มที่ได้โบนัสเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ระะดับ 2 เดือนกว่า ๆ คือ อิเล็กทรอนิกส์ ไฮเทค ขนส่ง โลจิสติกส์ ประกันชีวิต ส่วนท่ีจะได้โบนัสน้อยลง คือ ธนาคาร และการเงิน ส่วนกลุ่มที่ได้ระดับ 1.8 เดือน เท่า 2 ปีที่แล้วคือกลุ่มประกันภัย
***ดาวรุ่งอีคอมเมิร์ซ–ประกันพร้อมซื้อตัวแพง
สำหรับเงินเดือนในอาชีพต่าง ๆ และตามระดับการศึกษานั้น ประเทศไทย จัดอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาชีพที่ยังคงได้รับเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดยังคงเป็น กลุ่มวิศวกรอยู่ที่ 20,000-23,500 บาท รองลงมากลุ่มไอที 17,500-23,000 บาท ตามมาด้วยบริหารทรัพยากรบุคคล 15,000-20,000 บาท บัญชีการเงิน 15,000-18,000 บาท และกฎหมาย 15,500-17,000 บาท
ส่วนระดับการศึกษา ระดับมัธยมอยู่ที่ 9,300-10,000 บาท ระดับจบมัธยม 10,650-11,750 บาท ระดับปริญญาตรี 15,000-20,000 บาท และปริญญาโท 20,500-25,000 บาท
กลุ่มธุรกิจที่ปีหน้าจะมีการโยกย้ายงานกันสูงมากคือกลุ่มประกันภัย ประกันชีวิต เพราะกลุ่มนี้มีแนวโน้มควบรวมและเกิดการแย่งตัวพนักงานที่มีคุณภาพสูง ค่าตัวของพนักงานในกลุ่มธุรกิจนี้จะสูงขึ้น
ขณะที่ โทนี่ คันธาภัสระ ผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจที่ปรึกษาด้านผลตอบแทนและทรัพยากรบุคคล วิลลิสฯ เปิดเผยว่าอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มการซื้อตัวกันมาก คือกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลของธุรกิจกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งพบว่า การซื้อตัวมีการเสนอจ่ายค่าตอบแทนสูงขึ้นจากเดิมถึง 35-50% โดยกลุ่มนี้ยังไม่มีค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในธุรกิจนี้ ซึ่งหมายถึงพร้อมจ่ายเพื่อดึงตัวมาทำงาน
ขณะที่อุตสาหกรรมที่คาดหวังว่าจะเติบโตจากนโยบายรัฐบาล อย่างเช่น ก่อสร้าง คาดว่ายังต้องรอผลบวกในอนาคต แต่ผลตอบแทนที่จะได้ในการวัดผลแต่ละปีเป็นโบนัสมากกว่า
***จับตาเทรนด์ Work-Life Balance
สำหรับเทรนด์ของคนทำงานรุ่นใหม่ต้องการอะไรบ้างนั้น
พิชญ์พจี ชี้ให้เห็นว่า องค์กรต่าง ๆ จะเริ่มเห็นสัดสวนที่มีพนักงานประจำลดลง จากปัจจุบันมีประมาณ 90% เป็นพนักงานประจำ อีก 10% เป็นฟรีแลนซ์ แนวโน้ม 2-3 ปี ข้างหน้า จะเห็นกลุ่มฟรีแลนซ์ พาร์ตไทม์ ลักษณะร่วมทำงานบางงาน ประมาณ 20-30% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำที่ประจำนาน ๆ หรือทำที่ใดเต็มตัว เพราะต้องการสร้างสมดุลการใช้ชีวิต การทำกิจกรรมในไลฟ์สไตล์ที่ชอบกับการทำงานตามเทรนด์ Work-Life Balance
ขณะเดียวกัน คริส เมย์ส ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและสวัสดิการ วิลลิสฯ เปิดเผยว่าองค์กรต่าง ๆ เริ่มมองเห็นความจำเป็นในการรักษาทรัพยากรบุคคล โดยให้ความสำคัญกับคนทำงานทุกเจนเนอเรชั่นในองค์กร ที่มีตั้งแต่เบบี้บูม เจนเอกซ์ เจนวาย แน่นอนว่าคนรุ่นผู้ใหญ่มองหาเรื่องความมั่นคงหลังเกษียณ ส่วนคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานในสภาพที่มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข และสุขภาพที่ดี ตามเทรนด์ Work-Life Balance รวมไปถึงองค์กรที่มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงดี
ทั้งนี้ส่วนใหญ่บริษัทที่สำรวจซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาตินั้นมีมาตรฐานการให้สวัสดิการโดยรวมดีกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว
ส่วนแนวโน้ม 3 ปีข้างหน้านั้น สำรวจพบว่านายจ้างในไทยตั้งใจเพิ่มสวัสดิการอื่น ๆ เช่น สวัสดิการเพื่อครอบครัว เช่น การดูแลบุตรจาก 23% เป็น 33% การซื้อขายวันลาหยุด จาก 10% เป็น 18% การช่วยให้พนักงานมีความมั่นคงทางการเงิน จาก 27% เป็น 39% นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มสวัสดิการเรื่องสุขภาพ จาก 44% เป็น 60% และการดูแลตอบโจทย์ความต้องการด้านไลฟ์สไตล์จาก 18% เป็น 39%
ในปี 2562 นายจ้างจำนวนมากจะเสนอรูปแบบสวัสดิการทางเลือกให้พนักงานเลือกเอง 35% แบบยืดหยุ่น 39% แบบเพิ่มเติมโดยสมัครใจ 22% ซึ่งวิธีนี้ทำให้พนักงานเข้าใจ และเห็นว่าองค์กรให้ความใส่ใจกับพนักงาน
ผลสำรวจยังพบว่าประเด็นที่นายจ้างอยากรักษาบุคคลกรไว้ คือ เรื่องการดูแลสุขภาพพนักงาน ที่อีก 3 ปีข้างหน้านายจ้าง 73% วางแผนให้ความสำคัญทางด้านนี้ แต่ยังมีเพียง 24% ที่กำลังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเครียดที่เกิดจากการทำงานที่เป็นปัจจัยปัญหาต้น ๆ ที่นายจ้างต้องเจอ นายจ้าง 70% กำลังวางแผนโปรแกรมด้านการเกษียณ
***3 เหตุผลลูกน้องลาออก
สำหรับอัตราการลาออกนั้น ในไทยปี 2560 มีประมาณ 12% ต่ำกว่าอัตราการลาออกในเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ในระดับ 15% อุตสาหกรรมที่ลาออกกันมากที่สุดคือ กลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 18% ประกันชีวิต 16% ไฮเทค 11% และบริหารสินทรัพย์ 10%
สาเหตุการลาออก คือ 1.ต้องการเงินเดือนสูงขึ้น 2.มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ และ 3.ความสัมพันธ์กับหัวหน้า หรือผู้จัดการไม่ดี ซึ่งประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับหัวหน้างานนั้น องค์กรต้องให้ความรู้กับระดับหัวหน้างาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการคนในสังกัด หรือลูกน้องได้ดี