ปิดดีล “ไทยเบฟ” ซื้อแฟรนไชส์ “เคเอฟซี” ล็อตสุดท้าย 252 สาขา 1.14 หมื่นล้านแล้ว

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้ประกาศปิดดีลการเข้าซื้อกิจการร้าน “เคเอฟซี” 252 สาขา มูลค่า 11,400 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยระบุว่าการซื้อร้านเคเอฟซี ครั้งนี้เป็น มากกว่าโอกาส ในการขยายธุรกิจอาหารของไทยเบฟ เพราะนอกจากเคเอฟซีจะเสริมทัพกลุ่มธุรกิจและขยายพอร์ต “ธุรกิจอาหาร” ของไทยเบฟให้เติบโตขึ้นแล้ว ยังเป็นช่องทางต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ “เครื่องดื่ม”

“เพราะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สามารถไปด้วยกันเป็นแพ็คเกจได้เป็นอย่างดี” “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บอก

ด้วยเครือข่ายสาขาของเคเอฟซีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มั่นใจว่าจะทำให้กลุ่มไทยเบฟ สามารถ “เข้าถึงลูกค้าจำนวนมากทั่วประเทศได้โดยตรง” และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เกิดความเข้าใจเทรนด์ ความต้องการของผู้บริโภค และช่วยให้บริษัทก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมนี้ หนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อีกทั้งความชำนาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจบริการอาหารจานด่วน(คิวเอสอาร์) ของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยผลักดันและเร่งขยายสาขาของเคเอฟซีประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้

โอกาสที่ไทยเบฟ ในการร่วมงานกับ ยัมฯ จะช่วยให้ “เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย” ในเครือไทยเบฟ ก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจแฟรนส์ไชส์ร้านอาหารมาตรฐานระดับโลกได้ ขณะที่แบรนด์เคเอฟซีก็จะเข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้างมากขึ้นด้วย

ธุรกิจร้านอาหารเคเอฟซีจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาผนึกกำลังกับธุรกิจอาหารของไทยเบฟ เพื่อเติมเต็มและเสริมสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ธุรกิจอาหารจึงมาเติมความครบเครื่องของไทยเบฟ เป็นหมากรบชั้นดีในการรุกตลาดอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ผ่าพอร์ตธุรกิจอาหารไทยเบฟ

ไทยเบฟ วาง “จิ๊กซอว์” และเดิมเกมขยายพอร์ตธุรกิจอาหารอย่างจริงจังต่อเนื่องตลอด 3-4 ปี นอกจาก แบรนด์ “โออิชิ” ที่เป็นหัวหอกในการ ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งอาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน ผ่านบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชนแล้ว ยังได้แตกขยายไปยังธุรกิจอาหารประเภทอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือ “ฟู้ด ออฟ เอเชีย”  พอร์ตธุรกิจอาหารของไทยเบฟเวลานี้  จึงครอบคลุม ทั้งอาหารจีนโดย “หม่านฟู่หยวน” อาหารไทยประยุกต์ “คาเฟ่ ชิลลี่” อาหารอาเซียน “โซอาเซียน” รวมถึงสไตล์ตะวันตก “ไก่ทอดเคเอฟซี  ครอจับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่แมสไปจนถึงหรูหรา

 มีตั้งแต่อาหารพร้อมรับประทาน โออิชิ แพ็คฟู้ด มีฟู้คอร์ทแบรนด์ “Food Street” ที่ให้ทยอยให้บริการในห้างเดอะ สตรีท รัชดา และเตรียมเข้าบิ๊กซี ร้านแบบ Casual Dining เช่น โซอาเซียน ธุรกิจ QSR เคเอฟซี ไปจนถึง Fine Dinning  อย่างร้านอาหารสไตล์ตะวันตก Hyde & Seek และปิดท้ายด้วยร้านเค้กแอนด์เบเกอรี่ แบรนด์ mx cakes & bakery

เส้นทางขยายธุรกิจอาหารภายใต้

  • ปั้นร้านอาหารจีน “หม่านฟู่หยวน”
  • อาหารอาเซียน “โซอาเซียน”
  • รุกตลาดเบเกอรี่ ผ่านกลยุทธ์ “ร่วมทุนยักษ์” จากฮ่องกง “แม็กซิม กรุ๊ป” เปิดร้าน“mx cakes & bakery”
  • เดินหน้า “ซื้อและควบรวมกิจการ” วิธีลัดที่ใช้ประจำในการซื้อร้านอาหารไทยประยุกต์ “สไปซ์ ออฟ เอเชีย” ซื้อร้านไก่ทอดตะวันตก “เคเอฟซี”

ผลลัพธ์ทำให้ไทยเบฟมีร้านอาหาร จับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ “แมสไปจนถึงหรูหรา”

แบรนด์ที่มีในมือมากกว่า 12 แบรนด์

  • อาหารพร้อมรับประทาน โออิชิ แพ็คฟู้ด
  • ฟู้คอร์ทแบรนด์ “Food Street” ทยอยให้บริการในห้างเดอะ สตรีท รัชดา เตรียมขยายเข้าห้างบิ๊กซี
  • ร้านแบบ Casual Dining เช่น โซอาเซียน คาเฟ่ ชิลลี่ฯ
  • ธุรกิจ QSR เคเอฟซี
  • Fine Dinning  อย่างร้านอาหารสไตล์ตะวันตก Hyde & Seek และร้านอาหารไทยหรูเปิดปลายปี

ซื้อกิจการใหม่อีกในเวียดนาม

นอกจากปิดดีลเคเอฟซี ไทยเบฟได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่าBeerCo Limited บริษัทในเครือได้เข้าซื้อหุ้น 49% ของ F&B Alliance Investment Joint Stock Company หรือ Vietnam F&B ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในเวียดนาม เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 มีวัตถุประสงค์หลักในงานด้านการให้คำปรึกษา และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินลงทุน

 สำหรับ Vietnam F&B มีทุนก่อตั้งอยู่ที่ 200 ล้านด่ง (2.8 แสนบาท) มีหุ้นอยู่ 20,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10,000 ด่ง  โดย BeerCo เข้าซื้อหุ้นของ Vietnam F&B ทั้งหมด 49% จากผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลที่ 3 และ Vietnam F&B ยังคงถือหุ้น 51% ต่อไป.