เซเรซัส เปิดรายงานความสามารถการแข่งขันด้านฟินเทค ไทยติดอันดับ 7 ใน 10 ประเทศเอเชีย รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ชี้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เอื้อต่อฟินเทค แต่การขาดบุคลากรเฉพาะทางยังเป็นตัวฉุดรั้งคะแนนอยู่
จอย ลิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เซเรซัส บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล และคาดการณ์ข้อมูล เพื่อนำไปวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เปิดเผยรายงานความสามารถในการแข่งขันด้านฟินเทคของไทยและกลุ่มประเทศในเอเชีย ไม่รวมประเทศจีน ครั้งแรก ว่า ไทยได้ 43 คะแนนเต็ม 70 คะแนน สำหรับการพัฒนาด้านฟินเทค จัดอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอยู่รองจากประเทศมาเลเซีย ที่ได้ 45 คะแนน แต่หากเทียบกับ 10 ประเทศในกลุ่มเอเชีย ไทยอยู่อันดับ 7 ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับ 1 ได้ 58 คะแนน
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยได้คะแนนมากที่สุด เกิดจากนโยบายภาครัฐ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมฟินเทคมากขึ้น มีการออกกฎ ระเบียบ เพื่อเอื้อให้ฟินเทคเติบโต เช่น การสร้างแซนบอกซ์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการให้บริการการเงินใหม่ๆ รวมถึงการเปิดกว้างในการใช้โอเพ่น API
ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวฉุดคะแนน คือ ความสามารถบุคลากรในการวิเคราะห์ข้อมูล และการทำโปรแกรมด้านการเงิน ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งสร้างบุคลากรดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ควรเพิ่มบุคลากรต่างชาติเข้ามาเสริมด้วย เพราะบุคลากรด้านนี้มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมฟินเทคเป็นอย่างมาก หากไทยสามารถเพิ่มคะแนนจากจุดนี้ได้ คะแนนรวมของประเทศจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
‘ดิจิตอล อีโคโนมี ในการนำพาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น เป็นการวางรากฐานที่ดีมากสำหรับฟินเทค เชื่อว่าไทยมีศักยภาพสูงมากพอที่จะเปลี่ยนยุคการใช้ดิจิตอล แบงกิ้ง ในช่วงเริ่มต้นให้พัฒนาไปสู่ อีคอมเมิร์ซแบบบูรณาการได้ เพราะเมื่อถึงตอนนั้นบริการฟินเทคจะมีมูลค่ามากขึ้น’
นอกจากการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว องค์กร หรือ ผู้ให้บริการต่าง ๆ ควรนำกลยุทธ์ด้านการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้ามาใช้กับกลยุทธ์ด้านดิจิตอลไลเซชันโดยการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลจากแพลตฟอร์มธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและเกิดการบริการด้านการเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งในส่วนบุคคลและองค์กรต่าง ๆ
เนื่องจากโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของฟินเทค คือ ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางธุรกรรม ไปจนถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค ธุรกิจที่มีฟินเทคเป็นตัวขับเคลื่อนจะเกิดการรับรู้ผลได้เร็ว มีการโอนเงินข้ามแดนสะดวกมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อแบบเรียลไทม์มากขึ้น