ปี 60 โบนัสลดลง ธุรกิจรถยนต์ได้สูงสุด 2.33 เดือน เผย 5 ธุรกิจพนักงานเดิมเสี่ยง ย้ำ 10 ทักษะ ปี 2020 ที่คนทำงานต้องมี

รัฐบาลบอกเศรษฐกิจดีขึ้น แต่บริษัทจ่ายโบนัสพนักงานปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว เผยข้อคิดจากโบนัส องค์กรต้องเร่งรักษาคน พนักงานอย่าหยุดนิ่งต้องเร่งฝึกความสามารถใหม่ ทรานส์ฟอร์มตัวเองรับเทรนด์ ปี 2020 กับ 10 ทักษะที่ธุรกิจต้องการ เผย 5 ธุรกิจ แบงก์ ห้าง สื่อ หลักทรัพย์ ท่องเที่ยว ที่คนแบบเดิมต้องเร่งปรับตัว โอกาสทองมนุษย์ดิจิทัล

นพวรรณ จุลกนิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยผลสำรวจการจ่ายโบนัสพนักงานในปีนี้ว่า ธุรกิจมีการจ่ายน้อยลงทั้งแบบที่จ่ายแบบการันตี และจ่ายตามผลงานของบริษัท โดยธุรกิจยานยนต์จ่ายสูงสุด ทั้งแบบการันตี และตามผลงาน คือ 2.33 เดือน และ 2.14 เดือน ขณะที่ปีที่แล้วจ่าย 2.35 เดือน และ 4.74 เดือน

ธุรกิจที่มาแรงในปีนี้ และติดใน 5 อันดับที่จ่ายโบนัสสูงสุดแบบการันตีอันดับ 2 คือ ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จ่าย 1.31 เดือน และอันดับ 3 ตามผลงาน 1.26 เดือน

ส่วนธุรกิจที่เคยจ่ายสูงเป็นอันดับ 2 แบบการันตี เมื่อปีที่แล้วคือ ธุรกิจบริการด้านการเงิน ปีนี้จ่ายเป็นอันดับ 3 และจ่ายตามผลงาน เป็นอันดับ 2 คือ 1.16 เดือน และ 1.96 เดือน

ที่จ่ายสูงรองลงมาคือ อาหาร เครื่องดื่ม จัดเลี้ยง และธุรกิจไอที ที่ต่างจ่ายโบนัสลดลง โดยส่วนใหญ่จ่ายเดือน ธ.โดยมีการจ่ายทุกเดือน ขึ้นอยู่กับปีงบการเงินของบริษัทนั้น ๆ

นพวรรณ อธิบายว่า แม้จะมีข้อมูลว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หรือธุรกิจมียอดขายดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผลงานในช่วงปลายปี ความพอใจของพนักงานกับโบนัสที่ได้นั้น ปีนี้จึงพอใจน้อยกว่าปีที่แล้ว ปีนี้อยู่ที่ 25% ส่วนปีที่แล้ว 30% โดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูง และระดับผู้จัดการ ได้โบนัสทั้งแบบการันตี และตามผลงานสูงกว่ากลุ่มพนักงานระดับเจ้าหน้าที่ และหัวหน้างาน

กลุ่มผู้บริหารระดับสูงได้ตามการันตี 1.52 เดือน ได้ตามผลงาน 2.17 เดือน ระดับผู้จัดการ ได้ 1.53 เดือน และ 2.09 เดือน ระดับหัวหน้างาน 1.48 เดือน และ 2.04 เดือน และระดับเจ้าหน้าที่ 1.35 เดือน และ 1.98 เดือน

สำหรับแผนการใช้เงินโบนัสนั้นเจนเนอเรชั่น เบบี้บูมเมอร์ อายุมากกว่า 50 ปี Gen X อายุ 34-49 ปี Gen Y อายุ 26-33 ปี จะออม และลงทุน ส่วน Gen Z อายุ 18-25 ปี จะลงทุนมากกว่าออม

ตัวเลขโบนัสนี้มีผลต่อทั้งตัวองค์กร และพนักงาน ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือ 46% มองว่ามีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานในการอยู่หรือไม่ของพนักงาน และ 47% เชื่อว่าโบนัสดึงดูดผู้หางานได้

พนักงาน 49% และผู้ประกอบการ 70% เห็นตรงกันว่า โบนัสที่จ่ายตามผลงาน เป็นตัวชี้วัดสะท้อนให้เห็นผลของความพยายามที่พนักงานทุ่มเทในการทำงาน ดังนั้นแนวโน้มการจ่ายโบนัสจะมีการจ่ายตามผลงานเช่นผลประกอบการมากขึ้น จากเดิมที่บางองค์กรจ่ายแบบการันตีอย่างเดียว หรือจ่ายทั้งสองแบบ

ส่วนการตัดสินใจลาออกนั้น 78% ของพนักงานที่สำรวจ เต็มใจลาออก หากบริษัทอื่นให้โอกาสงานที่ดีกว่าเดิม

ผลสำรวจนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ คือ เปรียบเทียบข้อมูลกับบริษัทอื่น ต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้ผลตอบแทนที่ได้สมน้ำสมเนื้อ เพราะปัจจุบันตลาดแรงงานเป็นของผู้หางานที่เป็นคนที่มีทักษะความสามารถจริง

ส่วนตัวพนักงานเองเมื่อรู้ข้อมูลการจ่ายโบนัสของธุรกิจแล้วควรพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงาน เพื่อพร้อมคว้าโอกาสใหม่ ๆ ที่ดีกว่าในอนาคต

ซึ่งการเตรียมพร้อมนี้ หมายถึงการเตรียมทั้งทางด้านจิตใจ เมื่อต้องเจอกับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ และพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อรับตำแหน่งหน้าที่ใหม่เมื่อได้รับโอกาส

การสำรวจอัตราการจ่ายโบนัสของพนักงานไทย ประจำปี 2560 นี้ จ๊อบส์ดีบีสำรวจผู้หางาน 2,020 คน และผู้ประกอบการ 322 ราย จากฐานข้อมูลในระบบจ๊อบส์ดีบี ที่มีผู้หางานสมัครเป็นสมาชิก 1.8 ล้านราย เพิ่มจากปีที่แล้ว 20% ที่มี 1.4 ล้านราย มีผู้ประกอบการ 40,000 ราย เพิ่มจากปีที่แล้ว 34,000 ราย หรือ 17% ส่วนตำแหน่งที่ประกาศรับสมัครงานมีเฉลี่ย 22,000 ตำแหน่ง เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 16,000 ตำแหน่ง หรือ 22%

*** 5 ธุรกิจเปลี่ยน โอกาสพนักงานใหม่ แต่พนักงานเก่าเสี่ยงถ้าไม่ปรับตัว

จากฐานข้อมูลการเปิดรับสมัครงาน พบว่า ตำแหน่งที่มีการเปิดรับสมัครลดลง คือ

  1. กลุ่มธุรกิจสื่อออฟไลน์
  2. กลุ่มพนักงานสาขาแบงก์ เพราะแบงก์ลดสาขา
  3. เจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ ที่คนรุ่นใหม่ใช้ออนไลน์มากขึ้น
  4. ธุรกิจท่องเที่ยว ที่คนใช้ออนไลน์จองที่่พัก ทัวร์ ท่องเที่ยวเองมากขึ้น
  5. กลุ่มห้างที่พนักงานขายลดลง เพราะคนใช้ระบบช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น และระบบจ่ายเงินเองของลูกค้าที่มีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสของกลุ่มอาชีพงานดิจิทัล วิเคราะห์ข้อมูล เพราะระบบออนไลน์จะมีฐานข้อมูลเกิดขึ้นอย่างมาก

***เทรนด์ 2020 กับ 10 ความสามารถพนักงานต้องมี

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หลายธุรกิจต้องปรับตัว คนทำงานก็ต้องปรับตัว ไม่เพียงเพื่ออยู่รอด แต่เพื่อรองรับโอกาสใหม่ เป็นเวลาที่คนทำงานต้องทรานส์ฟอร์เมชั่นตัวเอง

ทรนด์ปี 2020 กับ 10 ทักษะความสามารถคนทำงานที่องค์กรต้องการ มีดังนี้

  1. ความสามารถในการแก้ปัญหา
  2. การวิเคราะห์ แปลผลข้อมูล
  3. การนำข้อมูลมาต่อยอด
  4. การบริหารบุคลากร
  5. การมองภาพใหญ่ของงานได้
  6. ความสร้างสรรค์
  7. การใช้ระบบดิจิทัล
  8. การมีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง ประสบการณ์ที่น่าสนใจ
  9. ความสามารถในการสื่อสารกับทุกระดับทุกกลุ่ม ในแบบที่สามารถส่งต่อความคิดได้ขัดเจน
  10. รู้จักปรับตัว ประยุกต์รับมือกับสิ่งใหม่ ๆ

ยกตัวอย่างเช่น นักการตลาดที่เคยทำงานแบบเดิม แต่เมื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองจนเป็นนักการตลาดดิจิทัล พบว่าบางคนได้รับเงินเดือนมากกว่าเดิม 68% หรืออย่าง HR ที่เดิมส่วนใหญ่ดูงานเอกสารหรือบัญชี แต่ความต้องการทักษะใหม่ของ HR คือร่วมอยู่ในภาพใหญ่ขององค์กรที่ต้องมีแผนพัฒนาธุรกิจ ที่ต้องช่วยมองหาพนักงานใหม่เพื่อรองรับได้ถูกต้องกับทิศทางขององค์กร.