7 ลายแทง “ecommerce” ปี 2018

ไล่ตั้งแต่ blockchain ถึง same-day delivery กระทั่ง GDPR ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน 7 สิ่งที่สามารถบอกใบ้ได้ว่าสมรภูมิ ecommerce ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแข่งขันด้านใดในปี 2018 ซึ่งเป็นดินแดนที่ Amazon และ Alibaba กำลังสู้ศึกชนช้างอย่างดุเดือด

เหตุที่ทำให้อาเซียนเนื้อหอมจนนักลงทุนรุมตอม คือการเติบโตก้าวกระโดดของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนทำงานในภูมิภาคนี้ สถิติบันทึกว่า 10 ประเทศในอาเซียนจะมีประชากรคนทำงานมากกว่า 400 ล้านคนในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 190 ล้านคนในปี 2012 (ข้อมูลพยากรณ์จาก Nielsen)

อีกส่วนหนึ่งคือจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีมากขึ้น วันนี้ชาวอาเซียน 130 ล้านคนใช้สมาร์ทโฟน คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้จะแตะ 600 ล้านคนในปี 2025

ยอดขายอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด การวิจัยล่าสุดของ Google และกลุ่มทุน Temasek Holdings คาดการณ์ว่ายอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโต 32% ต่อปีจาก 5.5 พันล้านเหรียญในปี 2015 พุ่งกระฉูดเป็น 8.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2025 ซึ่งจะทำให้ตลาดออนไลน์ครองสัดส่วนราว 6% ของตลาดค้าปลีกรวม

การเติบโตนี้เห็นชัดจากยอดขายวันคนโสด หรือ Singles Day ซึ่งในประเทศจีนมีการฉลองว่า Singles Day มีเงินสะพัดมูลค่าถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญในวันเดียว 24 ชั่วโมง โดย Lazada ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้รับอานิสงส์จากงานนี้ด้วย เพราะสามารถทำยอดขายที่ร้อนแรงได้ในช่วงโปรโมชั่น แม้จะไม่ได้โลดโผนโดดเด่นในระดับตัวแม่อย่างประเทศจีน

สำนัก Campaign Asia ยกให้ 1 ใน 7 แนวโน้มสำคัญที่จะมีผลต่ออีคอมเมิร์ซอาเซียนปี 2018 คือ Mobile Payment การชำระเงินบนอุปกรณ์พกพาที่ใครรองรับได้ดีกว่า ก็มีโอกาสชนะได้มากกว่า

1. Mobile Payment 

เรื่องนี้เห็นชัดจากวัน Singles Day เพราะการซื้อส่วนใหญ่ 70% ทำบนอุปกรณ์พกพา ความจริงนี้แสดงให้เห็นว่าการช้อปปิ้งบนมือถือกลายเป็นตัวเลือกที่สำคัญในวงการค้าปลีกออนไลน์ แม้ว่าอัตรา penetration หรือจำนวนผู้ใช้นอกสิงคโปร์ที่ยังอยู่ในระดับน้อย แต่การชำระเงินผ่านมือถือก็เริ่มแสดงให้เห็นว่าจะแพร่หลายมากขึ้น

แม้ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Android Pay และ Apple Pay จะไม่สามารถให้บริการนอกประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่แบรนด์เล็กที่มาจากท้องถิ่นในประเทศอื่นก็เริ่มแทรกตัวเข้าสู่สายตาของผู้ใช้ทั่วภูมิภาคได้ เช่น อินโดนีเซียที่มี Ponselpay เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่นำเสนอบริการ Mobile Payment ที่ไม่เหมือนใคร ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มี Line Pay ซึ่งได้ร่วมกับ Rabbit Card เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับระบบ BTS รวมถึงการชำระเงินในร้านค้าอื่น

ที่สำคัญคือ บริการ Mobile Payment ของ Alipay และ Wechat Pay กำลังเริ่มเข้าสู่ภูมิภาคนี้ บริการแดนมังกรที่มุ่งเน้นตลาดนักท่องเที่ยวจีนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในโรงแรมขนาดใหญ่และเครือข่ายร้านอาหาร ซึ่งบริษัทแม่ทั้ง Alibaba และ Tencent ต่างก็เริ่มลงทุนในบริษัทท้องถิ่น จุดนี้มีการประเมินว่าปี 2018 จะเป็นปีที่ตัวเลือกการชำระเงินมีความหลากหลายมากขึ้น ระบบกระเป๋าเงินในโทรศัพท์มือถือจะมีความพร้อมใช้งานมากขึ้น คาดว่าการลงทุนในตลาดการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2021

2. Same-Day Delivery 

ไม่ต้องรอข้ามวัน แต่ Same-Day Delivery คือการจัดส่งสินค้าในวันเดียวกันกับที่สั่งซื้อ เหตุที่ Same-Day Delivery เป็นหนึ่งในเทรนด์แรงอีคอมเมิร์ซปี 2018 คือผลการศึกษาล่าสุดของบริษัทวิจัย L2 ที่พบว่า ผู้ซื้อ 1 ใน 4 รายจะเลิกซื้อสินค้าหากพบว่าร้านนั้นไม่มีบริการจัดส่งสินค้าในวันเดียว

สถิตินี้ตอกย้ำว่าลูกค้ามีแนวโน้มคาดหวังในการรับสินค้าที่สั่งซื้อไว้ได้เร็วขึ้น แนวโน้มนี้ทำให้ปี 2017 เจ้าใหญ่อย่าง Lazada ลงมือเปิดตัวบริการ Lazada Express ในฟิลิปปินส์ หลังจากเปิดที่สิงคโปร์มาก่อนหน้านี้ โดยเบื้องต้น บริการนี้ยังจำกัดอยู่ที่เมืองใหญ่และพื้นที่โดยรอบ

นอกจาก Lazada Express ยังมี Amazon Prime Now ที่เริ่มให้บริการที่สิงคโปร์ ร่วมด้วยผู้ค้ารายย่อยในหลายประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งสัญญาณว่าปี 2018 จะเป็นปีที่ชาวอาเซียนในเมืองใหญ่จะมีโอกาสได้รับบริการ Same-Day Delivery มากขึ้น ซึ่งปัจจัยเสริมส่วนหนึ่งอาจมาจากบริการแอปพลิเคชันส่งสินค้าเช่น Uber Deliver และ GrabExpress ล้วนสามารถทำให้เกิดบริการ Same-Day Delivery ในระดับกลุ่มย่อยเฉพาะบางเมือง

3. Omnichannel

ตลอดปี 2017 หลายบริษัทพยายามเชื่อมช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อรองรับพฤติกรรมการช้อปปิ้งที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นปี 2018 การใช้แนวทาง omnichannel ในการขายและการบริการลูกค้าจึงมีทีท่ากลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้น เพราะผู้ค้าปลีกจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ และเชื่อมช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ดีขึ้นเพื่อนำลูกค้าเข้ามาให้มากขึ้น

omnichannel ในฝันที่จะเกิดขึ้นหนาตาในปี 2018 คือระบบที่สามารถติดตามและเชื่อมต่อประสบการณ์ของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เรียกว่าสร้างความต่อเนื่อง ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา

4. Social Messengers & Chatbots 

สำนัก Business Insider Intelligence รายงานว่าการใช้แอปพลิเคชันรับส่งข้อความหรือ messaging app นั้นเริ่มมีความถี่ทรานเซฟชันมากกว่าการใช้เครือข่ายทางสังคมหรือ social network ในขณะที่รายงานของ The Economist ระบุว่ามีผู้ใช้กว่า 2.5 พันล้านคน ติดตั้งแอปส่งข้อความอย่างน้อยหนึ่งแอปบนสมาร์ทโฟนตัวเอง สถิตินี้ทำให้แบรนด์ส่วนใหญ่หันมาใช้ประโยชน์จากแอปสนทนา เพื่อโต้ตอบกับลูกค้าแบบส่วนบุคคล

ที่สำคัญคือ แบรนด์จำนวนมากเลือกใช้โปรแกรมสนทนาอัตโนมัติหรือ chatbot บนเพจ Facebook วิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลสินค้าที่สนใจ และสามารถซื้อสินค้าได้จากหน้าสนทนาบน Facebook messenger ได้เลย รูปแบบที่สวยหรูนี้ทำให้เชื่อขนมกินได้ว่าจะมีอีกหลายแบรนด์ลงทุนในระบบสนทนาเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรง

5. Store in Store 

ที่ผ่านมา หลายแบรนด์ยึดมั่นในโอเดล Brand.com หรือการสร้างเว็บไซต์เพื่อใส่ชื่อแบรนด์ตัวเองเพื่อต่อท้ายด้วยคำว่าดอทคอมเว็บไซต์นี้เป็นแหล่งที่เหล่าแบรนด์ใช้ขายสินค้าโดยที่ยังสร้างแบรนด์ได้เหนือกว่าการขายในตลาดออนไลน์ เพราะแบรนด์สามารถออกแบบ ทำโครงสร้าง หรือให้ทางเลือกในการจัดส่งได้ยืดหยุ่นกว่า แต่วันนี้ตลาดอย่าง Amazon และ Lazada นั้นร้อนแรงจนทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว ด้วยการสร้างร้านในร้านหรือการสร้างเพจร้านค้าของตัวเองในร้านตลาดออนไลน์รายใหญ่

ผลคือลูกค้าของแบรนด์จะมีประสบการณ์ใหม่ในการซื้อสินค้าของแบรนด์ ตัวอย่างชัดเจนคือ Levi’s ที่ร่วมมือกับร้านออนไลน์หลายแห่งรวมทั้ง Amazon และ Lazada ออกแบบเพจร้านขายยีนส์ของตัวเอง โดยจัดเต็มทั้งคอลเลกชันล่าสุด โปรโมชัน และลายสินค้าอื่นในกลุ่ม บนการออกแบบหน้าเว็บสไตล์เฉพาะของ Levi’s ผลลัพท์คือเจ้าพ่อยีนส์โลกสามารถแสดงตัวตนของแบรนด์ บนทราฟฟิกมหาศาลจาก marketplace ยอดนิยม

6. Blockchain/Cryptocurrency 

ถ้าพูดถึง blockchain ก็ต้องพูดถึง cryptocurrency ด้วย เดิมทีเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาเป็นองค์ประกอบหลักของ bitcoin แต่วันนี้ blockchain กลายเป็นเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกวงการ เนื่องจากลักษณะการกระจายอำนาจและการออกแบบที่ปลอดภัย 

เทรนด์แรงสำหรับการค้าออนไลน์ปี 2018 คือแอปพลิเคชันชั้นนำจะเริ่มให้ cryptocurrency เป็นตัวเลือกการชำระเงินสำหรับลูกค้า นอกจากนี้ ระบบ blockchain จะถูกใช้ในระบบการผลิตสินค้าราคาแพง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าสินค้าที่เห็นในร้านออนไลน์ไม่ใช่สินค้าปลอมเกรดเอ

7. GDPR 

พฤษภาคม 2018 คือกำหนดการที่ General Data Protection Regulation (GDPR) หรือนโยบายป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลใหม่จะเริ่มมีผลกับชาวอียู แม้ว่าจะยังจำกัดในตลาดยุโรป แต่คาดว่า GDPR นี้จะมีผลต่อ ecommerce ทั่วโลก ซึ่งจะมีโอกาสส่งผลถึงอาเซียนด้วย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้ค้า ecommerce จะต้องได้รับการยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อรวบรวมและรักษาข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมถึงการสร้างโปรไฟล์ เพราะถือเป็นข้อมูลและผู้ค้าต้องได้รับการยินยอมจึงจะสามารถรับข้อมูลหรือทำการตลาดบนเว็บไซต์นั้น นอกจากนี้ กฏหมายนี้ยังครอบคลุมถึงการส่งข้อมูลลูกค้าให้บริษัทอื่น เช่น ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบทั่วทั้งวงจร

เหตุผลที่ทำให้สรุปเช่นนี้คือสิงคโปร์นั้นเป็นพันธมิตรสำคัญของสหภาพยุโรป ธุรกิจมากมายในสิงคโปร์จะต้องปรับรูปแบบให้บริการให้ทันเพื่อไม่ให้ต้องถูกลงโทษปรับได้ แม้ทุกธุรกิจจะรู้ดีว่าต้องเริ่มดำเนินการแล้ว แต่การสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 56% ในสิงคโปร์หวั่นใจว่าอาจไม่สามารถปรับรูปแบบให้บริการได้ทันตามกำหนด

นอกเหนือจาก 7 สิ่งนี้ ยังมีลูกเล่นใหม่หรือโอกาสใหม่ที่เหล่าแบรนด์จะสรรหามาได้แบบเกินคาดเดา ซึ่งใครทำได้ดีทำได้โดน ก็อาจจะสามารถโกยลูกค้าและทำเงินได้มากกว่าการถูกหวยแน่นอน.

ที่มาcampaignasia.com/article/7-ecommerce-trends-that-will-shape-sea-sales-in-2018/441827