ผ่าแนวรบใหม่ “โออิชิ” ลุยร้านหรู-แพ็กเกจฟู้ด ตอบโจทย์กินที่ร้าน-ซื้อกลับบ้าน

เมื่อบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ปักหมุด ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในระดับภูมิภาค (Regional) ภายในปี 2563 ภาระนี้จึงตกเป็นของบริษัทในเครือ “บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ที่จะเป็นอีกหนึ่งในจิ๊กซอว์” สำคัญทางด้านนี้ 

“นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ควบหมวกใหญ่อีกใบที่คือกุมบังเหียน ธุรกิจอาหาร” ให้กับ ไทยเบฟ เล่าว่า พอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารของเครือไทยเบฟมีตั้งแต่สตรีทฟู้ด ไปจนถึงร้านหรู (Fine dining) และอาหารมีครบทั้งไทย จีน อาเซียน ตะวันตก รวมทั้งเครือมีประมาณ 18 แบรนด์ เช่น โออิชิ, โซอาเซียน, Hyde&Seek

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

ล่าสุด ได้นำบ้านเก่าสมัยรัชการที่ 5 ตั้งอยู่ในย่านสุรวงศ์ เปิดเป็นร้านอาหารบ้านสุริยาศัย (Baansuriyasai) ซึ่งเป็น Super Fine-Dining Restaurant เจาะคนมีกำลังซื้อสูงมากขึ้น รองรับนักท่องเที่ยว

ไทยเบฟทำหน้าที่บุกธุรกิจอาหารที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น (Non-Japanese food) ส่วนโออิชิมุ่งไปที่ร้านอาหารญี่ปุ่นทุกประเภท โดยหมากรบปี 2561 ของโออิชิที่น่าสนใจคือการโฟกัสธุรกิจอาหารไปยัง “ตลาดพรีเมียมและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หรือ Packaged food” มาเสริมแนวรบชิงขุมทรัพย์แสนล้านมากขึ้น

ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ส่วนธุรกิจเครื่องดื่ม “การโกอินเตอร์” ลุยตลาดอาเซียน จะใช้กลยุทธ์การเร่งสปีดเพื่อเป็น “เบอร์ 1” ให้ได้ตามเป้าหมายตามวิชั่น 2020

++กระแสมิชลินสตาร์มาแรง 

ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยปี 2560 มูลค่าตลาดรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท เติบโต 2-4% เทรนด์ที่มาแรงในปีนี้ มี 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยพยายามมองหาสิ่งที่ดี มีประโยชน์ตอบการบริโภคของตัวเองมากขึ้น 2.บริการเดลิเวอรี่ โตเยอะ จากปัจจัยเทคโนโลยี ทำให้เกิดแพลตฟอร์มการส่งสินค้าที่ช่วยขยายตลาดเช่น ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า ส่งอาหารถึงที่ สนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้มากขึ้น

3.ทางเลือกในการบริโภคอาหารมีมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบันมีตั้งแต่ร้านริมทาง (Street food) ร้านอาหารบริการด่วน (QSR) ไปจนถึงร้านหรู (Fine dining) ให้คนเลือกบริโภคตามกำลังเงินในกระเป๋า แต่ปีที่ผ่านมา “อาหารที่มีแวลู่” หรือ ราคาสูงคุ้มค่า กลายเป็นช้อยส์ที่ลูกค้าจ่ายมากขึ้น

จึงทำให้โออิชิมองการขยาย “ร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ใหม่” เพื่อเจาะตลาดไลฟ์สไตล์ Fin dining หรือพรีเมียมขึ้นนั่นเอง โดยแบรนด์และโมเดลร้าน บริษัทจะพัฒนาขึ้นเองมากกว่าการดึงเชนร้านดังมาเปิด

“ถ้าดูตลาดร้านอาหารในเมืองไทย เซ็กเมนต์พรีเมียมน่าสนใจ เห็นได้จากการมีมิชลินสตาร์ เชฟกระทะเหล็ก เข้ามา ร้านหรูดังๆ เข้ามา ทั้ง Burger & Lobster โฟร์ซีซั่น ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคชาวไทยก็สนใจและปรับตัวบริโภคอาหารพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่แพง แต่เราจ่ายแล้วคุ้มค่า กลุ่มนี้ยังมีมูลค่ามหาศาล คนพร้อมจ่ายมีเยอะ เราจึงสนใจร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียมในรูปแบบการกินอาหารสดๆ เหมือนอยู่ที่ญี่ปุ่น” ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร ฉายภาพ

ไพศาล อ่าวสถาพร

ปัจจุบันโออิชิมีแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ต 9 แบรนด์ เช่น โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ, โออิชิ ราเมน, โออิชิ เดลิเวอรี่, อีทเทอเรียม และโออิชิแกรนด์ เป็นต้น ในจำนวนนี้ ร้านพรีเมียมมีเพียง “โออิชิแกรนด์” ที่เปิดให้บริการเพียง 1 สาขาเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาโออิชิเองก็พยายามยกระดับบางแบรนด์ให้พรีเมียมขึ้น เช่น อีทเทอเรียม นิกุยะ เป็นต้น

แม้ปีนี้จะโฟกัสร้านหรู แต่บริษัทยังขยายร้านโออิชิต่อเนื่อง โดยเตรียมทุ่มงบ 400 ล้านบาท เปิด 20 สาขาใหม่ จากปัจจุบันมี 244 สาขา และอีก 200 ล้านบาทจะใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหาร

+++ลุยอาหารสำเร็จรูป

ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เป็นครอบครัวเล็กลง ต้องการความสะดวกสบาย และประหยัดต้นทุนในการทำอาหาร ส่งผลให้เกิด “เทรนด์ใหญ่” อย่างการบริโภคอาหารสำเร็จรูปบรรจุห่อ หรือ Packed food ทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นมาก และหากเทียบการบริโภคจะพบว่าคนออสเตรเลียรับประทานอาหารสำเร็จรูปสูงสุดในโลก เฉลี่ย 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ส่วนคนไทยเฉลี่ย 700 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าตลาดยัง “ขยายตัว” ได้มหาศาล

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าปี 2563 ตลาดอาหารสำเร็จรูปบรรจุห่อของไทยจะเติบโตเป็นอัตรา 10% ต่อเนื่อง และจะมีขนาดตลาดราว 60,000 ตัน มูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท จากขนาดตลาด 50,000 ตัน มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาทโดยผู้เล่นเจ้าตลาดได้แก่ ซีพี เอสแอนด์พี ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป เป็นต้น

เพื่อเข้าไปแบ่งเค้กตลาดอาหารสำเร็จรูป ปีที่ผ่านมา โออิชิ มีการเพิ่มทุนในบริษัทย่อย โออิชิ เซอร์วิส เกือบ 1,000 ล้านบาท เพื่อผลิตอาหารสำเร็จรูป จากปัจจุบัน โออิชิ เทรดดิ้ง ที่บ้านบึง จ.ชลบุรี ผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งประเภททานเล่น เช่น เกี๊ยวซ่า อาหารว่าง เช่น แซนด์วิช อาหารจานหลัก เช่น ข้าวหน้าต่างๆ และราเมน เพื่อทำตลาดผ่านร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ อยู่แล้ว

“เรามีร้านอาหารญี่ปุ่นที่สามารถไปทานที่ร้านแล้ว ก็ต้องการให้ผู้บริโภคซื้อกลับไปทานที่บ้านด้วย และสินค้าที่เราจับตลาดก็จะเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค มีตั้งแต่สแนคหรืออาหารทานเล่นเบาๆ ทานเมื่อไหร่ก็ได้ มีเกี๊ยวซ่า ที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการขายด้วยการนำไปผสมกับซุปได้ มีแซนด์วิชอุ่นร้อนทานได้ทุกวัน และอาหารพร้อมทานเช่นข้าว ราเมน ตอบโจทย์คนไทยที่รับประทาน 7 มื้อต่อวัน เช้า สาย เที่ยว บ่าย เย็น” กชกร อรรถรังสรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาหาร โออิชิ กรุ๊ป กล่าว

นอกจากตลาดในประเทศ บริษัทยังกระจายความเสี่ยงด้วยการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน ยุโรป สหรัฐฯ

++เครื่องดื่มซีนเนอร์ยีไทยเบฟ ผงาดเบอร์ 1 อาเซียน

กินอาหาร ต้องดื่มน้ำตาม แต่กลุ่มเครื่องดื่มปีนี้โออิชิขอ “สปีด” โตนอกบ้าน โดยจะซีนเนอร์ยี กับกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) และไทยเบฟ ในการนำสินค้าไปกระจายและทำตลาดในประเทศเวียดนาม และเมียนมาเชิงรุกมากขึ้น จากที่ผ่านมา นำชาเขียวโออิชิไปขายและทำตลาดที่ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จนขึ้นเป็นเบอร์ 1 เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเวียดนาม ทีซีซีฯ มีภูไท ไทคอร์ป ที่มีจุดเด่นด้านการกระจายสินค้าจากเวียดนามเหนือจรดเวียดนามใต้ได้ มีร้านสะดวกซื้อบีส์มาร์ท และร้านค้าปลีกแบบชำระเงินสด (แคชแอนด์แครี่) เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต เป็นช่องทางขายที่สำคัญ ไม่เพียงเท่านี้ การที่ไทยเบฟได้ SABECO ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มในเวียดนามมา อาจได้เห็นการซีนเนอร์ยีในอนาคตด้วย

ส่วนการทำตลาดในเมียนมา จะอาศัยขุมข่ายการกระจายสินค้าของเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) เพื่อบุกตลาด จากก่อนหน้านี้ “ฮันเดรดพลัส” นำร่องขายสินค้ามา 4-5 ปีแล้ว

“ในลาว กัมพูชา โออิชิเป็นเบอร์ 1 แล้ว กลยุทธ์ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือการนำสินค้าที่ผู้บริโภคท้องถิ่นชื่นชอบไปทำตลาด เช่น เขมรชาเขียวทับทิม ขายดีเป็นอันดับ 2 รองจากเลมอน มีการเล่นขนาดสินค้า 500 มิลลิลิตร (มล.) 380 มล. เป็นต้น รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตต่างๆ ผู้บริโภคให้การตอบรับแบรนด์ดีมาก ส่วนลาวบริษัทได้ยึดประเพณีท้องถิ่น เช่น ไหลเรือ แข่งเรือยาว เพื่อสร้างแบรนด์ การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าถึงผู้บริโภคปัจจุบันตลาดต่างประเทศโออิชิมียอดขายประมาณ 700 ล้านบาท หรือสัดส่วน 12% จาก 5 ปีก่อน ยอดขายไม่ถึง 100 ล้านบาท และตอนนี้เราต้องการสปีดเข้าสู่ตลาดภูมิภาคให้เร็วสุด มีการตั้งทีมงาน International commercial team รุกตลาดต่างประเทศเต็มที่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเบอร์ 1 ในอาเซียน”  เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม โออิชิ กรุ๊ป บอก

เจษฎากร โคชส์

ส่วนตลาดในประเทศ ชาเขียวโออิชิยังเติบโตทั้งยอดขายและแบรนด์ โดยปีที่ผ่านมาตลาดรวมชาเขียวมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ตลาดติดลบ 6% แต่โออิชิเติบโต 5% ขณะที่คู่แข่งอิชิตันยอดตก 25%

ส่วนแบ่งตลาดชาเชียว

ผลประกอบการปี 2560 (1 ต.ค. 2559 – 30 ก.ย. 2560)

  • รายได้จากการขายรวม 13,551 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากปี 59
  • รายได้จากธุรกิจอาหาร 6,497 ล้านบาท หดตัว 0.8%
  • ธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้  7,054 ล้านบาท หดตัว 0.4% 
  • กำไรสุทธิรวม 1,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.5% จากปีก่อน
  • กำไรจากธุรกิจอาหาร 210 ล้านบาท เติบโต 76.5% เนื่องจากการปรับกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกและการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ธุรกิจเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิ 1,233 ล้านบาท เติบโต 22.8%