“อาเจ” เจ้าของแบรนด์น้ำอัดลม “บิ๊กโคล่า” แตกไลน์ธุรกิจเข้าสู่กลุ่มอาหาร ประเดิมสินค้าแรก “ปลากระป๋อง” พร้อมอีกธุรกิจใหม่กลุ่มซูเปอร์ฟรุต เกาะเทรนด์รักษาสุขภาพ ย้ำจุดขายเดิมในทุกกลุ่มสินค้าต้อง “ราคาคุ้มค่า” มุ่งสู่เป้าหมายปี 2030 ทำรายได้เพิ่มเป็นเท่าตัว
“ฟาเบียน มอสเกล่า” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อาเจ อาเซียน เปิดตัวสินค้าใหม่ 2 รายการที่ถือเป็นการเปิดหมวดสินค้าใหม่ในเครือที่ผลิตในประเทศไทย ได้แก่ ปลากระป๋อง แบรนด์ “ดิ’กุสโต้” (D’Gussto) และ น้ำช่อดอกมะพร้าว แบรนด์ “อมายู” (Amayu)
แต่เดิมหมวดสินค้าที่อาเจมีการผลิตและจำหน่ายในไทยมี 5 หมวด คือ น้ำอัดลมแบรนด์ บิ๊ก (BIG), น้ำเปล่าแบรนด์วีด้า, เครื่องดื่มชูกำลัง Volt, เครื่องดื่มเกลือแร่ Sporade และ ฟังก์ชันนอลดริงก์แบรนด์ Bio
ทำให้ทั้งสองแบรนด์ใหม่นี้จะเป็นการแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจอาหาร และธุรกิจซูเปอร์ฟู้ด-สุขภาพ-เวลเนสเป็นครั้งแรกในไทย โดยฟาเบียนย้ำว่า แม้จะเป็นธุรกิจไลน์ใหม่แต่อาเจจะยังย้ำจุดยืนเดิมคือ “ราคาคุ้มค่า” ในทุกๆ หมวดสินค้า
ปลากระป๋องดิ’กุสโต้เป็นปลาซาบะกระป๋องในน้ำมะเขือเทศราคา 20 บาท ซึ่งอาเจมองว่าจะสร้างความแตกต่างจากปลาซาร์ดีนกับปลาแมคเคอเรลกระป๋องในน้ำมะเขือเทศที่มีในท้องตลาดได้ เพราะราคาเท่ากันแต่ปลาซาบะเป็นปลาที่พรีเมียมมากกว่า จะวางจำหน่ายทั้งในไทยและส่งออกไปในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และติมอร์เลสเต
ส่วนน้ำช่อดอกมะพร้าวธรรมชาติแท้ 100% แบรนด์อมายู เป็นการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นไทย อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นซูเปอร์ฟรุต ไม่ใส่น้ำตาล ดีต่อสุขภาพ จำหน่ายในราคา 50 บาทต่อขวด จะจำหน่ายทั้งในไทยและเป็นฐานส่งออกไปยังอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา
ฟาเบียนกล่าวว่า การแตกไลน์ไปยังธุรกิจอื่นนอกจากเครื่องดื่มนั้นไม่ใช่ครั้งแรกเมื่อมองภาพใหญ่ของอาเจระดับโลก เพราะอาเจ กรุ๊ปซึ่งมีจุดกำเนิดจากเปรูนั้น มีฐานใหญ่อยู่ในละตินอเมริกามาก่อน และในทวีปดังกล่าวมีการขยายธุรกิจไปยังหมวดอาหาร เช่น ทูน่ากระป๋อง, บะหมี่สำเร็จรูป, ช็อกโกแลต และหมวดผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน (Home Care) อยู่แล้วรวม 15 หมวดสินค้า
อย่างไรก็ตาม การเลือกเข้าตลาดอาหารไทยด้วย “ปลากระป๋อง” ก็ถือว่าเป็นที่น่าแปลกใจพอสมควร เนื่องจากเป็นตลาดที่แข่งขันสูง Positioning รวบรวมข้อมูลพบว่า ในตลาดมีแบรนด์วางจำหน่ายอยู่แล้วราว 20 แบรนด์ ท่ามกลางมูลค่าตลาดเพียง 8-9 พันล้านบาท และตลาดค่อนข้างทรงตัวมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ฟาเบียนเชื่อว่าอาเจสามารถชิงตลาดได้ เพราะใช้โปรดักส์ที่แตกต่างคือปลาซาบะ และใช้ความแข็งแกร่งด้านการกระจายสินค้าซึ่งอาเจมีเครือข่ายร้านค้าที่วางจำหน่ายกลุ่มเครื่องดื่มอยู่ 2 แสนร้านทั่วประเทศ
- “นอติลุส Xten” แตกไลน์ “โอ๊ตมีล” แซลมอน รุกตลาด “อาหารสุขภาพ” จับเทรนด์คนรุ่นใหม่
- ผู้บริโภค “รักษ์โลก” จะเพิ่มเป็น 40% ใน 5 ปี กลุ่ม “น้ำอัดลม” เสี่ยงเสียยอดขายสูงสุด
ในแง่ของการลงทุน ฟาเบียนกล่าวว่าระยะแรกบริษัทยังใช้วิธีจ้างโรงงาน OEM ไทยในการผลิตปลากระป๋อง ส่วนการลงทุนเองในอนาคตจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
การเริ่มต้นบุกตลาดอาหารและกลุ่มสุขภาพจะมีการออกสินค้าอื่นๆ ในหมวดเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมาย ‘Vision 2030’ ของอาเจ อาเซียนที่ต้องการเพิ่มรายได้เป็นเท่าตัวในอีก 8 ปีข้างหน้า เมื่อถึงจุดนั้น กลุ่มอาหารจะกลายเป็นสัดส่วน 35% ของพอร์ต ช่วยให้บริษัทกระจายรายได้มาจากหลายช่องทางมากขึ้น จากปัจจุบันพึ่งพิงเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม
ตลาดอาเซียนถือว่ามีความสำคัญกับอาเจ กรุ๊ป เพราะทำรายได้สัดส่วน 20% ของกลุ่ม โดยเฉพาะ “ไทย” ที่เป็น 1 ใน 6 ประเทศที่อาเจ กรุ๊ปมีการตั้งแหล่งผลิตอันได้แก่ เปรู เอกวาดอร์ กลุ่มประเทศอเมริกากลาง อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย