ผู้บริโภค “รักษ์โลก” จะเพิ่มเป็น 40% ใน 5 ปี กลุ่ม “น้ำอัดลม” เสี่ยงเสียยอดขายสูงสุด

Kantar จัดทำรายงานวิจัย “Who Cares, Who Does 2021” สำรวจผู้บริโภคเกือบ 90,000 คนใน 26 ประเทศ รวมประเทศไทย เพื่อเช็กมุมมองและพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้า FMCG ที่ยั่งยืน (sustainable) มีอะไรน่าสนใจบ้าง ติดตามได้ที่นี่

1) สัดส่วนกลุ่มผู้บริโภค Eco-active เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

งานวิจัยนี้แบ่งผู้บริโภคออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  • กลุ่ม Eco-active คือผู้บริโภคที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมากและกำลังดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ
  • กลุ่ม Eco-consider คือผู้บริโภคที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่ได้ดำเนินการหลายๆ อย่างเพื่อลดผลกระทบ
  • กลุ่ม Eco-dismisser คือผู้บริโภคที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสนใจเพียงเล็กน้อย และยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

ปี 2021 นี้งานวิจัยพบว่า กลุ่ม Eco-active เพิ่มขึ้นเป็น 22% ของผู้บริโภคทั้งหมด จากปี 2020 มีคนกลุ่มนี้อยู่ 21% ส่วนกลุ่ม Eco-consider ยังมีสัดส่วนที่ 40% เท่าเดิม และกลุ่ม Eco-dismisser ลดลงเล็กน้อยเหลือ 38%

2) Eco-active จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ภายใน 5 ปี

งานวิจัยยังคาดการณ์ด้วยว่า กลุ่ม Eco-active จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ภายในปี 2026 และเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2029

3) ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมสอดคล้องกับ GDP ประเทศ

เมื่อเจาะลึกแต่ละกลุ่มประเทศ พบว่า กลุ่มประเทศที่มี GDP สูงจะมีสัดส่วนกลุ่ม Eco-active มากกว่า ดังนี้

  • กลุ่มประเทศ GDP สูง มีสัดส่วน 30.6%
  • กลุ่มประเทศ GDP ปานกลาง มีสัดส่วน 21.4%
  • กลุ่มประเทศ GDP ต่ำ มีสัดส่วน 16.1%

Top 3 ประเทศที่มีกลุ่ม Eco-active สูงสุดได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม และฮังการี โดยเยอรมนีมีสัดส่วนกลุ่มนี้ถึง 46% ส่วนประเทศที่มีน้อยที่สุดคือซาอุดิอาระเบีย มีเพียง 7%

ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจที่ประเทศ GDP สูงบางประเทศก็มีกลุ่ม Eco-active ไม่สูงมากได้เหมือนกัน เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา

4) “น้ำอัดลม” เสี่ยงสูงสุดจากเทรนด์นี้

เนื่องจากกลุ่ม Eco-active จะชื่นชอบอาหารและของใช้ที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ น้อยกว่า เป็นของจากธรรมชาติ ปฏิเสธอาหารกระป๋องหรือแช่แข็ง สิ่งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเสี่ยงมากที่จะเสียยอดขายสูงภายในปี 2031 หากไม่มีการปรับตัว

  • น้ำอัดลม เสี่ยงยอดขายลด 703 ล้านยูโร
  • อาหารแช่แข็ง เสี่ยงยอดขายลด 595 ล้านยูโร
  • เนื้อสัตว์ เสี่ยงยอดขายลด 571 ล้านยูโร
  • อาหารสำเร็จรูปแช่เย็น เสี่ยงยอดขายลด 307 ล้านยูโร
  • น้ำแร่ เสี่ยงยอดขายลด 199 ล้านยูโร

5) แบรนด์ยั่งยืนในใจผู้บริโภค

สำหรับ Top 10 แบรนด์ในใจผู้บริโภคทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีดังนี้ (ภาพด้านล่าง)

สัดส่วนของแบรนด์ยั่งยืนจะเห็นได้ว่า 1 ใน 3 ของแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้ซื้อเป็นแบรนด์ที่เปิดตัวมาวางตำแหน่งทางการตลาดด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ

6) แบรนด์ยั่งยืนเติบโตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยตลาด FMCG

ทำไมแบรนด์หรือบริษัทต้องใส่ใจกับความยั่งยืน? ดังที่เห็นว่ากลุ่ม Eco-active มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สินค้า FMCG ที่เป็นแบรนด์ยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตต่อปี 15.7% ซึ่งโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยรวมของ FMCG ทั้งตลาดถึง 5 เท่า

แม้แต่ในประเทศไทยก็เช่นกัน จากการประเมินการเติบโตของตลาด FMCG ช่วง Q2/2021 โตเฉลี่ยเพียง 4% แต่แบรนด์ยั่งยืนสามารถเติบโตได้ 13%

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม