เจาะเรตติ้งทีวีดิจิทัล ปี 2560 ท็อป 10 ช่องเรตติ้งสูงสุด แฟนจอต่างจังหวัดดันเรตติ้งช่อง 7 แชมป์ตลอดกาลช่อง 3 ยึดที่ 1 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้ง 10 ช่องหาจุดเด่น แบ่งเค้กผู้ชมชายหญิง จุดเสี่ยงทุกช่อง ได้เรตติ้งจากคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน น้อยกว่าคนอายุ 50 ปีขึ้นไป
ช่องทีวีดิจิทัลที่ได้เรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2560 อันดับ 1 เป็นของช่อง 7 ไล่เรียงต่อ ๆ กันมา คือช่อง 3 เอชดี เวิร์คพอยท์ โมโนช่อง 8 ช่องวัน อมรินทร์ ช่อง 3 เอสดี ไทยรัฐ และ อสมท นับเป็นช่องที่ได้ผู้ชมทีวีไปส่วนใหญ่จากทั้งหมด 25 ช่องที่เป็นฟรีทีวี เป็น 22 ช่องเพื่อธุรกิจหารายได้จากโฆษณา และอีก 3 ช่องเป็นช่องเพื่อสาธารณะคือไทยพีบีเอส ที่มีรายได้จากรัฐ และอีก 2 คือช่อง 5 และช่อง 11 ที่มีรายได้จากการหาโฆษณาด้วย
จากตัวเลขเรตติ้งของนีลเส็น ที่เจาะลึกกลุ่มผู้ชมแบ่งตามพื้นที่ เพศ และอายุ ในกลุ่มท็อป 10 นี้ พบว่าช่องที่มีเรตติ้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าในต่างจังหวัด มีถึง 8 ช่อง อันดับแรกคือช่อง 3 เอชดี ตามมาด้วยเวิร์คพอยท์ โมโน วัน อมรินทร์ ช่อง 3 เอสดี ไทยรัฐ และ อสมท
ส่วนช่องที่ได้ผู้ชมต่างจังหวัดสูงกว่ามีแค่ 2 ช่อง คือช่อง 7 ที่ได้เรตติ้งในต่างจังหวัดสูง ทิ้งห่างจากทุกช่อง และอีกช่องคือช่อง 8 ที่ได้เรตติ้งในต่างจังหวัดสูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ทั้งสองพื้นที่ตัวเลขไม่ห่างกันมากนัก
เจาะลึกลงไปอีกถ้าดูกลุ่มผู้ชม ตามเพศ ผู้หญิง และผู้ชายพบว่า กลุ่มผู้ชมชายมากกว่าหญิง คือ โมโน ช่อง 8 อมรินทร์ ไทยรัฐ อสมท อีก 5 ช่องหญิงมากกว่าชาย คือยักษ์ใหญ่ทั้งสองช่องคือช่อง 7 และ 3 HD เวิร์คพอยท์ ช่องวัน และช่อง 3 SD
นี่คือผลงานของแต่ละช่องในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ช่อง 7 ยังคงยึดฐานผู้ชมส่วนใหญ่ของประเทศคือต่างจังหวัด ทั้งจากละคร วาไรตี้ และข่าว ที่มีเนื้อหา และรูปแบบที่ต่อเนื่อง ย้ำจุดยืนเป็นช่องของกลุ่มแมส
ขณะที่ช่อง 3 แม้จะพยายามแข่งชิงพื้นที่ในต่างจังหวัดบ้าง แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะตัวเลขเรตติ้งในต่างจังหวัดยังห่างจากช่อง 7 แต่ผลงานที่ช่วยปลอบใจผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นช่อง 3 ได้บ้างคือในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ 2.162 เป็นที่ 1 ชนะช่อง 7 ที่ได้ 1.866 แต่จุดเสี่ยงคือทิ้งห่างช่อง 7 ไม่มาก และยังมีเบอร์ 3 อย่างเวิร์คพอยท์ และโมโน ที่ประกาศพร้อมชิงฐานผู้ชมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย
ขณะที่โมโนเน้นจุดยืนที่เป็นช่องหนัง และจัดหนังพรีเมียม บล็อกบัสเตอร์มาลงในช่วงไพรม์ไทม์หลังสองทุ่มอย่างต่อเนื่องจนเกือบเที่ยงคืนที่ตอบโจทย์คนเมืองที่นอนดึกมากกว่าคนในต่างจังหวัด และผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
สำหรับช่องที่เหลือที่ยังมีแนวโน้มพร้อมเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายได้อีก เพราะทั้งตัวเลขพื้นที่รับชม และชายหญิงพอ ๆ กัน คือช่องวัน อมรินทร์ ไทยรัฐ 3 SD และ อสมท
ความท้าทายที่ทุกช่องต้องเผชิญ คือฐานอายุผู้ชมทั้ง 9 ช่องได้เรตติ้งจากกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปสูงสุดของช่อง เช่น ช่อง 7 กลุ่มผู้ชมอายุ 50 ปีขึ้นไปมีเรตติ้ง 2.700 กลุ่มที่น้อยที่สุดคือ 15-19 ปีมีเรตติ้งประมาณ 1.400 ขณะที่โมโนได้กลุ่มอายุ 40-44 ปี ทำเรตติ้งสูงสุดของช่องได้ประมาณ 1.040 ขณะที่กลุ่มอายุอื่น ๆ ได้เรตติ้งไม่ถึง 1
ฐานผู้ชมที่แบ่งตามอายุของแต่ละช่องนั้น ตัวเลขเรตติ้งที่สูงของแต่ละช่องจะเริ่มเห็นเรตติ้งบ้างตั้งแต่กลุ่มอายุประมาณ 35 ปี โดยกลุ่มที่เป็นวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ต่ำกว่า 35 ปีนั้น แต่ละช่องมีเรตติ้งไม่สูงนัก
ยกตัวอย่างช่อง 3 มีเรตติ้งกลุ่มอายุวัยทำงานตั้งแต่ 20-35 ปีนั้น มีเรตติ้งประมาณ 0.660-1.000 ส่วนกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 1.200-2.000
ช่อง 7 กลุ่มอายุ 20-35 ปี มีเรตติ้ง 1.100-1.700 ส่วน 35 ปีขึ้นไปมีเรตติ้ง 1.900-2.700.